วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

ฟื้นเด็กนอกระบบกลับสู่ระบบ ด้วย ร.ร.ปลายข้าว

ฟื้นเด็กนอกระบบกลับสู่ระบบ ด้วย ร.ร.ปลายข้าว
-------------------------------
โปรย : เด็กที่ถูกผลักออกสังคม อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โรงเรียนปลายข้าวต้องตามเก็บเพื่อนำเข้าสู่สังคมอีกครั้ง จนนำไปสู่การรับรางวัลที่ 1 การเล่านิทานธรรมะ พร้อมกลายเป็นกำลังหลักสร้างรายได้ของครอบครัว
----------------------------
ปัญหาการศึกษาของไทยที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยลมปาก หลังจากที่มีเด็กนอกระบบกว่า 1.7 ล้านคน จากเด็กในระบบการศึกษาทั้งหมดร่วม 14 ล้านคน อีกทั้งยังไม่มีเจ้าภาพอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบ สำนักส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กระทรวงศึกษาธิการ และเทศบาลเมือง จ.พัทลุง จึงได้ลงสำรวจต้นแบบโรงเรียนนอกระบบ ณ โรงเรียนปลายข้าว ที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสัจธรรมความจริงด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อต่อยอดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา เพราะหนทางออกคือต้องร่วมกันช่วยแก้ไขและทำอย่างต่อเนื่อง
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. บอกว่า สสค.กำลังพยายามทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาของเด็กนอกระบบที่เคยถูกมองข้าม โดยโจทย์แรกเห็นว่า เจ้าภาพน่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะมีหลักคิดอยู่แล้วว่าอปท.มีหน้าที่ต้องดูแลบริการพื้นฐานให้แก่ทุกคนในพื้นที่ของเขา ซึ่งรวมถึงเด็กที่อยู่นอกระบบด้วย แต่รูปแบบในการดูแลเด็กเหล่านั้นอาจไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว โดยน่าจะยืดหยุ่นได้ตามศักยภาพและความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น เช่น เทศบาลเมืองพัทลุงที่ตามเก็บเด็กที่อยู่นอกระบบรวมทั้งเด็กที่หลุดจากระบบโรงเรียนให้กลับมามีโอกาสได้เรียนอีกครั้งโดยใช้ห้องเรียนธรรมชาติ อาทิ ลานวัด และไม่มีรูปแบบที่เคร่งครัด ยืดหยุ่นตามความต้องการของเด็กทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน เรียกว่าโรงเรียนปลายข้าว และเด็กเหล่านั้นก็ถูกเรียกว่านักเรียนปลายข้าว ซึ่งผลการดำเนินงานหลายปีผ่านมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร สสค.อยากให้อปท.หันมาทำงานเพื่อเด็กนอกระบบมากขึ้น และพร้อมให้การสนับสนุนทุนดำเนินโครงการที่น่าจะมีความยั่งยืน โดยระยะแรกจะเริ่มที่เทศบาลก่อน หลังจากนั้นจะขยายไปยัง อปท.ประเภทอื่น ๆ ต่อไป
นายโกสินทร์ ไพศาลศิลป์ นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาของโรงเรียนปลายข้าว ได้ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบปฏิบัติจริง เน้นหลักคุณธรรมและความเมตตา เพราะเชื่อว่า การสร้างเด็กดี แม้อาจเรียนไม่เก่ง แต่พวกเขาจะไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน และมองว่า สสค.น่าจะเป็นโรงพยาบาลการศึกษา ที่มีหน่วยงานที่คอยวิจัยโรคการเรียนรู้ เพื่อจะได้ให้ยาแก้ที่ตรงจุด ซึ่งต้องอาศัยการสร้างและประสานให้สังคมเกิดตระหนักในเรื่องการศึกษา ขณะเดียวกันก็จุดประเด็นความต้องการทางการศึกษาที่ตกหล่น พร้อมๆกับการเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนที่ยังไม่พร้อม และย้ำว่า การพัฒนาระบบทั้งในส่วนท้องถิ่น และส่วนกลาง ต้องเคลื่อนไหวไปด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาทั่วประเทศ ด้านครูเข็ม หรือนางสุภาณี ยังสังข์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนเทศบาลวัดนางลาด (โรงเรียนปลายข้าว) ที่อุทิศตนเพื่อเด็กนอกระบบได้เล่าถึงต้นแบบครูเพื่อศิษย์ หรือครู 7 – Eleven : 24 ชั่วโมง ว่า เป็นการเริ่มจากการทำด้วยจิตใจ ใจรักถึงสามารถทำได้ เพราะไม่มีเงินพิเศษ ไม่มีการประเมินความดีความชอบ ซึ่งมีแต่ความรับผิดชอบล้วนๆ และมีเพิ่มขึ้นสำหรับครูอาสา ในโรงเรียนปลายข้าว เพื่อเปลี่ยนสภาพครูเชิงพาณิชย์ในสังคมไทยให้เป็นครูเพื่อศิษย์ ที่พร้อมจะเสียสละเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยตารางเรียนที่กำหนดขึ้นเอง ตามความสะดวกและความสนใจของเด็กแต่ละกลุ่มแต่ละคน ทำให้การมีอยู่ของโรงเรียนปลายข้าวแสดงถึงความเสียสละของโรงเรียนและครูอย่างแท้จริง ปัจจุบันเริ่มนำเด็กนอกระบบและในระบบมาเรียนร่วมกัน เพื่อสะท้อนให้เห็นสังคมที่แท้จริง ซึ่งตอนนี้สังคมก็ยอมรับ
น้องถัน หรือนายเอกพล เชียตุด นักเรียนชั้น ม.3 อายุ 16 ปี จากเด็กติดศูนย์ถึง 8 ตัว เที่ยวเก่ง กลายมาเป็นกำลังหลักหารายได้เข้าสู่ครอบครัว เล่าถึงความแตกต่างของการเรียนการสอนระหว่างโรงเรียนปลายข้าว และโรงเรียนทั่วไปว่าที่ปลายข้าวให้การเรียนรู้จากชีวิตจริงและประสบการณ์ตรง และสามารถกำหนดตารางเรียนและวิชาที่ตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ ทำให้มีโอกาสช่วยพ่อแม่หารายได้ แล้วยังมีโอกาสได้เรียนอีกด้วย ที่สำคัญการเรียนการสอนของโรงเรียนปลายข้าวไม่ได้เลือกสนใจแต่เด็กเก่ง สะท้อนให้เห็นว่า จะมีอีกกี่สังคมที่เปิดโอกาสให้เด็กนอกระบบได้เรียน และพร้อมที่จะเข้าใจภาระที่เราต้องช่วยพ่อแม่รับผิดชอบ ซึ่งตอนนี้สังคมจากที่เคยมองพวกเราเป็นเด็กเกเรไม่เรียนหนังสือ ตีความว่าเราเป็นเด็กไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อโรงเรียนปลายข้าวมอบโอกาสให้ได้เรียน สังคมก็ยอมรับเรามากขึ้น เดิมที่เคยเที่ยวเตร่ก็ช่วยพ่อแม่หารายได้ และไม่สร้างปัญหาเอารัดเอาเปรียบคนอื่นๆในสังคม
น้องปราบ หรือด.ช.เจษฎา บัวจันทร์ นักเรียนชั้น ม.3 อายุ 15 ปี เด็กที่เคยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สู่รางวัลที่ 1 ในการเล่านิทานธรรมะพระไตรปิฎก 3 ปีซ้อน เล่าว่าเมื่อก่อนครูเคยไล่ออกไปอยู่นอกห้อง ไม่ให้เรียนพร้อมเพื่อนเพราะเป็นคนที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนก็ไม่ได้ เลยออกมาวิ่งเล่นในลานวัด จนกระทั่งครูเข็มเห็นก็เรียกให้มาหาและถามว่าทำไมไม่เข้าเรียนพร้อมเพื่อน จนได้รู้ว่าในโรงเรียนไม่มีใครรับให้เป็นนักเรียนเพราะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ครูเข็มเลยต้องพานั่งรถไปตามถนนเพื่ออ่านหนังสือตามป้าย แล้วพามาอ่านพระไตรปิฎก แต่ก่อนที่จะเรียนอะไรครูเข็มจะถามก่อนว่าเราชอบหรือไม่ ตอนนี้ดีใจมาก เพราะกว่าจะได้เรียนมันยาก และก็หนักใจที่เวลาเห็นเพื่อนๆเขียนได้หลายอย่างและก็อ่านออกทุกคำ จนเวลาทำงานส่งครูต้องจ้างให้เพื่อนมาเขียนให้ แต่ปัจจุบันสามารถสอนป้าอายุ 40 ปีได้ และได้รับรางวัลที่ 1 ในการเล่านิทานธรรมะ ที่บ้านเองก็ดีใจ และอยากเรียนต่อที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ พัทลุง เพราะอยากเป็นช่างจัดดอกไม้ ซึ่งการจัดดอกไม้ทำให้มีสมาธิ จิตใจบริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ที่สำคัญทำให้มีรายได้ในการไปจัดดอกไม้ตามงานศพ งานแต่ง ทำให้ได้เงินครั้งละ 6,000 บาท
น้องเติ้ล หรือด.ช.คำสิงห์ เชียตุด นักเรียนชั้น ม.3 อายุ 15 ปี จากเด็กที่ก้าวร้าว เก็บตัว ทำร้ายผู้คนแถมยังติดเกม สู่การใช้ชีวิตในสังคมปกติ เล่าว่าช่วงที่ครูเข็มไปตามให้มาเรียนจะโวยวาย ด่าทุกคนที่ขวางการมาเล่นเกม ด่าแม้กระทั่งครูเข็มที่ไปยืนรอ เพราะไม่อยากไปเรียน กลัวการไปสอบเพราะอ่านไม่ออก กลัวสอบไม่ได้ จึงไปนั่งเล่มเกม แต่การที่กลับมาเรียนเพราะสงสารครูเข็มที่ไปยืนรอทุกวันเพื่อตามให้มาเรียน และที่สำคัญอยากอ่านออก เขียนได้เหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ เพราะอยากเป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ เมื่อก่อนตนกับปราบเคยไล่ตีถันด้วยจอบ เพราะเป็นเด็กที่ก้าวร้าว สังคมไม่ยอมรับ จึงทำให้ไม่อยากพบหน้าใคร จึงชอบเก็บตัวและไปนั่งเล่นเกมที่ที่ร้านเกมนานถึง 4 ชั่วโมง บางวันเล่นจนดึก แต่ปัจจุบันกล้าที่จะสู้หน้าคน และก็อ่านออก เขียนได้
///////////////////////////////////

เปิดใจ น.ร.ปลายข้าว บอกเล่าถึงชีวิตพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

เปิดใจ น.ร.ปลายข้าว บอกเล่าถึงชีวิตพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
------------------------------
โปรย : พลิกฟื้นชีวิตคนขาดโอกาสทางการศึกษา ถูกผลักออกจากสังคม ด้วยการศึกษานอกระบบ ตามแบบฉบับโรงเรียนปลายข้าวเมืองพัทลุง เน้นสอนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และพระไตรปิฎก
-------------------------
ตามที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปดูการเรียนการสอน “โรงเรียนปลายข้าว” ต้นแบบการเรียนรู้นอกตำรา ของเทศบาลเมือง จังหวัดพัทลุง แถมยังนำพระไตรปิฎกมาเป็นสื่อ และหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาสอนให้ได้รู้จักการเลี้ยงชีวิตด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งของในตลาด และยังสามารถนำไปขายเพื่อเลี้ยงชีพได้อีกด้วย
นายสุวัฒน์ บุญปสอง ผอ.โรงเรียนนิโครธาราม กล่าวว่าที่โรงเรียนวัดนิโครธารามมีนักเรียนปลายข้าวทั้งหมด 47 คน และได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน โดยนำพระไตรปิฎกมาเป็นสื่อ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ ความสามารถ และเน้นการเรียนรู้แบบหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการเลี้ยงสัตว์ ทั้งเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกพืชผักสวนครัว พืชสวน ทำนาข้าว และทำโรงเพาะเห็ด เพาะถั่วงอก เพื่อเปิดโอกาสให้ได้มีการศึกษานอกระบบสำหรับผู้ไม่สามารถมาเรียนได้ตามระบบการศึกษา ซึ่งเป็นต้นแบบของการสอนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียนปลายข้าวที่ไม่มีโอกาสศึกษาตามระบบ
มาฟังยายฉิ้ม จอมแพ่ง อายุ 83 ปี นักเรียนโรงเรียนปลายข้าวสังกัดโรงเรียนวัดนิโครธารามที่มีอายุมากที่สุด เล่าว่าชีวิตยายตั้งแต่เกิดมาไม่เคยรู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนก็ไม่ได้ ไปไหนก็อายคน จะทำอะไรแต่ละอย่างก็ต้องให้เด็กมาอ่านให้ฟัง เพราะที่บ้านแม่ของยายมีลูกหลายคนเลยไม่มีเงินพอที่จะส่งเสียให้เรียน แต่ตอนนี้ยายรู้สึกดีใจมากที่ได้มาเรียนที่โรงเรียนปลายข้าว ทำให้ยายสามารถอ่านออก เขียนได้เหมือนกับคนอื่น เสียอย่างเดียวตอนนี้ยายตาไม่ค่อยดี และเป็นเรื่องที่ดีอีกอย่างหนึ่งของโรงเรียนปลายข้าวคือจะเน้นการสอนแบบปฏิบัติ มีการสอนเลี้ยงปลา ปลูกผัก ที่เขาเรียกว่าสอนแบบเข้าถึงแก่นชีวิต ยายอยากบอกว่าขอขอบคุณนายกโกสินทร์ที่ทำให้ยายมีโอกาสได้เรียน ทำให้อ่านออก เขียนได้ เหมือนคนอื่น
ส่วนป้ายุภา จันทร์สุข วัย 50 ปี เล่าถึงชีวิตในการที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ทั้งน้ำตาไหลลงอาบแก้มทั้งสองข้างว่า ตอนเด็กทางบ้านลำบากมาก พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่ป้ายังเล็ก ทำให้ป้าไม่ได้เรียนหนังสือเพราะต้องช่วยแม่ทำงานหาเลี้ยงชีวิต และครอบครัว เมื่อก่อนจะเดินไปไหนก็มีคนดูถูกเหยียดหยามเพราะเขาเห็นว่าเราจนไม่รู้หนังสือ แต่ตอนนี้รู้สึกดีใจมากที่ทางเทศบาลมีการเปิดโรงเรียนปลายข้าว ทำให้ป้าสามารถอ่านออกเขียนได้ และยังมีการสอนแบบหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการเลี้ยงปลา ปลูกผัก และยังได้เข้ามาช่วยเหลือเวลามีงานโรงเรียนและงานในวัด ทำให้ได้เข้าสังคมเหมือนกับคนอื่นๆ เหมือนพลิกชีวิตป้าจากหน้ามือเป็นหลังมือ ก็ต้องขอบคุณทางท่านนายกฯโกสินทร์ ที่เปิดโรงเรียนปลายข้าวขึ้นมาให้ป้าได้เรียน ได้ทำกิจกรรมเหมือนกับคนอื่นๆ ที่ป้าใฝ่ฝันอยากจะทำมาตลอดคือได้มีโอกาสรู้จักการทำมาหากินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ด้าน ด.ช.ธนวัตร บุญมาตย์ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดนิโครธาราม ซึ่งเป็นเด็กที่เรียนในระบบได้เล่าถึงความรู้สึกที่ทางโรงเรียนมีการเปิดหลักสูตรการเรียนฉบับโรงเรียนปลายข้าว ว่ารู้สึกดีใจที่โรงเรียนวัดนิโครธาราม มีการเปิดการเรียนการสอนฉบับโรงเรียนปลายข้าวเพราะทำให้ตัวเองมีโอกาสได้เรียนรู้วิถีชีวิตผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเหมือนคนทั่วไป และตัวเองยังสามารถเข้าเรียนพร้อมกับนักเรียนโรงเรียนปลายข้าวด้วย ทำให้มีความรู้จักและคุ้นเคยมากกว่าที่ผ่านมา และยังได้รู้จักวิธีการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ มีเพื่อนเพิ่มขึ้น และยังได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่มีในห้องเรียน ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนมากเพราะที่บ้านเมื่อได้ยินว่าเพื่อนที่ไปเล่นด้วยเป็นนักเรียนปลายข้าวจะไม่ให้ไปเล่นกับคนเหล่านั้นเลย แต่ตอนนี้ความคิดเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปเพราะสิ่งที่เห็นไม่ได้เลวร้ายเหมือนที่คิด
ขณะที่นายโกสินทร์ ไพศาลศิลป์ นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง ผู้พลิกฟื้นชีวิตคนจากหน้ามือเป็นหลังมือ บอกว่าเข้าใจว่าสังคมมนุษย์ต้องช่วยกันเพื่อให้อยู่รอดในสังคม เพราะคนสูงอายุบางคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เนื่องจากแต่ก่อนคนที่จะรู้หนังสือต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นทำให้ผู้หญิงในวัยสูงอายุไม่รู้หนังสือ เพราะไม่มีโอกาสได้เรียน แต่ปัจจุบันใช้การเรียนแบบไม่มีระบบ แต่เอาผลสัมฤทธิ์มาสอนเพื่อไม่ให้เกิดความกดดันของผู้เรียนและผู้สอน เพราะการสอนที่โรงเรียนปลายข้าวเน้นการสอนแบบปฏิบัติ จัดตารางเรียนตามใจผู้เรียน โดยไม่มีการเช็คชั่วโมงเรียนเหมือนการเรียนในระบบ ซึ่งการเปิดโรงเรียนปลายข้าวขึ้นเราต้องเข้าถึงแก่นชีวิตของคนแต่ละวัยว่าต้องการการเรียนแบบไหน โดยใช้หลักสำรวจในการเข้าไปพูดคุยและนั่งกินข้าวด้วยกัน บางคนชอบกินเหล้าเราก็ต้องไปนั่งในวงเหล้าเพื่อถามถึงความต้องการของคนเหล่านั้น ซึ่งโรงเรียนปลายข้าวก็ได้เปิดการเรียนการสอนมานานกว่า 4 ปี แล้ว โดยจะมีการจัดงานครอบรอบวันถ่ายโอนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของครู นักเรียนและประชาชนเพิ่มขึ้น
ส่วนในงานครบรอบ 4 ปี วันถ่ายโอนโรงเรียนปลายข้าว นักเรียนปลายข้าวได้นำผักปลอดสารพิษ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการทำขนมสูตรโบราณ ทั้งขนมพิมพ์ ขนมโค ขนมครก ขนมจาก และการะแม มาจัดบูธภายในงานด้วย ซึ่งส่วนผสมของขนมแต่ละอย่างล้วนทำมาจากธรรมชาติทั้งนั้น อย่างขนมโค ที่มีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ นำมาคลุกเคล้ากับงาและมะพร้าวอ่อน มีสีสวยแปลกตา อย่างสีเหลืองก็ทำมาจากฟักทอง สีขาวทำมาจากเผือก สีม่วงทำมาจากดอกอัญชัน และสีเขียวทำมาจากใบเตย ส่วนขนมครกที่โรยหน้าด้วยไส้เค็มนี้ก็ทำมาจากหัวไชเท้าหากินที่ไหนไม่ได้ ต้องมากินที่เมืองพัทลุงเท่านั้นเพราะเป็นสูตรต้นตำรับโบราณที่ไม่ใช่สูตรชาววัง
///////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

จับตาหวัด 2009 ช่วงปิดเทอม หวั่นกลับมาอีกระลอก

จับตาหวัด 2009 ช่วงปิดเทอม หวั่นกลับมาอีกระลอก
------------------------
โปรย : เตรียมเฝ้าระวังไข้หวัด 2009 หวั่นระบาดในเมือง ชุมชนแออัด โรงเรียนสอนพิเศษ ศูนย์เด็กเล็ก เตรียมมาตรการรับช่วงปิดเทอม หลังระบาดหนักขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา
------------------------------
อากาศประเทศไทยช่วงนี้แปรปรวนซะเหลือเกิน เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวร้อน ทำให้อุณหภูมิในร่างกายปรับสภาพแทบไม่ทัน แถมช่วงฝนตกหนักยังมีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายต้องกังวลกลัวกระแสไข้หวัด 2009 กลับมาอีกระลอกที่สอง และเชื้อไข้หวัด H1N1 ที่เคยแพร่ระบาดในโรงเรียนกวดวิชา มาคราวนี้โรงเรียนกวดวิชาเลยเป็นเป้าหลักที่น่าเฝ้าระวังอีกจุดหนึ่ง และสาเหตุที่มีการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 กลับมา อาจส่งผลแพร่เชื้อไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทว่าขณะนี้โรงเรียนกำลังจะปิดเทอมทำให้กลุ่มเสี่ยงเปลี่ยนเป็นชุมชน โรงเรียนสอนพิเศษ และศูนย์เด็กเล็ก เพราะฉะนั้นชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะในชุมชนแออัดต้องเตรียมพร้อมมาตรการการดูแล การคัดกรอง การแยกเด็กป่วยในชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อที่จะตามมา
แผนงานความปลอดภัยในเด็ก ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดแถลงข่าวเรื่อง “คลื่นลูกที่สองของการระบาดไข้หวัดใหญ่ชุมชนแออัดในเมือง โรงเรียนสอนพิเศษ ศูนย์เด็กเล็ก ต้องเตรียมรับช่วงปิดเทอม” ขึ้นเพื่อต้องการให้ข้อมูล เพื่อเฝ้าระวังการกระจายตัวของไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่กลับมาระบาดหนักขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา รศ.นพ.กำธร มาลาธรรม หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ระบุว่า จากการตรวจผู้ป่วยจากการเก็บข้อมูลของน้ำมูกมายังห้องแลบของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง แม้จะน้อยลงแต่ก็ถือว่ายังมีมากกว่าเมื่อเริ่มต้นช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม รวมทั้งสิ้น 4,354 ราย พบติดเชื้อไข้หวัดใหญ่รวม 1,812 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 41.6 โดย 1,418 รายเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 (ร้อยละ 78) และสถานการณ์ปัจจุบันใกล้จะถึงช่วงโรงเรียนปิดภาคเรียน อีกทั้งเด็กจะใช้เวลาอยู่ในชุมชนโดยเฉพาะชุมชนแออัดต้องเตรียมพร้อมมาตรการดูแลป้องกันเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ระบาด โดยนำกลุ่มเสี่ยงออกมารับวัคซีน มีผู้คอยตรวจสอบและป้องกันการติดหวัดไม่ให้แพร่เชื้อ และเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี ที่อยู่ในชุมชนแออัด ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย เพราะจากการศึกษาอัตราการป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ในหลายประเทศพบว่า ปัจจัยความยากจนกับการเจ็บป่วยของไข้หวัดใหญ่ 2009 นั้น มีความสอดคล้องกัน โดยการเปรียบเทียบอัตราผู้ป่วยต่อแสนประชากรในชุมชนแออัดพบชัดเจนว่าเด็กในกลุ่มคนจนในชุมชนแออัดในเมืองใหญ่มีความเสี่ยงมากกว่าชุมชนทั่วไปถึง 4 เท่า
ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานความปลอดภัยในเด็ก สสส. กล่าวว่า เนื่องจาก “กลุ่มเด็กเยาวชนในชุมชนแออัด” มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ระลอกสองในช่วงปิดเทอม ขณะเดียวกันโรงเรียนสอนพิเศษก็เป็นกลุ่มเสี่ยงหลักในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เนื่องจากมีเด็กเปลี่ยนสถานที่เรียนจากโรงเรียนเป็นสถาบันกวดวิชา ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มกลุ่มเด็กเยาวชนในชุมชนแออัดไว้ในกลุ่มเสี่ยงการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เพื่อแก้ปัญหาวัคซีนที่ไม่เพียงพอจาก ทั้งหมด 2 ล้านโดส ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง 7 แสนโดส ทำให้ราคาวัคซีนเพิ่มขึ้นจากเข็มละ 400 บาท เป็น 600-700 บาท และพบสูงสุด 1,000 บาท นอกเหนือจากเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแล้ว สถานที่ที่มีประชาชนมารวมตัวกันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ สนามกีฬาฯลฯ ที่มีคนมารวมกันจำนวนมาก ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้เช่นกัน
ฉะนั้นหากใครไม่อยากติดเชื้อและต้องเสียเงินไปกับวัคซีนถึงเข็มละ 1,000 บาท ก็ต้องดูแลและป้องกันตัวเองเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนอยู่กันมากๆ ด้วย
//////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

เอส-อี-เอ็กส์ ขอพื้นที่คืนให้เพศวิถี หวังเติมเต็มช่องโหว่คนเข้าใจเรื่องเพศ

เอส-อี-เอ็กส์ ขอพื้นที่คืนให้เพศวิถี หวังเติมเต็มช่องโหว่คนเข้าใจเรื่องเพศ
---------------------------
โปรย : เซ็กส์ เป็นเรื่องที่ถูกสังคมแอบซุกซ่อนไว้หลังม่าน แต่ปัญหาที่ปรากฏกลับโผล่พ้นเพียงปลายเล็บที่เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำเห็นเพียงยอดแหลม
------------------------------
เรื่องเพศ ดูเหมือนเป็นเรื่องที่เราไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามให้มากความ เพราะคำตอบสำเร็จรูปถูกหยิบยื่นให้แก่เราทุกคนกันตั้งแต่เกิดเป็นพลเมืองของสังคมเรียบร้อยแล้ว แต่มันเป็นคำตอบที่แน่ชัดแล้วหรือสำหรับ “เราทุกคน” หรือเป็นเพียงการเล่นกลกับความคลุมเครือซับซ้อน ในเรื่องความเป็นหญิง - ชาย บทบาทและความคาดหวังในเพศสภาพ และเพศวิถีที่เราต่างแบกรับ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ที่เราต่างเผลอไผลคิดไปเองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) จึงได้เปิดตัวหนังสือ “เอส-อี-เอ็กซ์” อย่างเป็นทางการ ณ ร้านกาแฟวาวี ซ.อารีย์ ในงานนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังอย่างคับคั่งเพราะมีวงเสวนาอย่างถึงพริกถึงขิง มีเหล่าวิทยากรไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของหนังสือ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM ดำเนินรายการโดย ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. ต่างหยิบยกเอาความจริงเกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมไทยขึ้นมาพูดคุย ล้วงลึกถึงกึ๋นในแบบที่ไม่ต้องเกรงว่าจะถูกเซ็นเซอร์
ชลิดาภรณ์ บอกถึงสาเหตุที่ใช้ชื่อหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ ที่ไม่ใช่ S-E-X การที่ต้องเขียนเป็นภาษาไทย เพราะต้องการให้คนตระหนักว่าไม่ใช่คำที่ตัวเองเข้าใจก็ต้องหยุดคิดว่าคืออะไร เหมือนกับที่เซ็กส์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทางสังคมของเราที่คิดว่าชัดเจนและคุ้นเคยที่เราคิดว่าเรารู้อยู่แล้วแต่แท้จริงไม่รู้อะไรมากนัก เพราะเรื่องเพศอย่างที่เราเข้าใจเป็นของความเชื่อที่นำเข้า และเป็นเรื่องที่คนไม่กล้าพูด การเขียนภาษาไทยเพื่อต้องการเตือนให้คนไทยได้รู้ว่าเป็นสิ่งนำเข้าทำให้ต้องมีการเข้าใจว่าเป็นสิ่งต้องห้ามในการพูดในที่สาธารณะ โดยที่มาที่ไปเป็นหนังสือที่รวมบทความเส้นทางของการรวมเล่มผ่านอุปสรรคมากมายและเป็นเรื่องที่ผู้เขียนภูมิใจที่สุด ต้องการเขียนในประเด็นร้อน และอยากเชิญชวนให้สังคมเข้าใจเรื่องนี้ และกว่าจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้ได้ต้องผ่านอุปสรรคขวากหนามมากมาย เพราะด้วยความที่เป็นผู้หญิงและสวมตำแหน่งครูบาอาจารย์นั้น ทำให้เจอแรงเสียดทานจากสังคมด้วยการค่อนขอดและสั่งสอนตลอดเวลาว่า สิ่งที่เขียนไปรู้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะนักวิชาการรุ่นเก่าที่มักโดดออกมาโต้แย้งความคิดเรื่องเพศวิถีที่เรามองเห็นต่างเสมอ
“พอตัวเองทำดีก็เกิดการคาดหวังมาก ว่าจะได้รับคำชื่นชม แต่เมื่อมีผลกระทบหรือถูกด่ากลับมา จึงเกิดการสั่นคลอน ผิดหวัง เซ็ง มองเห็นแรงกระทบมาก ก็คิดใหม่มองใหม่ว่า ถ้าประเด็นความคิดเห็นของเราไม่กระทบความรู้สึกของสังคม คงไม่มีคนลุกขึ้นมาแย้ง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่ได้เปิดประเด็นให้สังคมเอง คำด่าทั้งหลายคือศัตรูทางความคิด วิธีแก้คือต้องคิดในทางกลับกันเป็นครูสอนเพราะจะทำให้เราเติบโตทางปัญญาได้มาก ทุกอย่างในชีวิตเราต้องแก้ด้วยปัญหาดังเช่นที่ว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ สิ่งที่ตัวเองเลือกมีปัญหาอยู่ตรงไหน” ชลิดาภรณ์ กล่าว
ส่วน กฤตยา บอกว่าในสังคมไทยเราได้ทราบกันดีแล้วว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม ถ้านำมาพูดเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ โดยทั่วไปคนที่จะพูดถึงเรื่องเพศนั้นต้องเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งมักหมายถึง “หมอ” หากชาวบ้านทั่วไปพูดเรื่องเพศ ก็จะสื่อออกมาในเชิงสองแง่สองง่ามมากกว่า เช่น เรื่องเล่าเดอร์ตี้โจ๊ก หรือเนื้อหาในบทเพลงพื้นเมืองอีแซว และลำตัด เป็นต้น ทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องเพศเป็นเรื่องของคนทุกคน โดยหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ นี้ถือได้ว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ในแง่ของหนังสือกึ่งวิชาการที่ถูกนำไปเผยแพร่ในคอลัมน์ตามสื่อสิ่งพิมพ์ และที่สำคัญผู้เขียนเป็นนักสังคมศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงและให้มุมมองเรื่องเพศจากสถานการณ์จริง อีกทั้งการจัดงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้จัดที่ร้านกาแฟซึ่งเป็นจุดหมายอันดีที่ว่า สามารถมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องเพศในที่สาธารณะได้อย่างจริงจัง ขยายวงคุยเพื่อเรียนรู้เรื่องเพศมากขึ้น
กฤตยา ยังชี้ว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปประกอบการเรียนการสอน เพราะจะช่วยปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรมเรื่องเพศให้กับเยาวชนก่อนที่เขาจะเติบใหญ่ ปัจจุบันที่เป็นปัญหากันมาก เนื่องจากความเป็นธรรมในเรื่องนี้ไม่มี ผู้ที่ถูกกระทำได้รับทุกข์อยู่ฝ่ายเดียว บางกรณีถึงกับฆ่าตัวตาย ขณะที่คนทำลอยชายมีอนาคตที่ดี ฉะนั้น เมื่อกฎบ้านเมืองทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องให้เด็กมีสำนึกด้วยตัวเอง "อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือความซับซ้อนเรื่องเพศในสังคม จุดนี้ถ้าเรามัวแต่ปิดไว้ ก็ไม่สามารถจะหาทางออกหรือหาจุดที่สมดุลในการแก้ไขได้เลย จึงต้องสอนเรื่องเพศตั้งแต่เริ่มเรียนรู้ เพราะความซับซ้อนมาจากตรงนี้ เพราะจะทำให้เราเข้าใจเลือกทางเดินของชีวิตได้ เพราะสังคมไทยมีเส้นกำหนดให้รับรู้เรื่องเพสด้านเดียว สื่อที่เป็นทางการบอกเราแค่ด้านเดียวไม่บอกทางเดินให้เราได้ หากเราท้องเราจะแก้ปัญหาและเดินทางอย่างไร ความซับซ้อนมีเท่าเดิมแต่มิติมีหลายด้าน
ขณะที่ โตมร เล่าถึงการมีส่วนร่วมในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่สังคมต้องเปิดใจยอมรับที่จะพูดในที่สาธารณะได้ ซึ่งโดยส่วนตัวอยากรู้เรื่องเพศอยู่แล้ว เริ่มแรกได้ศึกษาประเด็นผู้ชายขายตัว จึงทำให้เข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนการสร้างองค์ความรู้เรื่องเพศจะเน้นผู้หญิงเป็นศูนย์กลางว่าประเด็นไหนบ้างที่กระทบความรู้สึกของผู้หญิงจะไม่มีการพูดถึง ทำให้รู้สึกว่าเรื่องเพศในสังคมไทยเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่มียอดโผล่ขึ้นมานิดหน่อย แต่มีฐานวงใหญ่ คนที่มองเห็นต้องค้นคว้าและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง และต้องจับสัญญาณให้ได้ว่าความสลับซับซ้อนมีอยู่ตรงไหนบ้าง โดยต้องเขียนคำอธิบายออกมาให้ได้และให้คนเข้าใจง่ายที่สุด เรื่องเพศเป็นเรื่องที่สังคมชอบเอาไปแอบไว้ข้างหลัง นอกนั้นถูกหมักหมมเป็นก้อนใหญ่มหึมาอยู่ใต้ล่าง ยากแก่การแก้ไขให้ถึงต้นตอ ส่วนหนึ่งเพราะถูกขีดเส้นไว้อย่างชัดเจนว่าเซ็กส์เป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรนำมาพูดหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะ อีกส่วนถูกครอบด้วยวัฒนธรรมไทยที่บังคับให้เชื่อตามที่คนรุ่นเก่าบอกเล่า ไม่สามารถโต้แย้งให้แตกต่างได้ และหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อธิบายปรากฏการณ์ทางเพศได้อย่างกว้างและลึก
ด้าน ณัฐยา บอกว่า หนังสือเอส-อี-เอ็กซ์ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้แก่สังคมว่าการพูดถึงเรื่องเพศไม่ใช่เป็นเรื่องลามก ไม่ใช่เรื่องตลก หรือเรื่องอนาจาร แต่เป็นการพูดถึงในแง่ของกึ่งวิชาการ ซึ่งการใช้แนวคิดและทฤษฎีที่เหมาะสมมามองเรื่องเพศเพื่อให้สังคมเข้าใจในมุมกว้างและลึกมากขึ้น โดยยังไม่มีงานวิชาการใดทำในลักษณะนี้มาก่อน ทำให้ สสส.คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยเติมเต็มช่องโหว่ในเรื่องเพศให้แก่สังคมไทย
แล้วคุณล่ะเข้าใจเรื่องเพศมากแค่ไหน ?????
//////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

สสส.-สคส.เปิดตัวหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ (S-E-X)ขอพื้นที่คืนให้เพศวิถี

สสส.-สคส.เปิดตัวหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ (S-E-X)
กะเทาะมิติถาม-ตอบ “เพศสภาพ-เพศวิถี”ในบริบทสังคม การเมือง และวัฒนธรรมไทย
ยกกรณีศึกษา “เพศสภาพใน “AF- นัยยะของถุงยาง-วัฒนธรรมเกลียดตุ๊ด”
-------------
เมื่อเวลา 14.00 ณ ร้านกาแฟวาวี ชั้น 2 ซ.อารีย์ 1 แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ “เอส-อี-เอ็กซ์” ซึ่งว่าด้วยเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี ในบริบทสังคมการเมืองและวัฒนธรรมไทย พร้อมเปิดมิติใหม่ให้สังคมเข้าใจเรื่องเพศสภาพ เพศวิถีมากขึ้น ด้านนักวิชาการระบุการพูดเรื่องเพศในที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องหน้าอายอีกต่อไป เชื่อการจัดงานในที่สาธารณะถือเป็นจุดหมายอันดีสามารถมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องเพศได้อย่างจริงจัง ในการขยายวงคุยเพื่อเรียนรู้เรื่องเพศมากขึ้น
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ กล่าวว่า การเขียนหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ นี้เป็นการเตือนให้สังคมเห็นความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องเพศที่สังคมเคยเข้าใจว่าเรื่องเพศไม่สามารถนำมาพูดในที่สาธารณะได้ ซึ่งบทความต่างๆในหนังสือนี้จะนำเสนอให้คนเข้าใจเรื่องเพศวิถีที่มีอยู่หลายรูปแบบในภาษาที่เข้าใจง่าย หลากหลายมิติ ผ่านการนำเสนอทางหน้าหนังสือพิพม์ เพื่อให้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญเวลาอ่านต้องคิดในหลายบริบทและมุมมองที่แตกต่างอย่างถี่ถ้วน อยากให้สังคมได้มีที่คิดใคร่ครวญในเรื่องเพศวิถีมากขึ้นว่า เป็นเรื่องสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องที่ควรเก็บซ่อนอีกต่อไป ซึ่งความจริงแล้วการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยเรื่องเพศเป็นวิถีหนึ่งที่ไม่ยากเกินไปที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
“ประเด็นในหนังสือที่เขียนมาเป็นการกะเทาะให้คนเห็นว่าสิ่งที่เคยเข้าใจมาตลอดเป็นเรื่องที่ผิด ทั้งประเด็นการเซ็กส์ในกรอบ-นอกกรอบ ซึ่งเป็นการนิยามความเหมาะควรถูกผิดในเรื่องเพศ เช่นเรื่องคาวมตายของหญิงอ้วน ซึ่งเป็นความพยายามลดความอ้วน โดยการสละชีวิตเพื่อให้สวย เรื่องเพศสภาพใน AF หรือเรื่องนัยยะของถุงยาง ประเด็นเรื่องเพศวิธีกับความรุนแรง ซึ่งเป็นการกระทำความรุนแรงหลายประการ มองเห็นและเข้าใจได้ยาก ถูกบังตาโดยกรอบการแบ่งประเภทคน แต่แท้ที่จริงคนทุกประเภทมีความสามารถกระทำความรุนแรงเพื่อสื่อความรู้สึกบางอย่างของตัวเองได้ทั้งนั้น เช่นเรื่องทอมโหดหญิงบ้า และเรื่องข่มขืนผู้ชาย รวมทั้งประเด็นเพศสภาพ/เพศวิถีในการเมืองภาครัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกผลักเข้าสู่กระบวนนโยบายสาธารณะและการโต้เถียงต่อสู้ทางการเมือง เช่นเรื่องวัฒนธรรมเกลียดตุ๊ด เกย์ ทอม ดี้” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวว่า หนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ เป็นหนังสือที่รวมบทความว่าด้วยเรื่องเพศวิถีที่เขียนและใช้คำที่ง่ายขึ้นเพื่อสื่อให้คนอ่านเข้าใจเรื่องเพศได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการให้ความรู้ต่อสังคมว่าการพูดถึงเรื่องเพศไม่ใช่เป็นเรื่องลามก ไม่ใช่เรื่องตลก หรือเรื่องอนาจาร แต่เป็นการพูดถึงในแง่ของกึ่งวิชาการ ซึ่งการใช้แนวคิดและทฤษฎีที่เหมาะสมมามองเรื่องเพศเพื่อให้สังคมเข้าใจในมุมกว้างและลึกมากขึ้น ซึ่งงานวิชาการทั่วไปยังไม่มีการทำในลักษณะนี้ อีกทั้ง สสส.มองว่าปัจจุบันเรื่องเพศยังมีช่องโหว่ที่คนไม่สามารถเข้าใจได้ลึก จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดพิมพ์หนังสือ เอส อี เอ็กซ์ เพื่อให้สังคมเกิดการเรียนรู้และเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในสังคมไทยเราได้ทราบกันดีแล้วว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม ถ้านำมาพูดเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ โดยทั่วไปคนที่จะพูดถึงเรื่องเพศนั้นต้องเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งมักหมายถึง “หมอ” หากชาวบ้านทั่วไปพูดเรื่องเพศ ก็จะสื่อออกมาในเชิงสองแง่สองง่ามมากกว่า เช่น เรื่องเล่าเดอร์ตี้โจ๊ก หรือเนื้อหาในบทเพลงพื้นเมืองอีแซว และลำตัด เป็นต้น ทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องเพศเป็นเรื่องของคนทุกคน โดยหนังสือ เอส-อี-เอ็กซ์ นี้ถือได้ว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ในแง่ของหนังสือกึ่งวิชาการที่ถูกนำไปเผยแพร่ในคอลัมน์ตามสื่อสิ่งพิมพ์ และที่สำคัญผู้เขียนเป็นนักสังคมศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงและให้มุมมองเรื่องเพศจากสถานการณ์จริง อีกทั้งการจัดงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้จัดที่ร้านกาแฟซึ่งเป็นจุดหมายอันดีที่ว่า สามารถมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องเพศในที่สาธารณะได้อย่างจริงจัง ขยายวงคุยเพื่อเรียนรู้เรื่องเพศมากขึ้น
นายโตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM กล่าวว่า การที่มีส่วนร่วมในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่สังคมต้องเปิดใจยอมรับที่จะพูดในที่สาธารณะได้ ซึ่งโดยส่วนตัวอยากรู้เรื่องเพศอยู่แล้ว ความสนใจจึงได้เข้าค้นหาความเป็นตัวตน จึงมาหยุดที่เรื่องเพศ เริ่มแรกได้ศึกษาประเด็นผู้ชายขายตัว จึงทำให้เข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนการสร้างองค์ความรู้เรื่องเพศจะเน้นผู้หญิงเป็นศูนย์กลางว่าประเด็นไหนบ้างที่กระทบความรู้สึกของผู้หญิงจะไม่มีการพูดถึงทำให้รู้สึกว่าเรื่องเพศในสังคมไทยเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่มียอดโผล่ขึ้นมานิดหน่อย แต่มีฐานที่ใหญ่ คนที่จะมองเห็นต้องค้นคว้าและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง และต้องจับสัญญาณให้ได้ว่าความสลับซับซ้อนมีอยู่ตรงไหนบ้าง และต้องเขียนคำอธิบายออกมาให้ได้และให้คนเข้าใจง่ายที่สุด ดังเช่นเรื่องเพศในสังคมไทยยังเป็นเรื่องที่สังคมชอบเอาไปแอบไว้ข้างหลัง และหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อธิบายปรากฏการณ์ทางเพศได้กว้าง อีกทั้งสมัยก่อนเมื่อมีการพูดถึงเรื่องเพศเป็นเรื่องที่สนุก และคนที่เป็นเกย์ ตุ๊ด ต้องถูกกระทำโดยผู้ชายทำให้ไม่มีเพื่อนคนที่จะเป็นเพื่อนคนประเภทนี้ได้ต้องมีลักษณะเดียวกัน แต่ปัจจุบันเริ่มมีความหลากหลายทางความคิด คนไม่แบ่งแยกว่าจะคบกันได้ต้องเป็นเพศเดียวกันและต้องมีความสัมพันธ์กัน คนสามรถคุยเรื่องราวต่างๆได้ รู้สึกว่าการกระทำเหล่านี้เห็นได้มากในสังคมไทย ทำให้เปลี่ยนบรรยากาศในสังคมไทยได้
////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

“ฝันผุ”ภัยเงียบใกล้ตัว “เด็กเล็ก”แพทย์เผย เด็ก 3 ปีร่วม 60% เสี่ยง “ฝันผุ” กระทบ ‘เติบโตช้า แคระแกรน’

“ฝันผุ”ภัยเงียบใกล้ตัว “เด็กเล็ก”
แพทย์เผย เด็ก 3 ปีร่วม 60% เสี่ยง “ฝันผุ” กระทบ ‘เติบโตช้า แคระแกรน’
--------------------------
โปรย “เปิดสถานการณ์การใช้น้ำตาลทำลูกอมเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2552 พบปัญหาฟันผุในเด็กไทยสูงถึง 60% ในเด็ก 3 ปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม เผยเด็กฟันผุเรื้อรังเสี่ยงภาวะเติบโตช้า แคระแกรน”
---------------------------
ปัญหาฟันผุในเด็กไทยยังเป็นปัญหารื้อรังทางด้านสาธารสุขที่แก้ไม่ตกกันซะที ขณะที่ช่องปากเป็นประตูด่านแรกด้านสุขภาพอนามัยที่ดี หากฟันผุยังเป็นต้นตอในการกระจายเชื้อโรคออกทั่วร่างกาย ก็จะบั่นทอนจิตใจและสุขภาพของเด็กเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ร่างกายของเด็กเจริญเติบโตไม่เต็มที่ แฝงไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บมากมาย เป็นที่ทราบกันดีว่าเด็กที่มีปัญหาฟันผุรุนแรงจนเกิดอาการปวด อันจะส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการ พัฒนาการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านบุคลิกภาพในวัยปฐมวัยเป็นอย่างมาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน แผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขระยะที่สอง ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็กจากคณะทันตแพทยศาสตร์ 8 มหาวิทยาลัย กองทันตสาธารณสุข ชมรมทันตกรรมสำหรับเด็ก และเครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ จึงได้ดำเนินการประชุมเครือข่ายแปรงฟันให้ลูกรักตั้งแต่ฟันซี่แรก เพื่อส่งเสริมสุขภาพช่องปากผสมผสานทุกมิติอย่างเป็นระบบในกลุ่มเด็กปฐมวัยเพื่อลดปัญหาฟันผุในเด็ก
ทพญ. จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. เล่าว่า โรคฟันผุเป็นปัญหาหลักที่พบได้มากในเด็ก สภาพปัญหามีความชุกและความรุนแรงค่อนข้างมาก เด็กไทยเริ่มมีโรคฟันผุตั้งแต่อายุเพียง 1 ปี และจะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 12-18 เดือน ข้อมูลจากการสำรวจระดับประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยสำนักทันตสาธารณสุข พบว่าใน ปี 2552 ร้อยละ 60 ของเด็กไทยอายุ 3 ปี มีประสบการณ์การเป็นโรคฟันผุในฟันน้ำนม และร้อยละ 80 ของเด็กไทยอายุ 5 ปี ซึ่งใกล้เคียงกันในกรณีของฟันแท้ ซึ่งพบร้อยละ 57 เมื่อวัดที่อายุ 12 ปี ฉะนั้นเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานจึงต้องผูกปัญหาฟันผุในเด็กและห้ามกินหวานเข้าด้วยกัน เนื่องจากว่าเมื่อเด็กกินหวาน เกิดการบริโภคทั้งกลุ่มแป้งและน้ำตาลสูงขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิดฟันผุ ซึ่งอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยง 3 อันดับแรกที่ทำให้เกิดฟันผุ คือ ลูกอม น้ำตาล และน้ำอัดลม หรือน้ำหวาน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสูงมาก โดยปัญหาฟันผุในเด็กไทยอยู่ที่อับดับสูงมากเมื่อเทียบกับทั่วโลก ซึ่งประโยชน์ของฟันคือการบดเคี้ยวอาหาร ให้ได้สารอาหารที่บดละเอียด ย่อยง่าย ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตไปตามวัย ให้การพูดออกเสียงได้ชัด สร้างความงามของใบหน้า
ด้าน ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม คณะทำงานสำนักทันตสาธารณสุขและรองผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน พูดถึงปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ คือ น้ำตาล ซึ่งมีรูปแบบของน้ำตาลที่หลากหลาย ซึ่งน้ำตาลที่เป็นที่นิยมมากในกลุ่มเด็ก คือ ลูกอม ทอฟฟี่ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้เฝ้าระวังการบริโภคของคนไทยตลอดมานับตั้งแต่ ปี 2545 พบว่า อัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยเฉลี่ย 20 ช้อนชาต่อข้อมูลรูปแบบการกระจายตัวของน้ำตาลในประเทศไทยได้สะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลต่อการเกิดโรคฟันผุที่จะทำให้เพิ่มมากขึ้น โดยทั่วไปการบริโภคน้ำตาลจะเป็นไปใน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ ทางตรง และทางอ้อม ซึ่งสัดส่วนการบริโภคจะอยู่ที่ 6:4 ของน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม นมเวชภัณฑ์ และลูกอม โดยข้อมูลที่รายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล พบว่า ในปี 2552 อัตราการใช้น้ำตาลเพื่อผลิตลูกอมและลูกกวาด สูงมากขึ้นกว่า ปี 2551 ถึง 3 เท่า จาก 2.2 ล้านกิโลกรัม เป็น 6.1 ล้านกิโลกรัม ภาพเหล่านี้สะท้อนอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมลูกอมและลูกกวาดอย่างมาก
ส่วน นพ.สุริเดว ทริปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน บอกถึงผลกระทบเรื่องปัญหาฟันผุในเด็กที่ยังถือว่าอยู่ในอัตราสูงช่วงระหว่างเด็กที่เริ่มมีฟันจนถึงปฐมวัย ทำให้เด็กมีปัญหาทั้งทางร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเฉพาะช่องปากเท่านั้น ยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอีกมากเริ่มตั้งแต่บริเวณใกล้เคียง จะเกิดเป็นหนองที่เหงือกทำให้แก้มบวม ตาบวม ต่อมน้ำเหลือง บริเวณคอโต ต่อมทอมซินอักเสบ ผิวหนังอาจเป็นผื่นคันจากภูมิแพ้ หัวใจเรื่องสำคัญอาจทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบถึงขั้นหัวใจรั่วจากการติดเชื้อและยังลามไปอวัยวะอื่นอีก ผลจากอาการปวดฟันเคี้ยวอาหารไม่สะดวก ไม่ละเอียด ทำให้ขาดสารอาหาร เจ็บปวด นอนไม่หลับ สารพันโรคทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงความต้านทานต่อโรคอื่นๆ ลดน้อยลง ผลกระทบคือเด็กจะมีความสูงและน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน รวมทั้งศีรษะเล็กกว่าเด็กที่ไม่มีฟันผุปฐมวัย ซึ่งเด็กที่เคี้ยวอาหารไม่ได้ และพูดไม่ชัดทำให้ถูกล้อเลียนมีปัญหาทางด้านจิตใจ
ขณะที่ รศ.ทพญ.ชุติมา ไตรรัตน์วรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนแผนงานโรงพยาบาลสร้างสุข เล่าถึงการสำรวจทันตสุขภาพครั้งล่าสุดในประเทศไทยปี พ.ศ. 2550 พบว่าเด็กอายุ 3 ปี มีโรคฟันผุร้อยละ 61 และมีจำนวนฟันที่ผุถอน อุด 3.2 ซี่ต่อคนเมื่อสำรวจเด็กอายุ 5 ปี พบว่ามีความชุกของโรคฟันผุเพิ่มเป็นร้อยละ 80 และมีอัตราผุ ถอน อุด 5.43 ซี่ต่อคน อัตราดังกล่าวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะลดลงน้อยมาก แม้ว่าจะมีการทำงานป้องกันมากมายดูเหมือนว่าเราเพียงแต่ควบคุมไม่ให้อัตราผุในเด็กสูงขึ้นเท่านั้น สาเหตุของโรคฟันผุปฐมวัยเกิดจากการเลี้ยงนมและอาหารเหลวไม่เหมาะสม ร่วมกับไม่มีการทำความสะอาดฟัน พฤติกรรมการเลี้ยงนมและอาหารเหลวที่ไม่เหมาะสมได้แก่ การหลับคาขวดหรือนมแม่ หรือดูดนมถี่ๆ ในช่วงกลางคืนหลังจากมีฟันน้ำนมขึ้นมาในช่องปากแล้ว
คุณหมอยังเล่าให้ฟังถึงผลกระทบในแง่ของการรักษาว่า เด็กในวัยนี้แม้ผู้ปกครองจะแปรงฟันให้ก็ยังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ หากมีฟันผุ ก็จะยิ่งยากสำหรับทันตแพทย์ที่จะทำการรักษา จำเป็นที่จะต้องเป็นทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็ก ซึ่งไม่มีอยู่ทั่วไปในโรงพยาบาล หรือคลินิกชนบท เมื่อเด็กมีอาการปวด บวม ผู้ปกครองจำนวนมากต้องตามหาทันตแพทย์ที่จะรักษาให้ได้ เพราะมีอยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้น
“ฉะนั้นเมื่อมาพบทันตแพทย์ หลายกรณีต้องใช้วิธีดมยาสลบ หรือใช้ยาและก๊าซเพื่อคลายกังวล วิธีการเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก เกิน 10,000 บาท ส่งผลให้รัฐและพ่อแม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และตัวเด็กก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวยาวนานกว่าปกติ วิธีที่ดีที่สุดคือ เริ่มแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์และเช็ดฟองออกให้ลูกตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้น แม้ลูกอาจจะต่อต้านบ้าง แต่ถ้าพ่อแม่หมั่นทำซ้ำเป็นประจำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดฝันผุในเด็ก ช่วยประหยัดเงินและเวลา รวมทั้งไม่ต้องประสบกับความเครียด กังวลอันเป็นผลจากอาการปวด บวม และการรักษาจากทันตแพทย์” รศ.ทพญ.ชุติมา กล่าวทิ้งท้าย
ลูกของคุณก็จะมียิ้มสยามที่ประทับใจต่อคนทั่วโลก!!!!
////////////////////////////////

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

วัยโจ๋ร่วมปฏิวัติ น้ำมันทอดซ้ำ ‘แปรผัน’ ทำไบโอดีเซล

วัยโจ๋ร่วมปฏิวัติ น้ำมันทอดซ้ำ ‘แปรผัน’ ทำไบโอดีเซล
/////////////////////////////////////////////
โปรย : มหัศจรรย์ไบโอดีเซล พลังงานทดแทนที่ควรคิด นำไปสู่ทางออกของน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อคนไทยปลอดภัยและสามารถพึ่งตนเองได้
////////////////////////////////////////////////
เวลาพูดถึงเรื่องน้ำมันทอดซ้ำ หลายคนอาจมองแค่เรื่องความไม่สะอาดสะสมที่เกิดจากการใช้น้ำมันหลายรอบ จนอาจมองข้ามอันตรายเนื้อแท้สร้างให้เกิดสาร “โพล่าร์คอมเพาว์” ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง หรือสารกลุ่ม “โพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดร์คาร์บอน” ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ดังนั้นประเทศไทยจึงมีกฏหมายที่ระบุว่า น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารต้องมีสารโพล่าร์คอมเพาว์ ไม่เกิน 25% ขณะที่สารกลุ่มโพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดร์คาร์บอน ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัย
แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งดำเนินโครงการ “ปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ” จึงได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือในการตรวจสอบน้ำมันที่ทอดอาหาร ด้วยการวัดค่า “โพล่าร์คอมเพาว์” ในแบบฉบับที่เด็กและเยาวชนสามารถร่วมกันทำได้ ประหยัด และได้การวัดค่าตามมาตรฐาน ในงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวหน้านวัตกรรมก้าวไกลเครือข่ายยั่งยืน ในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยกลุ่มนักเรียนอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) และโรงเรียนในเครือจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่ง ซึ่งต้องใช้น้ำมันในการทำงานให้นักเรียน และครูอาจารย์ ทั้ง 3 มื้อ ได้ไอเดียในการ ‘ปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ’ ให้กลายเป็น ‘น้ำมันไบโอดีเซล’ จึงผุดขึ้น
โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ จึงนำน้ำมันทอดที่เสื่อมสภาพแล้ว มาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ใช้ในรถยนต์ รถตัดหญ้าของโรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่ไม่มีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ก็จะจัดการส่งต่อน้ำมันทอดที่เสื่อมสภาพไปยังเครือข่ายการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล มิให้ตกไปอยู่ในมือของผู้ที่จะนำน้ำมันเสื่อมสภาพ มาแปรรูปกลับมาใช้บริโภคอีก
นาย สัตยา บานบัว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัวแทนกลุ่มไบโอดีเซลโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทอุปกรณ์รักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน อธิบายถึงวิธีการแปรสภาพน้ำมันให้เป็นไบโอดีเซลว่า ขั้นแรกต้องนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมากรองด้วยผ้าขาวบาง ก่อนนำมาต้มให้ได้อุณภูมิ 120 องศา จากนั้นเทเมทานอล 2.5 ลิตรใส่แกลลอนเสร็จแล้วเทโปรแตสเซียมไฮดรอกไซด์ 100 กรัมใส่ลงไป ปิดฝาให้สนิทแล้วเทเขย่าเบาๆให้ละลาย จากนั้นก็เทสารละลายผสมลงในถังน้ำมัน แล้วกวน 30 นาที จากนั้นเทน้ำ 0.7 ลิตร ลงถังกวนเพื่อล้างไบโอดีเซล 30 วินาที แล้วปล่อยให้กลีเซอรีนตกตะกอน 8 ชั่วโมง ก่อนแยกน้ำมันออกจากกลีเซอรีน และล้างไบโอดีเซลด้วยน้ำ 0.75 ลิตร กวน 2-3 ครั้ง และนำไบโอดีเซลไปไล่ความชื้นที่ 120 องศาเซลเซียส จำนวน 2-3 ครั้ง จนได้ไบโอดีเซลที่บริสุทธิ์
“ผมทำโครงการมานานกว่า 4 ปีแล้ว ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ดีทั้งในครัวเรือน และเติมน้ำมันรถ คิดว่า นักเรียนได้ความรู้ แถมมีรายได้ เพราะจะนำน้ำมันที่ผลิตได้ไปขายให้กับเกษตรกร ที่สำคัญผลงานชุดอุปกรณ์ผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วเป็นใบเบิกทางในการสอบเอ็นทรานซ์ด้วย” สัตยา กล่าว
ภก.วรวิทย์ กิตติสุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 (อุบลราชธานี) หัวหน้าโครงการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ สสส. ผู้เดินหน้าผลักดันให้มีการรณรงค์เลิกใช้นำมันทอดซ้ำเล่าว่า ธรรมชาติของน้ำมันปรุงอาหาร เมื่อค่าโพล่าร์คอมเพาว์ ใกล้ 25% หากเติมน้ำมันใหม่ จะเร่งการเสื่อมสภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากผู้ปรุงอาหาร ทราบว่า น้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร มีค่าโพล่าร์คอมเพาว์ ใกล้ 25% ต้องต้องเปลี่ยนเป็นน้ำมันใหม่ทันทีเพื่อลดความเสี่ยงของผู้บริโภค ไม่ให้ต้องเจ็บป่วยโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้แล้วยังเป็นการช่วยลดภาวะท่อน้ำอุดตันได้ เนื่องจากหากเราเทน้ำมันลงในท่อระบายน้ำ เมื่อน้ำมันโดนน้ำจะเกิดไขก่อตัวเป็นก้อนอุดทางน้ำไหล
“มีการวิจัยยืนยันแล้วน้ำมันทอดซ้ำหลายๆครั้งสามารถก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ในเชื้อแบคทีเรีย ก่อให้เกิดเนื้องอกในตับ ปอด และก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวในหนูที่นำมาทดลอง ฉะนั้นเลี่ยงได้ก็ต้องเลี่ยงเพื่อสุขภาพและความปลอดภัย” ภก.วรวิทย์ กล่าว
สุพจน์ อรุณโน ครูชำนาญการโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.บุรีรัมย์ ผู้คิดค้นเครื่องกรองน้ำมันใช้แล้วเพื่อนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลซึ่งเป็นนวัตกรรมชิ้นหนึ่งที่ผลิตง่ายใช้สะดวกเพียงแค่ปั่นก็ได้ไบโอดีเซลมาใช้ พร้อมกับได้เล่าถึงแนวคิดว่า การผลิตเครื่องกรองน้ำมันที่ใช้แล้วนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องพลังงานทดแทนได้ และยังเป็นการแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนที่มีความจำเป็นในการใช้มันมาก อีกทั้งให้ความสะดวก ลดปัญหาน้ำมันเหลือใช้ และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันได้มาก เนื่องจากไบโอดีเซลที่ผลิตได้จากน้ำมันทอดซ้ำนี้ขายในราคาลิตรละ 12 บาทเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันซึ่งตอนนี้ลิตรละประมาณ 30 บาทก็ประหยัดได้เท่าตัว
นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายชุมชนย่านตาขาว จังหวัดตรัง เป็นชุมชนตัวอย่างที่มีความตื่นตัว ร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะระดับชุมชน โดยร่วมมือกับเทศบาลย่านตาขาว จัดให้มีระบบการตรวจสอบน้ำมันทอดเสื่อมสภาพในชุมชน และจัดระบบรับซื้อน้ำมันเสื่อมสภาพมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ทั้งนี้โดยความร่วมมือของผู้ประกอบการอาหาร ภายใต้ความเข้มแข็งของชุมชน ผลการดำเนินงาน คือ ผู้บริโภคปลอดภัย ไม่ต้องบริโภคอาหารที่ทอดด้วยน้ำมันเสื่อมสภาพ และประการสำคัญ คือ น้ำมันที่เสื่อมสภาพ ไม่ถูกนำไปกรอง ฟอกสี แต่ยังมีสารพิษตกค้าง ถูกนำกลับมาจำหน่ายให้คนมีรายได้น้อย หรือพ่อค้า แม่ค้า นำมาใช้ปรุงอาหารอีก หลายราย นำไปทาเส้นก๋วยเตี๋ยว เพื่อมิให้เส้นติดกัน หรือนำไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ที่เราบริโภค
//////////////////////////////////

ภัยเงียบยาปฏิชีวนะเกิดภาวะ “ดื้อยา”พบไทยนำเข้าและผลิตสูงสุด

ภัยเงียบยาปฏิชีวนะเกิดภาวะ “ดื้อยา”พบไทยนำเข้าและผลิตสูงสุด
---------------------------------
โปรย : ภาวะดื้อยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่แค่เรื่องของโรงพยาบาลที่ต้องแก้ปัญหา แต่ได้ก้าวล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม การนำศิลปะชี้ภัยจะดึงดูดความสนใจของประชาชนให้เล็งเห็นผลเสียที่เกิดขึ้น หลังพบคนไทยนำเข้าและผลิตสูงสุดเป็นอันดับ1
--------------------------------
“ยาปฏิชีวนะ”หรือ“ยาต้านจุลชีพ”เป็นยาที่สกัดได้จากจุลินทรีย์และราพันธุ์ต่างๆ คนทั่วไปนิยมเรียกกันติดปากว่า“ยาแก้อักเสบ”คือ ยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อจุลชีพชนิดอื่น ๆ เป็นกลุ่มยาที่มีอัตราการใช้มากที่สุด เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย แต่ละปีมีมูลค่าของการใช้เป็นจำนวนมหาศาล ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลและร้านขายยา ยาปฏิชีวนะมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเพนิซิลลิน อีรีโทรมัยซิน เตตราซัยคลิน คลอแรมเฟนิคอล สเตรปโตมัยซิน นอกจากนี้ยาปฏิชีวนะยังรวมถึงยาที่สังเคราะห์ขึ้นตามกระบวนการทางเคมี เช่น ยาประเภทซัลโฟนาไมด์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารสุข (สธ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นผลเสียที่ตามมาจึงจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันเรื่องการรณรงค์การใช้ยาอย่างเหมาะสมเพื่อลดปัญหาพฤติกรรมการใช้ยาเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเชื้อ “ดื้อยา” พร้อมปลุกกระแสสังคมให้ฉลาดใช้ยาหลังพบวันรุ่นหันพึ่งอาหารเสริม กาแฟ และยาลดความอ้วนเพียบ ขณะที่ กพย.จัดโครงการสานศิลป์ในป่าสวย เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ในการใช้ศิลปะแนะนำยา ดึงดูดความสนใจของประชาชน ให้เห็นผลเสียของการกินยาเกินขนาด โดยปัญหาการใช้ยาเกินขนาดของคนวัย 31-45 ปี จะพบอาการ“ดื้อยา” มากที่สุดถึงร้อยละ 24.6 สร้างความเสียหายร่วม 20,000 ล้าน จึงเป็นเรื่องที่ควรเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง
นพ.ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ชนิดยาปฏิชีวนะ 5 ลำดับที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์นำไปสู่การดื้อยาคือ1.เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 2.อะม็อกซี่ซิลิน (amoxicillin) 3.ไอบูโปรเฟน (ibuprofen) 4 .ซัลฟาเมทธอกซาโซล และ5. ไตรเมทโธพริม (sulfamethoxazole+trimethorprim) สะท้อนให้เห็นว่า ยาที่เข้าข่ายทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์สูงสุด 25 อันดับแรกนั้นเป็นยาปฏิชีวนะถึง 15 รายการ และประเด็นที่น่าเฝ้าระวังคือยาเพนนิซิลิน และอีริโธมัยซิน ที่เคยใช้เป็นยารักษาโรคปอดบวมได้ผลนั้น เริ่มเกิดอาการดื้อยา โดยในปี 2541-2550 พบการดื้อยาเพนนิซิลินจาก 47% เป็น 61% และดื้อยาอิริโธมัยซินจาก 27% เป็น 54% และล่าสุด พบว่า การพัฒนายาใหม่เพื่อใช้แทนยาเพนนิซิลินและอีริโธมัยซิน ที่ไม่พบการดื้อยามาตั้งแต่ปี 2544 แต่ขณะนี้เริ่มมีการดื้อยามากขึ้น ขณะที่ความต้องการยาปฏิชีวนะชนิดใหม่เพื่อต่อสู้กับเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มการค้นคิดยาปฏิชีวนะชนิดใหม่กลับลดลง เนื่องจากเป็นกลุ่มยาที่อาจไม่คุ้มค่าในการลงทุนศึกษาวิจัย เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาทำให้ประสิทธิภาพของยาในการรักษาโรคติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนตลาดของยากลุ่มที่รักษาโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน และเบาหวาน ที่คงประสิทธิภาพการรักษาและอยู่ในตลาดได้เป็นเวลานาน พฤติกรรมการใช้ยาของคน จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และมีความจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ
ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. เล่าถึงสาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยาว่าเกิดจากการใช้ไม่ถูกต้อง และการใช้เกินความจำเป็น สะท้อนจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะของประเทศไทย พบว่า ประชาชนมีการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็น เช่น โรคหวัด ประมาณ 40-60% ในภูมิภาค และ 70-80% ในกรุงเทพมหานคร ภาวะดื้อยา ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้ยาที่แพงขึ้น และต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานขึ้น เพราะภาวะดื้อยาทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง ไม่คุ้มการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของสหรัฐอเมริกาที่สูญเสียเงินปีละ 4-5 พันล้านดอลล่าร์ จากปัญหาการดื้อยา เช่นเดียวกับยุโรปที่สูญเสียปีละ 9 พันล้านยูโร ขณะที่ตัวเลขของ อย.ระบุว่า ประเทศไทยผลิตและนำเข้ากลุ่มยาฆ่าเชื้อ รวมถึงยาปฏิชีวนะ สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของการผลิตและนำเข้ายาทั้งหมด โดยในปี 2550 การผลิต และนำเข้ายากลุ่มปฏิชีวนะมีมูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือประมาณ 20% ของมูลค่ายาทั้งหมด
ส่วน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญเร่งด่วนสำหรับเยาวชนคือ การบริโภคผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนในเด็กและเยาวชน เช่น ยาลดน้ำหนัก กาแฟ อาหารเสริม ซึ่งมักโฆษณาเกินจริง จนทำให้เกิดการใช้ที่ไม่เหมาะสม และบางรายอาจทำให้เกิดภาพหลอน และนำไปสู่ภาวะการกดประสาท ซึ่งการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงระดมความร่วมมือจากหลายคณะ ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ และร่วมกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข และ สสส. เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีความรู้และเข้าใจถึงประเด็นการใช้ยาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพฤติกรรมการใช้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ เป็นเรื่องยากที่จะไปกระตุ้นความคิด ความเข้าใจ และความตระหนักของประชาชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ให้เข้าใจถึงปัญหาเหล่านี้ การนำศิลปะเข้ามาสู่เรื่องการรณรงค์เพื่อให้คนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อกระตุ้น และแสดงความห่วงใยออกมาผ่านงานศิลปะ ซึ่งความจริงแล้วปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะไม่ใช่แค่เรื่องของโรงพยาบาล แต่ได้ก้าวล้ำไปสู่เรื่องปัญหาใหญ่ทางสังคม การให้บุคคลากรทางการแพทย์ได้เห็นธรรมชาติจะได้สร้างสรรค์งานศิลปะเรื่องไมโคร ของจุลินทรีย์ ที่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งในการดื้อยา เพื่อสะท้อนชี้จุดและเพิ่มแรงบันดาลใจ ซึ่งเชื่อว่าการใช้ศิลปะในการรณรงค์จะได้ผล และตัวเราต้องเข้าใจศิลปะ ไม่ใช่ว่าภาพที่ออกมาคนอ่านแล้วจะเข้าใจเลย และทำให้มีความรู้เลย แต่ศิลปะสามารถเป็นแรงบันดาลใจ เพราะศิลปะมีความพิเศษเป็นสิ่งที่ดี การที่เลือกศิลปะมาเป็นสื่อเนื่องจากมีตัวอย่างบางประเทศได้ทำมาแล้ว เพราะสามารถดึงคนมาเป็นส่วนร่วมได้ สามารถกระตุ้นให้คนตระหนักคิด ฉุกคิดตามได้ ความตื่นตัวตรงนี้นับว่าดี ซึ่งอาจจะมีการขยายจัดต่อบางพื้นที่ได้ ซึ่งทุกคนก็ตื่นตัวเรื่องปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะอยู่บ้าง
/////////////////////////////////////