วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

เอส-อี-เอ็กส์ ขอพื้นที่คืนให้เพศวิถี หวังเติมเต็มช่องโหว่คนเข้าใจเรื่องเพศ

เอส-อี-เอ็กส์ ขอพื้นที่คืนให้เพศวิถี หวังเติมเต็มช่องโหว่คนเข้าใจเรื่องเพศ
---------------------------
โปรย : เซ็กส์ เป็นเรื่องที่ถูกสังคมแอบซุกซ่อนไว้หลังม่าน แต่ปัญหาที่ปรากฏกลับโผล่พ้นเพียงปลายเล็บที่เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำเห็นเพียงยอดแหลม
------------------------------
เรื่องเพศ ดูเหมือนเป็นเรื่องที่เราไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามให้มากความ เพราะคำตอบสำเร็จรูปถูกหยิบยื่นให้แก่เราทุกคนกันตั้งแต่เกิดเป็นพลเมืองของสังคมเรียบร้อยแล้ว แต่มันเป็นคำตอบที่แน่ชัดแล้วหรือสำหรับ “เราทุกคน” หรือเป็นเพียงการเล่นกลกับความคลุมเครือซับซ้อน ในเรื่องความเป็นหญิง - ชาย บทบาทและความคาดหวังในเพศสภาพ และเพศวิถีที่เราต่างแบกรับ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ที่เราต่างเผลอไผลคิดไปเองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) จึงได้เปิดตัวหนังสือ “เอส-อี-เอ็กซ์” อย่างเป็นทางการ ณ ร้านกาแฟวาวี ซ.อารีย์ ในงานนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังอย่างคับคั่งเพราะมีวงเสวนาอย่างถึงพริกถึงขิง มีเหล่าวิทยากรไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของหนังสือ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM ดำเนินรายการโดย ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. ต่างหยิบยกเอาความจริงเกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมไทยขึ้นมาพูดคุย ล้วงลึกถึงกึ๋นในแบบที่ไม่ต้องเกรงว่าจะถูกเซ็นเซอร์
ชลิดาภรณ์ บอกถึงสาเหตุที่ใช้ชื่อหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ ที่ไม่ใช่ S-E-X การที่ต้องเขียนเป็นภาษาไทย เพราะต้องการให้คนตระหนักว่าไม่ใช่คำที่ตัวเองเข้าใจก็ต้องหยุดคิดว่าคืออะไร เหมือนกับที่เซ็กส์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทางสังคมของเราที่คิดว่าชัดเจนและคุ้นเคยที่เราคิดว่าเรารู้อยู่แล้วแต่แท้จริงไม่รู้อะไรมากนัก เพราะเรื่องเพศอย่างที่เราเข้าใจเป็นของความเชื่อที่นำเข้า และเป็นเรื่องที่คนไม่กล้าพูด การเขียนภาษาไทยเพื่อต้องการเตือนให้คนไทยได้รู้ว่าเป็นสิ่งนำเข้าทำให้ต้องมีการเข้าใจว่าเป็นสิ่งต้องห้ามในการพูดในที่สาธารณะ โดยที่มาที่ไปเป็นหนังสือที่รวมบทความเส้นทางของการรวมเล่มผ่านอุปสรรคมากมายและเป็นเรื่องที่ผู้เขียนภูมิใจที่สุด ต้องการเขียนในประเด็นร้อน และอยากเชิญชวนให้สังคมเข้าใจเรื่องนี้ และกว่าจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้ได้ต้องผ่านอุปสรรคขวากหนามมากมาย เพราะด้วยความที่เป็นผู้หญิงและสวมตำแหน่งครูบาอาจารย์นั้น ทำให้เจอแรงเสียดทานจากสังคมด้วยการค่อนขอดและสั่งสอนตลอดเวลาว่า สิ่งที่เขียนไปรู้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะนักวิชาการรุ่นเก่าที่มักโดดออกมาโต้แย้งความคิดเรื่องเพศวิถีที่เรามองเห็นต่างเสมอ
“พอตัวเองทำดีก็เกิดการคาดหวังมาก ว่าจะได้รับคำชื่นชม แต่เมื่อมีผลกระทบหรือถูกด่ากลับมา จึงเกิดการสั่นคลอน ผิดหวัง เซ็ง มองเห็นแรงกระทบมาก ก็คิดใหม่มองใหม่ว่า ถ้าประเด็นความคิดเห็นของเราไม่กระทบความรู้สึกของสังคม คงไม่มีคนลุกขึ้นมาแย้ง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่ได้เปิดประเด็นให้สังคมเอง คำด่าทั้งหลายคือศัตรูทางความคิด วิธีแก้คือต้องคิดในทางกลับกันเป็นครูสอนเพราะจะทำให้เราเติบโตทางปัญญาได้มาก ทุกอย่างในชีวิตเราต้องแก้ด้วยปัญหาดังเช่นที่ว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ สิ่งที่ตัวเองเลือกมีปัญหาอยู่ตรงไหน” ชลิดาภรณ์ กล่าว
ส่วน กฤตยา บอกว่าในสังคมไทยเราได้ทราบกันดีแล้วว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม ถ้านำมาพูดเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ โดยทั่วไปคนที่จะพูดถึงเรื่องเพศนั้นต้องเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งมักหมายถึง “หมอ” หากชาวบ้านทั่วไปพูดเรื่องเพศ ก็จะสื่อออกมาในเชิงสองแง่สองง่ามมากกว่า เช่น เรื่องเล่าเดอร์ตี้โจ๊ก หรือเนื้อหาในบทเพลงพื้นเมืองอีแซว และลำตัด เป็นต้น ทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องเพศเป็นเรื่องของคนทุกคน โดยหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ นี้ถือได้ว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ในแง่ของหนังสือกึ่งวิชาการที่ถูกนำไปเผยแพร่ในคอลัมน์ตามสื่อสิ่งพิมพ์ และที่สำคัญผู้เขียนเป็นนักสังคมศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงและให้มุมมองเรื่องเพศจากสถานการณ์จริง อีกทั้งการจัดงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้จัดที่ร้านกาแฟซึ่งเป็นจุดหมายอันดีที่ว่า สามารถมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องเพศในที่สาธารณะได้อย่างจริงจัง ขยายวงคุยเพื่อเรียนรู้เรื่องเพศมากขึ้น
กฤตยา ยังชี้ว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปประกอบการเรียนการสอน เพราะจะช่วยปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรมเรื่องเพศให้กับเยาวชนก่อนที่เขาจะเติบใหญ่ ปัจจุบันที่เป็นปัญหากันมาก เนื่องจากความเป็นธรรมในเรื่องนี้ไม่มี ผู้ที่ถูกกระทำได้รับทุกข์อยู่ฝ่ายเดียว บางกรณีถึงกับฆ่าตัวตาย ขณะที่คนทำลอยชายมีอนาคตที่ดี ฉะนั้น เมื่อกฎบ้านเมืองทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องให้เด็กมีสำนึกด้วยตัวเอง "อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือความซับซ้อนเรื่องเพศในสังคม จุดนี้ถ้าเรามัวแต่ปิดไว้ ก็ไม่สามารถจะหาทางออกหรือหาจุดที่สมดุลในการแก้ไขได้เลย จึงต้องสอนเรื่องเพศตั้งแต่เริ่มเรียนรู้ เพราะความซับซ้อนมาจากตรงนี้ เพราะจะทำให้เราเข้าใจเลือกทางเดินของชีวิตได้ เพราะสังคมไทยมีเส้นกำหนดให้รับรู้เรื่องเพสด้านเดียว สื่อที่เป็นทางการบอกเราแค่ด้านเดียวไม่บอกทางเดินให้เราได้ หากเราท้องเราจะแก้ปัญหาและเดินทางอย่างไร ความซับซ้อนมีเท่าเดิมแต่มิติมีหลายด้าน
ขณะที่ โตมร เล่าถึงการมีส่วนร่วมในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่สังคมต้องเปิดใจยอมรับที่จะพูดในที่สาธารณะได้ ซึ่งโดยส่วนตัวอยากรู้เรื่องเพศอยู่แล้ว เริ่มแรกได้ศึกษาประเด็นผู้ชายขายตัว จึงทำให้เข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนการสร้างองค์ความรู้เรื่องเพศจะเน้นผู้หญิงเป็นศูนย์กลางว่าประเด็นไหนบ้างที่กระทบความรู้สึกของผู้หญิงจะไม่มีการพูดถึง ทำให้รู้สึกว่าเรื่องเพศในสังคมไทยเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่มียอดโผล่ขึ้นมานิดหน่อย แต่มีฐานวงใหญ่ คนที่มองเห็นต้องค้นคว้าและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง และต้องจับสัญญาณให้ได้ว่าความสลับซับซ้อนมีอยู่ตรงไหนบ้าง โดยต้องเขียนคำอธิบายออกมาให้ได้และให้คนเข้าใจง่ายที่สุด เรื่องเพศเป็นเรื่องที่สังคมชอบเอาไปแอบไว้ข้างหลัง นอกนั้นถูกหมักหมมเป็นก้อนใหญ่มหึมาอยู่ใต้ล่าง ยากแก่การแก้ไขให้ถึงต้นตอ ส่วนหนึ่งเพราะถูกขีดเส้นไว้อย่างชัดเจนว่าเซ็กส์เป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรนำมาพูดหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะ อีกส่วนถูกครอบด้วยวัฒนธรรมไทยที่บังคับให้เชื่อตามที่คนรุ่นเก่าบอกเล่า ไม่สามารถโต้แย้งให้แตกต่างได้ และหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อธิบายปรากฏการณ์ทางเพศได้อย่างกว้างและลึก
ด้าน ณัฐยา บอกว่า หนังสือเอส-อี-เอ็กซ์ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้แก่สังคมว่าการพูดถึงเรื่องเพศไม่ใช่เป็นเรื่องลามก ไม่ใช่เรื่องตลก หรือเรื่องอนาจาร แต่เป็นการพูดถึงในแง่ของกึ่งวิชาการ ซึ่งการใช้แนวคิดและทฤษฎีที่เหมาะสมมามองเรื่องเพศเพื่อให้สังคมเข้าใจในมุมกว้างและลึกมากขึ้น โดยยังไม่มีงานวิชาการใดทำในลักษณะนี้มาก่อน ทำให้ สสส.คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยเติมเต็มช่องโหว่ในเรื่องเพศให้แก่สังคมไทย
แล้วคุณล่ะเข้าใจเรื่องเพศมากแค่ไหน ?????
//////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น