วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างชีวิตที่ยั่งยืน

สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างชีวิตที่ยั่งยืน
-----------------------
โปรย : ความมั่นคงทางอาหารจะเกิดขึ้นได้ เมื่อประชากรทุกคน สามารถเข้าถึงและซื้อหาอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ ในปริมาณที่เพียงพอ ในการตอบสนองความต้องการของร่างกายและรสนิยมความชอบ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี
----------------------
ตามที่ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศส่งออกอาหารอันดับต้นๆของโลก แต่ภาพลักษณ์ดังกล่าวหลายคนเชื่อว่าเป็นเพียงภาพมายา เนื่องจากปรากฏว่ามีประชาชนอีกจำนวนมากยังขาดความมั่นคงทางอาหาร ดังตัวเลของค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติที่รายงานว่าร้อยละ 17 ของคนไทยยังไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอ เช่นเดียวกับข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการที่ระบุว่ายังมีเด็กนักเรียนอีกราวร้อยละ 7 ที่ไม่ได้รับอาหารเพียงพอต่อความต้องการสำหรับการเจริญเติบโต นอกจากความไม่เป็นธรรมแล้ว ความมั่นคงทางอาหารของประเทศยังถูกกัดกร่อนจากวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารผ่านการพัฒนาต้นแบบระดับชุมชนและการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ มูลนิธิชีววิถี ฯ จัดประชุมสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหารบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพขึ้น หลังเกิดผลกระทบการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศและแรงผลักดันจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ผลิตอาหารเป็นพื้นที่สำหรับผลิตพืชพลังงาน
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร สสส.กล่าวว่า ทางแผนงานตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อด้านความมั่นคงทางอาหาร จึงดำเนินการจัดสมัชชาความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2553ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาศักยภาพการพึ่งพิงตนเองด้านอาหารของชุมชน การรณรงค์สาธารณะเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งการขับเคลื่อนทางนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและอธิปไตยทางอาหาร ทั้งนี้ด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของสังคมไทย และการขจัดความไม่เป็นธรรมในระบบการเกษตรและอาหารมีพื้นฐานอยู่ที่การฟื้นฟูศักยภาพและการเรียกร้องสิทธิของเกษตรกรและชุมชนในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ การเข้าถึงทรัพยากรขั้นพื้นฐานและการพึ่งพาตนเองในปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมถึงการตระหนักรู้เท่าทัน เพื่อป้องกันและขจัดการผูกขาดของบรรษัทขนาดใหญ่ที่พยายามครอบครองฐานทรัพยากรอาหาร ระบบการกระจายอาหาร และวัฒนธรรมอาหารไปพร้อมๆกัน
ด้าน ลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น วิกฤติโลกร้อน มากขึ้น และสร้างความสมดุลอาหารและพลังงาน แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เยาวชนไทยไม่สนใจประกอบอาชีพเกษตรกร ทำให้ความสำคัญด้านอาหารเริ่มเสื่อมถอย อีกทั้งค่าเฉลี่ยของประชากรช่วงอายุ 60 ปีเป็นช่วงอายุของคนที่ทำการเกษตร หากไม่สนับสนุนก็จะไม่มีใครมาทำการเกษตรให้บริโภค โดยทิศทางแผน 11 มี 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคม 2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน 3.ยุทธศาสตร์การสร้างความสมดุลและมั่นคงของอาหารและพลังงาน 4.ยุทธศาสตร์การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้และการสร้างปัจจัยแวดล้อม 5.ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค 6. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งไม่เน้นด้านการแข่งขัน แต่เน้นการสนับสนุนพืชการเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงในอาชีพ สร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ต้องปรับระบบบริหารการจัดการภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความสมดุลด้านอาหาร ซึ่งการจัดวางความสมดุลมี 2ส่วน ที่ประกอบกัน คือ 1.คงความประสิทธิภาพการส่งออก 2.ให้เกษตรกรรายย่อยพึ่งพาตนเอง และสร้างภูมิคุ้นกัน
ขณะที่ รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านความมั่นคงทางอาหารควรมีองค์ประกอบ 4 ข้อ ดังนี้ 1.ความมั่นคงอาหาร ต้องมีการวางแผนการผลิตให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค 2.คุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนในการเพาะปลูก หากสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ก็อาจส่งผลให้มีผลผลิตมีราคาสูง ต้องให้ได้รับโภชนาการอย่างพอเพียง ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ทั้งโปรตีน ไขมัน ก็จะเกิดความมั่นคงทางอาหาร 3.อาหารศึกษา ต้องมีการจัดการระบบที่ดี ทั้งพื้นที่เพาะปลูก ราคาผลิตผล ที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยให้เกิดความมั่นคงได้ 4.การบริหารการจัดการ ซึ่งสถานการณ์ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหารต่อ การค้าระหว่างประเทศ ในปี 2552 ไทยส่งออกอาหารทั่วโลก เป็นมูลค่าสูงถึง 754,212 ล้านบาท มีการนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้น การส่งออกมีข้อกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี มีการเปิดการค้าเสรี ซึ่งสินค้านำเข้า มีปริมาณมากขึ้น โดยในปี 2551 นำเข้าอาหาร มูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท และนำเข้าผัก ผลไม้ 2 หมื่นล้านบาท
การเข้าถึงอาหารประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาทุพโภชนาการสองด้าน คือด้านสุขภาพและการเฝ้าระวัง เพราะความยากจนพุ่งสูงขึ้น ราคาอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้การเข้าถึงอาหารยากขึ้น ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อสร้างชีวิตที่ยั่งยืนของคนไทย
///////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น