วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

สสส.-สคส.เปิดตัวหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ (S-E-X)ขอพื้นที่คืนให้เพศวิถี

สสส.-สคส.เปิดตัวหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ (S-E-X)
กะเทาะมิติถาม-ตอบ “เพศสภาพ-เพศวิถี”ในบริบทสังคม การเมือง และวัฒนธรรมไทย
ยกกรณีศึกษา “เพศสภาพใน “AF- นัยยะของถุงยาง-วัฒนธรรมเกลียดตุ๊ด”
-------------
เมื่อเวลา 14.00 ณ ร้านกาแฟวาวี ชั้น 2 ซ.อารีย์ 1 แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ “เอส-อี-เอ็กซ์” ซึ่งว่าด้วยเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี ในบริบทสังคมการเมืองและวัฒนธรรมไทย พร้อมเปิดมิติใหม่ให้สังคมเข้าใจเรื่องเพศสภาพ เพศวิถีมากขึ้น ด้านนักวิชาการระบุการพูดเรื่องเพศในที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องหน้าอายอีกต่อไป เชื่อการจัดงานในที่สาธารณะถือเป็นจุดหมายอันดีสามารถมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องเพศได้อย่างจริงจัง ในการขยายวงคุยเพื่อเรียนรู้เรื่องเพศมากขึ้น
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ กล่าวว่า การเขียนหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ นี้เป็นการเตือนให้สังคมเห็นความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องเพศที่สังคมเคยเข้าใจว่าเรื่องเพศไม่สามารถนำมาพูดในที่สาธารณะได้ ซึ่งบทความต่างๆในหนังสือนี้จะนำเสนอให้คนเข้าใจเรื่องเพศวิถีที่มีอยู่หลายรูปแบบในภาษาที่เข้าใจง่าย หลากหลายมิติ ผ่านการนำเสนอทางหน้าหนังสือพิพม์ เพื่อให้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญเวลาอ่านต้องคิดในหลายบริบทและมุมมองที่แตกต่างอย่างถี่ถ้วน อยากให้สังคมได้มีที่คิดใคร่ครวญในเรื่องเพศวิถีมากขึ้นว่า เป็นเรื่องสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องที่ควรเก็บซ่อนอีกต่อไป ซึ่งความจริงแล้วการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยเรื่องเพศเป็นวิถีหนึ่งที่ไม่ยากเกินไปที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
“ประเด็นในหนังสือที่เขียนมาเป็นการกะเทาะให้คนเห็นว่าสิ่งที่เคยเข้าใจมาตลอดเป็นเรื่องที่ผิด ทั้งประเด็นการเซ็กส์ในกรอบ-นอกกรอบ ซึ่งเป็นการนิยามความเหมาะควรถูกผิดในเรื่องเพศ เช่นเรื่องคาวมตายของหญิงอ้วน ซึ่งเป็นความพยายามลดความอ้วน โดยการสละชีวิตเพื่อให้สวย เรื่องเพศสภาพใน AF หรือเรื่องนัยยะของถุงยาง ประเด็นเรื่องเพศวิธีกับความรุนแรง ซึ่งเป็นการกระทำความรุนแรงหลายประการ มองเห็นและเข้าใจได้ยาก ถูกบังตาโดยกรอบการแบ่งประเภทคน แต่แท้ที่จริงคนทุกประเภทมีความสามารถกระทำความรุนแรงเพื่อสื่อความรู้สึกบางอย่างของตัวเองได้ทั้งนั้น เช่นเรื่องทอมโหดหญิงบ้า และเรื่องข่มขืนผู้ชาย รวมทั้งประเด็นเพศสภาพ/เพศวิถีในการเมืองภาครัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกผลักเข้าสู่กระบวนนโยบายสาธารณะและการโต้เถียงต่อสู้ทางการเมือง เช่นเรื่องวัฒนธรรมเกลียดตุ๊ด เกย์ ทอม ดี้” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวว่า หนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ เป็นหนังสือที่รวมบทความว่าด้วยเรื่องเพศวิถีที่เขียนและใช้คำที่ง่ายขึ้นเพื่อสื่อให้คนอ่านเข้าใจเรื่องเพศได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการให้ความรู้ต่อสังคมว่าการพูดถึงเรื่องเพศไม่ใช่เป็นเรื่องลามก ไม่ใช่เรื่องตลก หรือเรื่องอนาจาร แต่เป็นการพูดถึงในแง่ของกึ่งวิชาการ ซึ่งการใช้แนวคิดและทฤษฎีที่เหมาะสมมามองเรื่องเพศเพื่อให้สังคมเข้าใจในมุมกว้างและลึกมากขึ้น ซึ่งงานวิชาการทั่วไปยังไม่มีการทำในลักษณะนี้ อีกทั้ง สสส.มองว่าปัจจุบันเรื่องเพศยังมีช่องโหว่ที่คนไม่สามารถเข้าใจได้ลึก จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดพิมพ์หนังสือ เอส อี เอ็กซ์ เพื่อให้สังคมเกิดการเรียนรู้และเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในสังคมไทยเราได้ทราบกันดีแล้วว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม ถ้านำมาพูดเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ โดยทั่วไปคนที่จะพูดถึงเรื่องเพศนั้นต้องเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งมักหมายถึง “หมอ” หากชาวบ้านทั่วไปพูดเรื่องเพศ ก็จะสื่อออกมาในเชิงสองแง่สองง่ามมากกว่า เช่น เรื่องเล่าเดอร์ตี้โจ๊ก หรือเนื้อหาในบทเพลงพื้นเมืองอีแซว และลำตัด เป็นต้น ทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องเพศเป็นเรื่องของคนทุกคน โดยหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ นี้ถือได้ว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ในแง่ของหนังสือกึ่งวิชาการที่ถูกนำไปเผยแพร่ในคอลัมน์ตามสื่อสิ่งพิมพ์ และที่สำคัญผู้เขียนเป็นนักสังคมศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงและให้มุมมองเรื่องเพศจากสถานการณ์จริง อีกทั้งการจัดงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้จัดที่ร้านกาแฟซึ่งเป็นจุดหมายอันดีที่ว่า สามารถมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องเพศในที่สาธารณะได้อย่างจริงจัง ขยายวงคุยเพื่อเรียนรู้เรื่องเพศมากขึ้น
นายโตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM กล่าวว่า การที่มีส่วนร่วมในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่สังคมต้องเปิดใจยอมรับที่จะพูดในที่สาธารณะได้ ซึ่งโดยส่วนตัวอยากรู้เรื่องเพศอยู่แล้ว ความสนใจจึงได้เข้าค้นหาความเป็นตัวตน จึงมาหยุดที่เรื่องเพศ เริ่มแรกได้ศึกษาประเด็นผู้ชายขายตัว จึงทำให้เข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนการสร้างองค์ความรู้เรื่องเพศจะเน้นผู้หญิงเป็นศูนย์กลางว่าประเด็นไหนบ้างที่กระทบความรู้สึกของผู้หญิงจะไม่มีการพูดถึงทำให้รู้สึกว่าเรื่องเพศในสังคมไทยเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่มียอดโผล่ขึ้นมานิดหน่อย แต่มีฐานที่ใหญ่ คนที่จะมองเห็นต้องค้นคว้าและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง และต้องจับสัญญาณให้ได้ว่าความสลับซับซ้อนมีอยู่ตรงไหนบ้าง และต้องเขียนคำอธิบายออกมาให้ได้และให้คนเข้าใจง่ายที่สุด ดังเช่นเรื่องเพศในสังคมไทยยังเป็นเรื่องที่สังคมชอบเอาไปแอบไว้ข้างหลัง และหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อธิบายปรากฏการณ์ทางเพศได้กว้าง อีกทั้งสมัยก่อนเมื่อมีการพูดถึงเรื่องเพศเป็นเรื่องที่สนุก และคนที่เป็นเกย์ ตุ๊ด ต้องถูกกระทำโดยผู้ชายทำให้ไม่มีเพื่อนคนที่จะเป็นเพื่อนคนประเภทนี้ได้ต้องมีลักษณะเดียวกัน แต่ปัจจุบันเริ่มมีความหลากหลายทางความคิด คนไม่แบ่งแยกว่าจะคบกันได้ต้องเป็นเพศเดียวกันและต้องมีความสัมพันธ์กัน คนสามรถคุยเรื่องราวต่างๆได้ รู้สึกว่าการกระทำเหล่านี้เห็นได้มากในสังคมไทย ทำให้เปลี่ยนบรรยากาศในสังคมไทยได้
////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น