วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างชีวิตที่ยั่งยืน

สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างชีวิตที่ยั่งยืน
-----------------------
โปรย : ความมั่นคงทางอาหารจะเกิดขึ้นได้ เมื่อประชากรทุกคน สามารถเข้าถึงและซื้อหาอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ ในปริมาณที่เพียงพอ ในการตอบสนองความต้องการของร่างกายและรสนิยมความชอบ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี
----------------------
ตามที่ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศส่งออกอาหารอันดับต้นๆของโลก แต่ภาพลักษณ์ดังกล่าวหลายคนเชื่อว่าเป็นเพียงภาพมายา เนื่องจากปรากฏว่ามีประชาชนอีกจำนวนมากยังขาดความมั่นคงทางอาหาร ดังตัวเลของค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติที่รายงานว่าร้อยละ 17 ของคนไทยยังไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอ เช่นเดียวกับข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการที่ระบุว่ายังมีเด็กนักเรียนอีกราวร้อยละ 7 ที่ไม่ได้รับอาหารเพียงพอต่อความต้องการสำหรับการเจริญเติบโต นอกจากความไม่เป็นธรรมแล้ว ความมั่นคงทางอาหารของประเทศยังถูกกัดกร่อนจากวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารผ่านการพัฒนาต้นแบบระดับชุมชนและการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ มูลนิธิชีววิถี ฯ จัดประชุมสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหารบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพขึ้น หลังเกิดผลกระทบการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศและแรงผลักดันจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ผลิตอาหารเป็นพื้นที่สำหรับผลิตพืชพลังงาน
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร สสส.กล่าวว่า ทางแผนงานตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อด้านความมั่นคงทางอาหาร จึงดำเนินการจัดสมัชชาความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2553ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาศักยภาพการพึ่งพิงตนเองด้านอาหารของชุมชน การรณรงค์สาธารณะเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งการขับเคลื่อนทางนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและอธิปไตยทางอาหาร ทั้งนี้ด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของสังคมไทย และการขจัดความไม่เป็นธรรมในระบบการเกษตรและอาหารมีพื้นฐานอยู่ที่การฟื้นฟูศักยภาพและการเรียกร้องสิทธิของเกษตรกรและชุมชนในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ การเข้าถึงทรัพยากรขั้นพื้นฐานและการพึ่งพาตนเองในปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมถึงการตระหนักรู้เท่าทัน เพื่อป้องกันและขจัดการผูกขาดของบรรษัทขนาดใหญ่ที่พยายามครอบครองฐานทรัพยากรอาหาร ระบบการกระจายอาหาร และวัฒนธรรมอาหารไปพร้อมๆกัน
ด้าน ลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น วิกฤติโลกร้อน มากขึ้น และสร้างความสมดุลอาหารและพลังงาน แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เยาวชนไทยไม่สนใจประกอบอาชีพเกษตรกร ทำให้ความสำคัญด้านอาหารเริ่มเสื่อมถอย อีกทั้งค่าเฉลี่ยของประชากรช่วงอายุ 60 ปีเป็นช่วงอายุของคนที่ทำการเกษตร หากไม่สนับสนุนก็จะไม่มีใครมาทำการเกษตรให้บริโภค โดยทิศทางแผน 11 มี 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคม 2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน 3.ยุทธศาสตร์การสร้างความสมดุลและมั่นคงของอาหารและพลังงาน 4.ยุทธศาสตร์การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้และการสร้างปัจจัยแวดล้อม 5.ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค 6. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งไม่เน้นด้านการแข่งขัน แต่เน้นการสนับสนุนพืชการเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงในอาชีพ สร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ต้องปรับระบบบริหารการจัดการภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความสมดุลด้านอาหาร ซึ่งการจัดวางความสมดุลมี 2ส่วน ที่ประกอบกัน คือ 1.คงความประสิทธิภาพการส่งออก 2.ให้เกษตรกรรายย่อยพึ่งพาตนเอง และสร้างภูมิคุ้นกัน
ขณะที่ รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านความมั่นคงทางอาหารควรมีองค์ประกอบ 4 ข้อ ดังนี้ 1.ความมั่นคงอาหาร ต้องมีการวางแผนการผลิตให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค 2.คุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนในการเพาะปลูก หากสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ก็อาจส่งผลให้มีผลผลิตมีราคาสูง ต้องให้ได้รับโภชนาการอย่างพอเพียง ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ทั้งโปรตีน ไขมัน ก็จะเกิดความมั่นคงทางอาหาร 3.อาหารศึกษา ต้องมีการจัดการระบบที่ดี ทั้งพื้นที่เพาะปลูก ราคาผลิตผล ที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยให้เกิดความมั่นคงได้ 4.การบริหารการจัดการ ซึ่งสถานการณ์ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหารต่อ การค้าระหว่างประเทศ ในปี 2552 ไทยส่งออกอาหารทั่วโลก เป็นมูลค่าสูงถึง 754,212 ล้านบาท มีการนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้น การส่งออกมีข้อกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี มีการเปิดการค้าเสรี ซึ่งสินค้านำเข้า มีปริมาณมากขึ้น โดยในปี 2551 นำเข้าอาหาร มูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท และนำเข้าผัก ผลไม้ 2 หมื่นล้านบาท
การเข้าถึงอาหารประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาทุพโภชนาการสองด้าน คือด้านสุขภาพและการเฝ้าระวัง เพราะความยากจนพุ่งสูงขึ้น ราคาอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้การเข้าถึงอาหารยากขึ้น ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อสร้างชีวิตที่ยั่งยืนของคนไทย
///////////////////////////

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ออก “เจ” อย่างไร “ไม่อ้วนฉุ-ไร้พุง”

ออก “เจ” อย่างไร “ไม่อ้วนฉุ-ไร้พุง”
----------------------
โปรย : ใช้เมนูต้ม ยำ ย่าง อบ แทนการกินเมนูอาหารประเภทที่ใช้น้ำมัน ลดอาหารหวาน กินให้หลากหลาย ออกกำลังกายควบคู่กันไปอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ก็จะทำให้สุขภาพแข็งแรง หุ่นดี ไม่มีโรคภัยแอบแฝง
-----------------------
หนึ่งในความน่าเป็นห่วง หลัง “อิ่มบุญ” จากเทศกาลกินเจที่ได้ “ละ เลิก เสียสละ” แล้วก็คือ การบริโภคอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเกินขนาด
คำถามที่ตามมาจึงอยู่ที่ว่า “ระหว่างที่เราลด เลิก เสียสละ” เพื่อคนอื่นๆแล้ว เราจะดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เบียดเบียนตัวเองด้วย โดยเฉพาะหนุ่มสาวยุคใหม่ที่หันมานิยม “กินเจ” กันเป็นอีกหนึ่งเทรนทำบุญ
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดให้ความรู้กับการกินเจ อย่างถูกวิธี โดยความหมายของการกินเจ หมายถึงการรักษาศีล ปฏิบัติธรรมทั้งกาย วาจา และใจ ไม่ใช่หมายความเพียงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น การปฏิบัติธรรมร่วมไปด้วยจึงจะครบเป็น “การถือศีล-กินเจ” อย่างแท้จริง
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไก เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.บอกว่า แก่นแท้ของการกินเจ คือ ถือศีล ซึ่งเทศกาลกินเจเป็นเทศกาลแห่งการสร้างบุญสร้างกุศลให้กับตนเองและผู้อื่น โดยการทำบุญ ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ คือการไม่กินเนื้อสัตว์ ที่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆอย่างในการถือศีล การมีจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ และคำว่า “เจ” มาจากคำว่า “ไจ” ของชาวจีน แปลว่าไม่มีเนื้อสัตว์ การกินเจสามารถกินผักและผลไม้ได้ทุกชนิด ยกเว้น หอม กระเทียม หลักเกียว กุยช่าย และใบยาสูบ กินเจสร้างสุขต้องคำนึง 5 ประการ 1.กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ 2.กินให้หลากหลายและพอเหมาะ 3.กินอาหารเจรสไม่จัด 4.กินอาหารเจที่สะอาด 5. กินข้าวกล้อง ดื่มน้ำเปล่าบริสุทธิ์ และการกินเจยังได้ประโยชน์อีก 4 สร้าง นั่นคือ 1.สร้างบุญ สร้างกุศล 2.สร้างสุขภาวะ 3.สร้างหุ่นดี ไม่มีพุง และ 4.สร้างการกินผักและผลไม้เป็นประจำ
“แต่ยังไงการกินเจก็ต้องระวังอาหารเจไขมันสูง เช่น หลีกเลี่ยงกินอาหารเจแบบผักน้ำมันเยิ้มๆ ไม่ควรกินอาหารเจประเภททอดน้ำมันลอยบ่อยจนเกินไป กินอาหารเจ ประเภทเมนูต้ม ยำ ย่าง อบ ประจำ ไม่ควรกินถั่วลิสง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์บ่อย แต่ก็ควรระวังเนื้อสัตว์เทียมที่ทำมาจากแป้ง เพราะจะทำให้กินแป้งเกินในที่สุดก็เกิดความอ้วน ต้องกินให้หลากหลายและพอเหมาะ กินผักผลไม้หลากหลายชนิด ล้างให้สะอาดก่อนกินทุกครั้ง กินหลายหลายเมนู/ไม่จำเจ กินอาหารสดธรรมชาติ หลีกเลี่ยง Process Food/ของดอง” อาจารย์สง่า กล่าว
นอกจากนี้อาจารย์สง่า ยังได้แนะนำวิธีการออกเจให้มีสุขภาพดี ว่า การกินผักติดต่อกันมานานถึง 9 วัน ได้ส่งผลให้ร่างกายปรับระบบการย่อยอาหารจากย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักแทน แต่เมื่อหันกลับมากินเนื้อสัตว์แบบเดิม จะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันได้ ดังนั้น อาหารหลังออกเจในระยะเริ่มแรกควรเริ่มด้วยอาหารที่ย่อยง่าย โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ควรเน้นการกินปลา ไข่ และนม แทนก่อนแล้วจึงค่อยๆ เริ่มกินเนื้อไก่ หมู และวัว ตามลำดับ เพราะปลาเป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นผลดีต่อสุขภาพ ป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือดได้ เมนูปลาที่รับประทานควรเป็นประเภทต้ม นึ่ง ย่าง แทนการทอด แต่ถ้าต้องการกินผลิตภัณฑ์ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น เต้าหู้และโปรตีนเกษตรแทนเนื้อสัตว์ต่อไป ก็ไม่เสียหาย แต่แนะให้ดื่มนมและกินไข่ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ได้โปรตีนที่มีคุณภาพพอเพียงต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตามในวันออกเจถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับพฤติกรรมการการกินอาหารของประชาชนที่กินเจทั้งกินเพื่อถือศีล ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และเพื่อสุขภาพ ให้เริ่มต้นการประเมินภาวะโภชนาการของตนเองแบบง่ายๆ ด้วยการชั่งน้ำหนักตัว เพื่อดูว่าน้ำหนักขึ้นในช่วงกินเจหรือไม่ หากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 กิโลกรัม แสดงว่าอาจเกิดจากการกินอาหารประเภทแป้งและไขมันจากอาหารเจมากเกินไป จึงควรเอาบทเรียนดังกล่าวมาปรับการกินอาหารหลังออกเจ และออกกำลังกายควบคู่กันไปอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ก็จะทำให้สุขภาพแข็งแรง หุ่นดี ไม่มีโรคภัยแอบแฝง
นพ. ฆนัท ครุฑกูล กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. กล่าวถึงเคล็ดลับ “กินเจอย่างไร....ให้ไร้พุง” ว่า ช่วงเทศกาลกินเจ อาจจะมีประชาชนบริโภคอาหารที่มีแป้งน้ำตาลมากขึ้น อันจะนำไปสู่ภาวะการเกิดโรคอ้วนและมีปัญหาด้านสุขภาพตามมา อาทิ โรคอ้วนโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และยังบอกเคล็ดลับในการกินเจเพื่อสุขภาพว่าต้องบริโภคอาหารให้ครบถ้วนได้แก่ 1.โปรตีนได้จากถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเมล็ดแห้ง อาหารประเภทนี้จะ มีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่าเนื้อสัตว์ 2.ไขมัน ที่นำมาปรุงเป็นอาหารเจ ควรเป็นไขมันที่มาจากพืชต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ปาล์ม งา และควรรับประทานประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ เท่านั้น 3.ควรรับประทานผักผลไม้มากๆด้วย 4.ปรุงอาหารด้วยตนเอง พยายามลดแป้งให้เยอะที่สุด
คุณหมอ ฆนัท ย้ำหนักหนาว่า ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงอาหารเจที่มีปริมาณน้ำมันมากเกินไป เนื่องจากการทำอาหารประเภทเจส่วนใหญ่ มักจะเป็นอาหารประเภทผัดหรือทอด เราจึงต้องควบคุมการใช้น้ำมันกันด้วย นอกจากนี้คุณหมอยังแนะนำให้บริโภคโปรตีน 15% ไขมัน 30% และคาร์โบไฮเดรต 55% ของพลังงานที่ได้รับ และอยากเตือนประชาชนว่าอาหารเจไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพ
เอ้า!! ใครอยากออกเจมีสุขภาพดี ปฏิบัติตามนี้ดีแน่นอน...
/////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

‘ความเหลื่อมล้ำ’ ทำเหตุ “เด็ก” เสี่ยงตายยอดพุ่ง 4 จังหวัดทั่วประเทศในรอบ 10 ปี

‘ความเหลื่อมล้ำ’ ทำเหตุ “เด็ก” เสี่ยงตายยอดพุ่ง 4 จังหวัดทั่วประเทศในรอบ 10 ปี
-----------------------
โปรย : เปิดสถานการณ์ 4 จังหวัดอันตรายเด็กเสี่ยงตายมากที่สุด เหตุการขยายตัวของชุมชนแออัด เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วเกินไป มีผลต่อการตายของเด็ก โดยกาญจนบุรี มีรายได้ความมั่นคงสูงสุดจากการติดตามรายงานการตายจากใบมรณบัตรตั้งแต่ปี 2546-ปัจจุบัน
-----------------------
ช่องว่างระหว่างความร่ำรวยกับความยากจนกลายเป็นปัญหาที่ประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย หรือแม้แต่อินเดียและจีน เกิดวิกฤติทำให้แม่และเด็กถูกทิ้งอยู่เบื้องหลัง และทำให้วัยรุ่นต้องใช้ชีวิตอยู่ในความเสี่ยง การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจะต้องปรับปรุงการดูแลสุขภาพ ภาวะโภชนาการ การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ และการคุ้มครองสิทธิให้แก่เด็ก จากการที่เด็กๆกว่าครึ่งหนึ่งของทั่วโลกอาศัยอยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก การเพิ่มการบริการด้านสาธารณสุขไปยังกลุ่มคนยากจนจึงเป็นกุญแจสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย ต่อการลดจำนวนเด็กที่เสียชีวิตก่อนอายุครบ 5 ปี ลง 2 ใน 3 จากจำนวนเด็กที่เสียชีวิตเมื่อปี 1990
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานความปลอดภัยในเด็ก จัดเสวนา “ทศวรรษความปลอดภัยในเด็ก เพื่อบรรลุนโยบายโลกสร้างพื้นที่เหมาะสมแก่เด็กเยาวชน” พร้อมเปิดสถานการณ์ “4 จังหวัดอันตราย” เด็ก “เสี่ยงตาย” มากที่สุด ซึ่งสถานการณ์ 4 จังหวัดอันตรายคือ กาญจนบุรี สระบุรี ลพบุรี และระยอง เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนแออัด เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วเกินไป มีผลต่อการตายของเด็ก ในขณะที่ จ.กาญจนบุรี มีรายได้ความมั่นคงสูงสุด (จำนวน 995,733 บาท) คิดเป็น 3.2 เท่าของกทม. (311,225 บาท) ขณะที่สระบุรี ลพบุรี และระยอง ติดอันดับที่ 10, 23 และ 31 ตามลำดับจากการติดตามรายงานการตายจากใบมรณบัตรตั้งแต่ปี 2546-ปัจจุบัน
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานความปลอดภัยในเด็ก สสส. เล่าว่า จากการสำรวจอัตราการบาดเจ็บในเด็ก 3 กลุ่มอายุ ได้แก่ อายุ 1-4 ปี 5-9 ปี และ 10-14 ปีในรอบ 10 ปี พบว่า มี 25 จังหวัดที่มีอัตราการตายในเด็กสูงขึ้นต่อเนื่องโดยที่ 4 จังหวัด มีอัตราการตายของเด็กสูงสุด ลักษณะการเสียชีวิตจมน้ำตายมากที่สุด มีฐานะยากจน ผลวิเคราะห์ข้อมูลการตายของเด็กในพื้นที่กทม.123 รายพบว่า ในปี 2550-2551 คิดเป็นร้อยละ 62.29 และปี 2552-2553 คิดเป็นร้อยละ 75.80 ลักษณะบ้านพักอาศัยของเด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ ไม่มีบ้านพักอาศัยในที่ดินของตัวเอง อยู่ในเขตชุมชนแออัด สลัมในเมือง และปริมณฑล พบว่ากลุ่มที่อยู่ในเมืองจะแอบปลูกที่พักอาศัยริมคลองสาธารณะ ที่รถไฟ ทำให้กลุ่มเด็กเล็กจะเสียชีวิตจากการจมน้ำจากแหล่งน้ำรอบบ้านพักอาศัย ส่วนเด็กโตจะเสียชีวิตจากการชักชวนกันไปเล่นน้ำ และมักจะมาจากครอบครัวที่หย่าร้างร้อยละ 44 และยังพบว่า แม้จะมีการนำชุดความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในเด็กไปให้ ครอบครัวเหล่านี้ก็ไม่มีศักยภาพปฏิบัติตามได้
“การขยายตัวของชุมชนแออัดที่เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วจนเกินไป มีผลต่อการตายของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัดเสี่ยงตายสูงสุด หากไม่แก้ปัญหา ชุมชนจะเริ่มมีสภาพ “ความเป็นเมือง” ที่ไร้คุณภาพ ก่อให้เกิด “คนจนเมือง” เหมือนคนกรุงเทพฯสมัยก่อน ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการตายสูงสุด เช่น จมน้ำ ถูกรถชน และอุบัติเหตุอื่นๆ” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวและว่า สิทธิความปลอดภัยของเด็กถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ โดยสหประชาชาติ กำหนดให้เด็กเยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพภายในปี 2559 (A World Fit For Children) โดยมีเป้าหมายว่า ต้องลดอัตราการตายของเด็ก ซึ่งหากประมวลจากการตายของเด็ก 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่าการบรรลุข้อตกลงนี้คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีการออกมาตรการที่เหมาะสม เช่น มาตรการออกกฎหมายการสวมหมวกกันน็อกสำหรับเด็ก ที่ควรต้องปรับใช้ให้เหมาะสมกับอายุ เช่น เด็กโตต้องสวมหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานทุกครั้ง แต่ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบยังไม่มีหมวกกันน็อกที่ขนาดเหมาะสม ก็อาจนำไปสู่มาตรการห้ามนั่งจักรยานยนตร์
ด้าน สุกัญญา เวชศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า เกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำของเด็กนั้น จำเป็นต้องมีปัจจัย 3 ประการคือ 1.มาตรการเฝ้าระวังเตือนภัยในเด็กที่มีประสิทธิภาพ 2.พัฒนาและสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมการวิจัย และสถิติความเสี่ยงที่ชัดเจน และ 3.สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย จึงจะนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาโลกที่ดี และต้องสร้างความเข้าใจชุมชนเป็นอันดับแรก บางพื้นที่มีการใช้ “วัด” เปิดเป็นศูนย์เด็กเล็ก เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐพึงกำหนดและประกาศเกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นเกณฑ์ความปลอดภัยขั้นต่ำสุดที่รัฐและองค์กรกรท้องถิ่นต้องประกันการเข้าถึงเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเสมอภาคของเด็กทุกคน โดยไม่ยินยอมให้เด็กผู้ใดต้องตกอยู่ในสภาพที่มีความปลอดภัยต่ำกว่าเกณฑ์นี้ และต้องจัดให้มีการรายงานพื้นที่ (จังหวัดและตำบล) ที่มีการละเมิดเกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำสำหรับเด็กอันส่งผลให้เด็กเสียชีวิตจากการบาดเจ็บรุนแรง
ขณะที่ คมสัน จันทร์อ่อน ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่าการเกิดเป็นชุมชนแออัด จนกลายเป็นสลัมทำให้เกิดความเสี่ยงในการตายสูง การให้ความรู้ทั้งแก่ผู้ปกครอง และตัวเด็กในเรื่องมาตรการป้องกันความปลอดภัย และการเพิ่มปริมาณศูนย์เด็กเล็กเพื่อดูแลเด็กก่อนวัยเรียนจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน โดยปัจจุบันเครือข่ายสลัมได้ตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อแก้ปัญหาให้คนจนที่เข้ามาอาศัยในเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นวิธีตรวจสอบแหล่งที่อยู่ของผู้ปกครองและเด็กให้ชัดเจน ซึ่งจะสะดวกต่อการจัดสรรพื้นที่พักพิง และศูนย์เด็กเล็กในอนาคต เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุให้กับเด็กได้ หากไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งก็จะเกิดผลกระทบทำให้ไม่สามารถเข้าบริการของฝ่ายรัฐ ทางเครือข่ายสลัมได้เสนอให้รัฐจัดทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อจัดที่อยู่อาศัยเป็นชุมชน มีศูนย์ดูแลเด็กเพื่อไม่ต้องไปเล่นนอกชุมชน เด็กที่เกิดมาก็ไม่กลายเป็นเด็กเร่ร่อนที่กระจายไปตามอัตภาพทำให้เกิดสลัมขึ้นมาเรื่อย ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการ และหากรัฐดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้ก็จะมีความปลอดภัยในเด็กดีขึ้น ประเด็นสำคัญ คือ ชุมชนต่างๆ ต้องผนึกกำลังความร่วมมือในการแก้ปัญหาด้วยกันอย่างเป็นระบบ
เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเด็กเยาวชนอย่างแท้จริง!!
//////////////////////////////