วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

องค์กรเน้น Happy 8 คุณภาพชีวิตพนักงานดีขึ้นทันตา

โปรย : ถ้า “หัวหน้า” มีภาวะผู้นำ หรือแค่ปรับเปลี่ยน “พฤติกรรม” ที่ไม่พึงประสงค์บางอย่างได้ แค่นี้พนักงานก็แสนจะสุขใจ และได้ Happy Workplace ขึ้นมาแบบทันตาเห็นเลยทีเดียว
--------------------------------------
จากกรณีที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆได้เติบโตในเมืองไทย และเกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ด จนเกิด เจนเนอร์เรชั่นแก็ป (Generation Gap) ในที่ทำงาน จนนำมาซึ่งวิธีการหาทางออกในการแก้ปัญหาและการรับมือปัญหาเหล่านี้ ของผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ แผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดมหกรรมแฮปปี้ เวิร์กเพลซ ฟอรั่ม (Happy Workplace Forum) 2010 ขึ้นที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อให้สถานประกอบการเกิดการรวมกลุ่ม เกิดความสามัคคีและการรวมพลังของพนักงานในการผลักดันสามารถดำเนินกิจการ ก้าวผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจไปได้
โดย Happy Workplace 8 ประการที่สถานประกอบการควรจะมีไว้ นั่นคือ Happy Body สุขภาพดี มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ Happy Heart น้ำใจงาม มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกันและกัน Happy Soul ทางสงบ มีความศรัทธาในศาสนาและมีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต Happy Relax ผ่อนคลาย รู้จักผ่อนคลายต่อสิ่งต่างๆในการดำเนินชีวิต Happy Brain หาความรู้ การศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองตลอดเวลา Happy Money ปลอดหนี้ มีเงินรู้จักเก็บ รู้จักใช้ ไม่เป็นหนี้ Happy Family ครอบครัวดี มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง และ Happy Society สังคมดี มีความรักสามัคคี เอื้อเฟื้อต่อชุมชนที่ตนทำงานและที่พักอาศัย
บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึง ความสุขในที่ทำงาน ว่า นั่นคือการเห็นพนักงานมีความสุข และผู้บริหารก็ต้องพยายามเป็นตัวการทำให้พนักงานมีความสุขและความสำเร็จ แต่มีข้อแตกต่างของแต่ละยุค อย่างพวกเอ็กซ์ คือ ต้องการความสุข ได้ทำงาน มีผลงาน มีความสำเร็จ มีรายได้ มีความเจริญก้าวหน้า มีลูกน้องที่ดี กลุ่มวาย คือ ได้เครื่องบีบีใหม่ รู้จักเพื่อนในเฟสบุ๊คส์ใหม่ ความสุขของเขาคือความสนุกสนาน ซึ่งแต่ละความต้องการสุดท้ายก็จะตอบสนองความเป็นคน อยากให้มองแต่ข้อดีของเขา และละเลยข้อด้อย เพราะไม่มีคนในยุคไหนที่สมบูรณ์แบบ แต่ถ้าหากเราสามารถเลือกใช้ศักยภาพของเขาในจุดเด่นได้ ก็จะทำให้ประสบผลสำเร็จ และพนักงานก็มีกำลังใจทำงานต่อไป ที่สำคัญการสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงาน การเพิ่มแรงกระตุ้นนั้นจะช่วย ให้พวกเขามีแรงผลักดันในการทำงานมากขึ้นอย่างมีความสุข
“เราต้องคิดหวังดีกับคนอื่นที่มาทำงานร่วมกับเรา ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่าจะทำให้เขาทำงาน จิตใจไม่เคยหวังดีเลย เมื่อถึงเวลาก็ไล่เขาออก แต่ต้องคิดว่าเมื่อมาทำงานกับเราแล้วต้องให้เขาเจริญก้าวหน้าไปพร้อมกับองค์กร การหวังดีกับคนอื่นโดยการอโหสิกรรมและแผ่เมตตา หวังให้ประสบความสำเร็จโดยสุจริต” บุญเกียรติ กล่าว
วีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึงพนักงานในบริษัท โดยยอมรับว่า พนักงานกว่าครึ่งเป็นเจนเนอร์เรชั่นวาย และอีก 30% เป็นเอ็กซ์ ถ้าเราเข้าใจแต่ละเจนเนอร์เรชั่นแล้ว ก็สามารถนำจุดดีของพวกเขามาช่วย ในการพัฒนาองค์กรได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุขในการทำงานด้วย เช่น ยุคเบบี้บูม เป็นนักสู้ ยุคเอ็กซ์ ชีวิตชอบมีสังคม ยุควายอยู่ในยุคที่พร้อม มีข้อมูล และความท้าทายได้คิดในสิ่งที่อยากทำ ส่วนรุ่น “บีบี” ยุคนี้จะถึงในจุดที่อยากสอน อยากถ่ายทอดในสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่มีในตำราแต่มาจากประสบการณ์จริง โดยที่คนทุกยุคมีศักยภาพที่แตกต่าง แต่เราจะปรับอย่างไรให้กลุ่มนี้ได้งานที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทต้องมีแผนรองรับเพื่อให้ทำงานอย่างมี ความสุข ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อการแข่งขันในระดับโลก โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละวัยให้ เป็นประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ วีรศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงทัศนคติในการทำงานว่า “เรื่องของคนดีและคนเก่งควรจะเกิดขึ้นในทุกๆจุดของสังคมไทยแล้วไม่ว่าจุดไหนของสังคมไทยเราจะต้องเรียกร้องคนที่ดีและเก่ง ถ้า “หัวหน้า” มีภาวะผู้นำ หรือแค่ปรับเปลี่ยน “พฤติกรรม” ที่ไม่พึงประสงค์บางอย่างได้ แค่นี้พนักงานก็แสนจะสุขใจ และได้ Happy Workplace ขึ้นมาแบบทันตาเห็นเลยทีเดียว”
อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการบริษัท เอเชีย พรีซิชั่น จำกัด ได้เล่าถึงการใช้เทคโนโลยีในบริษัท ว่า เป็นเรื่องยากที่จะปลูกฝังคุณธรรมความดีท่ามกลางกระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ที่ผู้คนถูกสอนให้ถือเงินเป็นใหญ่เพราะเงินเป็นปัจจัยที่สามารถซื้อหาความสุขมาใส่ตัว สังคมผลักดันให้ผู้คนคิดหาวิธีทำอย่างไรจะรวย ซึ่งจะนำไปสู่การเบียดเบียนธรรมชาติ แม้จะเป็นเรื่องยากแต่ก็ต้องทำ พอทำได้ก็สมควรที่จะทำเพราะการปลูกฝังคุณธรรมความดีโดยอาศัยวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันแบบไทยไทย ที่มีความเอื้ออารีต่อกัน ถือคุณค่าทางจิตใจเป็นสำคัญ บริษัทจึงยึดแนวปฏิบัติในการสร้างคนให้เป็นคนดีในเนื้อแท้ผ่านทางกิจกรรมพัฒนาต่างๆทั้งในและนอกสถานที่ทำงาน การที่บริษัทมีปณิธานสูงสุดในการมุ่งสร้างคนดี แทนคุณแผ่นดิน และกำหนดคุณสมบัติพึงประสงค์ 5 ประการ คือ วินัย สามัคคี เสียสละ คุณธรรม กตัญญู โดยได้น้อมนำมาจากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“บริษัทเราภูมิใจที่ได้เติบโตมาจากกิจการขนาดเล็กของคนไทย รักษาตนเองให้ผ่านวิกฤติด้วยความอดทนของพนักงานทุกคน จนสามารถสร้างความเติบโตก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง โดยยึดหลักพอเพียงอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งปลูกฝังคุณธรรมความดี วันนี้เราพูดได้เต็มภาคภูมิใจว่า เอเชีย พีซิชั่น ได้มุ่งสร้างคนดี แทนคุณแผ่นดิน อย่างแท้จริงด้วยการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทด้วยความกตัญญู” อภิชาติ กล่าว
สุรศักดิ์ ตั้งวงศ์ประเสริฐ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด บอกถึงวิธีการทำให้พนักงานมีความสุข ว่า ภายในบริเวณโรงงานมีการจัดสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องอาหารที่สะอาด อร่อย ถูกสุขลักษณะ ราคาถูกไว้บริการ มีห้องอ่านหนังสือ มีสโมสรสุขภาพ พร้อมด้วยเครื่องออกกำลังกายที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้พนักงานได้พักผ่อนและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มีความรู้สึกเหมือนกับว่าได้อยู่บ้านของตัวเอง นอกจากนี้ทางโรงงานยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว โดยทางโรงงานได้มีการจัดกิจกรรมวันครอบครัวและงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่เป็นประจำทุกๆปีโดยที่พนักงานสามารถพาครอบครัวมาร่วมงานเลี้ยงได้
“ทางโรงงานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและพยายามหาวิธีการที่จะทำให้พนักงานของเรารู้สึกว่าการมาทำงานไม่ได้เป็นเพียงแค่การมาเพื่อทำงานแลกกับค่าจ้างหรือเงินเดือนเท่านั้น แต่เราส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของและเราพยายามทำให้โรงงานเป็นบ้านหลังที่สองของพนักงานอีกด้วย ซึ่งผมมองทั้ง 8 ประเด็นน่าจะเป็นสิ่งที่ใช้ชี้วัดคุณภาพชีวิตของผู้ที่ทำงานได้แน่นอน ถ้าพนักงานไม่มีความสุข การทำงานและการให้บริการก็จะทำได้ไม่ดีนัก” สุรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
//////////////////////////////

เดลิเวอรี่น้ำนมแม่เพื่อภูมิคุ้มกันลูกน้อยวัยแรกเกิด

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการเริ่มต้นในการการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกน้อยวัยแรกเกิด นอกจากจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดแล้ว ยังสามารถสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูกได้ดีที่สุดอีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุให้ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายมุมนมแม่จังหวัดต่างๆจัดโครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการขึ้น
อังสนา วงศ์ศิริ พยาบาลที่ทำงานด้านนมแม่มากว่า 7 ปี ที่ จังหวัดบุรีรัมย์ และยังได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานกว่า 6 เดือนอีกด้วย และลูกของเขายังได้เป็นใบเบิกทางเพื่อให้พูดได้เต็มปากว่า “นมแม่ดีที่สุด” เพราะเขาได้พิสูจน์มาแล้ว เมื่อลูกชายของเขาคว้า “รางวัลที่1 พัฒนาการดี...เริ่มที่นมแม่” ระดับจังหวัดมาให้ได้ชื่นใจตั้งแต่ยังไม่ทันจะขวบครึ่งแล้ว ซึ่งเขาก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้คุณแม่หลายคนฟังเพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่น เพราะหากใครสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้ 6 เดือนนั้น ถือว่านั่นคือความสำเร็จของทั้งแม่และลูก แต่หากใครทำไม่ได้เขาคิดว่าน่าจะเป็นเพราะผลกรรมที่เด็กสร้างมาเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ อังสนา ยังได้เล่าถึงเรื่องราวของ “โจ” พยาบาลรุ่นน้องที่รั้งตำแหน่ง “คุณแม่มือใหม่” ให้ฟังว่า ชั่วโมงแรกที่โจฟื้นขึ้นมาสิ่งแรกที่เขาทำนั่นคือนำลูกน้อยที่เพิ่งคลอดได้ไม่นานมาดูดนมบนอก และ อังสนา ก็บอกกับโจว่า “เลี้ยงนมแม่ให้ได้นะ พี่รู้ว่าโจทำได้” จากนั้นโจก็ได้นำลูกน้อยไปอยู่กับย่าที่จังหวัดอ่างทอง แล้วตัวเองกลับมาทำงาน อังสนา เลยเกิดความคิดว่า “เราต้องทำให้เธอเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้” งานโน้มน้าวจิตใจจึงเริ่มขึ้น เมื่อพูดคุยกับโจกว่าครึ่งชั่วโมงในทุกเรื่องที่คิดว่าสำคัญ และแนวทางที่จะร่วมกันดูแลในการรักษาสิทธิให้ลูกได้กินนมแม่ต่อไป “หนูบีบของหนูอยู่ มีหลายถุงไม่ได้นับ วันหลังหนูถึงจะบีบนม !” นี่เป็นคำพูดสรุปอย่างมั่นใจของโจ แต่ อังสนา กลับคิดว่า โจพูดเหมือนกับว่าขอคิดดูก่อน
ทว่าไม่รู้อะไรดลใจให้โจเปลี่ยนใจเข้าร่วมกลุ่ม จากนั้นทุกคนที่เป็นแม่ลูกอ่อนก็ผลัดกันพูดชักจูงใจให้เธอได้คิดถึงแต่สิ่งดีๆในนมแม่และการบีบนมแบบช่วยกัน ท่าทางของโจมีความตื่นเต้นระคนแปลกใจกับบรรยากาศต้อนรับ เพราะนี่เป็นครั้งแรกกับการบีบนมโดยมีผู้ช่วยบีบคนละข้างที่ได้ปริมาณถึง 6 ออนซ์ แต่แล้ววันหนึ่งทางบ้านของโจได้ส่งข่าวมาบอกว่านมที่บีบไว้งวดลงทุกที โชคดีที่บรรดาพยาบาลแม่ลูกอ่อนได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น ต่างพากันหยิบยื่นน้ำนมที่บีบไว้มอบให้โจ ซึ่งโจก็ตอบรับการช่วยเหลือเหล่านั้น เพราะคิดว่า “นมผงยี่ห้อไหนก็ไม่อยากให้ระคายกระเพาะลูกน้อย นอกจากนมแม่เท่านั้น”
การหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับโจครั้งนี้เป็นเพราะนมแม่สอนในเรื่องการให้โดยไม่มีเงื่อนไขและไม่มีผลตอบแทน เขาอาจหาญที่จะหยิบยื่น “นมตัวเอง” ให้กับโจโดยไม่ต้องการคำตอบ เพียงเพื่อ “อยากให้” จากนั้น 10 นาทีสุดท้าย กล่องนมอยู่ในสภาพพร้อมส่ง ซึ่งโจจะต้องนำกล่องที่บรรจุนม 74 ถุง ไปส่งขึ้นรถทัวร์ที่ บขส.บุรีรัมย์ เพื่อไปส่งที่ บขส.สระบุรี แล้วให้สามีขับรถจากค่ายทหารลพบุรีมารับที่ บขส.สระบุรี แล้วเอานมไปส่งให้ลูกที่ จ.อ่างทอง แต่บ้านของโจอยู่อำเภอโพธิ์ทองต้องต่อไปอีกประมาณ 29 กิโล รวมๆแล้วระยะทางทั้งหมดก็ 419 กิโล กว่านมจะไปถึงลูกก็ค่ำพอดี
เวลาผ่านไปไม่นานความมุมานะในการบีบเก็บน้ำนมของโจ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก กลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่เธอขาดไม่ได้ บางครั้งถึงกับอดหลับอดนอน เพื่อทำสต๊อกน้ำนมและส่งไปให้ทันกับความต้องการของลูก ไม่เพียงเท่านี้ โจ ยังทำหน้าที่ “ทูตนมแม่” โดยแนะนำชักชวนให้แม่มือใหม่หลายต่อหลายคน รวมถึงกลุ่มบุคลากรที่มาดูงานเห็นผลดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และรับรู้ถึงวิธี “บีบ..เก็บ..แพ็ค..ส่งน้ำนม” อย่างมีคุณภาพอีกด้วย ซึ่งโจสามารถให้นมแม่ได้อย่างเดียว 6 เดือน โดยการส่งผ่านรถประจำทาง ซึ่งการจัดส่งครั้งนี้ดูเหมือนว่าโจจะได้กำไรด้วยซ้ำเพราะการส่งนมนานกว่า 6 เดือนนั้น ลูกน้อยของเขาไม่เคยเจ็บป่วยเลยแม้แต่ครั้งเดียว แบบนี้คุ้มยิ่งกว่าคุ้มเป็นไหนๆ
ด้าน อภิญญา หน่ออุ่น คุณแม่ลูกอ่อนวัย 30 ปี ที่ทำงานเป็นพนักงานฝ่ายผลิตบริษัท แมรี่กอท จิวเวอร์รี่ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า หลังจากคลอดลูกก็ได้เลี้ยงลูกถึงแค่ 6 เดือน ก็กลับมาทำงาน ให้ลูกอยู่กับยายที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ใกล้กับลูกถึงขนาดร้องไห้เพราะคิดถึง พร้อมกับเกิดความกังวลว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้นมลูกได้ ทางบริษัทก็ได้ให้คำแนะนำว่าให้บีบนมแช่ช่องฟรีซจะอยู่ได้ถึง 3 เดือน ตรงนี้เลยทำให้เราหันมาบีบนมเพราะอาจทำให้เราคลายความคิดถึงลงได้ ซึ่งทางบริษัทก็ได้จัดมุมนมแม่ในห้องพยาบาลทุก 2 ชั่วโมง ก็จะมีคุณแม่ลูกอ่อนกว่า 10 คน มาบีบนมพร้อมกัน โดยบริษัทได้จัดถุงนม ตู้เย็นไว้ให้แช่ วันหนึ่งก็จะได้ประมาณ 20 ออนซ์ แต่ความจริงน้องจะทานอยู่ที่ 40 ออนซ์ต่อวัน แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กก็ 2 ชั่วโมงต่อครั้ง
“คุณภาพชีวิตของคุณแม่ที่ทำงานรู้สึกดี เพราะบริษัทให้โอกาสกับพนักงาน ให้เรามีความผูกพันกับลูกมากขึ้น ลูกกินนมแม่ ที่มีภูมิต้านทานมากกว่านมผง ลูกไม่เจ็บป่วย คุณแม่ก็ไม่ต้องหยุดงานบ่อย” อภิญญา กล่าว และได้เล่าถึงวิธีการจัดส่งไปให้ลูกที่จังหวัดพิษณุโลกนั้นว่าได้นำถุงนมใส่กล่องโฟมอบนำแข็ง แล้วใช้สก๊อตเทปปิดให้สนิท เพื่อส่งไปกับรถทัวร์กว่าจะไปถึงก็ประมาณ 4-5 ชั่วโมง และเวลาจะนำนมมาให้เด็กดูดนั้นก็จะนำมาละลายกับน้ำอุ่น ทำให้เกิดการประหยัดได้กว่า 2,000 บาทต่อเดือน ตรงนี้ก็อยากจะแนะนำให้คนอื่นลองไปทำดูจะได้เกิดความผูกพันกับลูกมาขึ้น แม้นานๆจะได้กลับบ้านลูกก็จะยังติดเรา ซึ่งแตกต่างจากคุณแม่คนอื่นๆที่ลูกจะไม่ให้เข้าใกล้
“ก็รู้สึกดีได้ผูกพันกับลูก อย่างน้อยก็ได้กลับบ้านหาลูกเดือนละครั้ง ได้เจอลูก เพราะเคยเห็นคนอื่นที่เขาเอาลูกกลับไปอยู่บ้าน พอกลับไปเยี่ยมลูกไม่ให้อุ้ม ไม่ให้เข้าใกล้ แต่กับเราที่เขาได้เห็นหน้าพอเรากลับไปบ้านลูกก็จะกระโดดวิ่งเข้าหา เรียกเราว่าแม่ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความผูกพันระดับหนึ่ง บางทีสามีหยุดงานก็จะกลับพร้อมกัน” อภิญญา กล่าวทิ้งท้าย
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจไม่ใช่ทางเลือกของคุณพ่อคุณแม่ทุกคน แต่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก และไม่เพียงทำให้ลูกได้อาหารที่มีคุณค่า แต่ยังช่วยพัฒนาจิต ขัดเกลาชีวิต และเรียนรู้ธรรม – สอนให้เข้าใจธรรมชาติ เราจะก้าวย่างไปสู่ความรักที่บริสุทธิ์ ไร้เงื่อนไขมากขึ้น และละเอียดอย่างไม่มีขีดจำกัด
นอกจากนี้ ในวันที่ 29 ก.ค. 2553 เวลา 13.00 น.- 16.00 น. ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศูนย์มุมนมแม่แห่งประเทศไทย จัด “แถลงความร่วมมือของภาคเอกชนในโครงการ CSR มุมนมแม่ในสถานประกอบการ” พร้อมเสวนา “คุณแม่ยุคใหม่ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคมไทย”
/////////////////////////////////

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปฏิรูปประกันสังคม!ดันเป็นองค์การอิสระหวังได้สิทธิประโยชน์มากยิ่งขึ้น

แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เตรียมผลักดันสปส.ขึ้นสู่องค์การอิสระหวังผู้ประกันตนรับสิทธิมากขึ้น
ที่โรงแรมหลุยส์ แทรเวิร์น ดอนเมืองกรุงเทพฯ แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา"ทัศนะและแนวทางปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์การอิสระ" หวังการปฏิรูปประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระโปร่งใส ขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตน
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้สำนักงานประกันสังคมมีระบบที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนโยบายเกี่ยวกับแรงงานการปฏิรูปให้มั่นคงนั้นแรงงานจะต้องได้รับสิทธิ์ด้านการดูแลให้ครอบคลุม โดยใจความสำคัญของการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์การอิสระ คือ 1.ต้องปฏิรูปตัวสำนักงานใหญ่2.ปรับปรุงสำงานเพื่อให้มีผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญในการปฏิรูปส่วนใดส่วนหนึ่งในสำนักงาน จากโครงสร้างหรือสำนักงานใหญ่ที่มีอยู่เดิม ซึ่งการปฏิรูปตรงนี้เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้แรงงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการบริหารด้วย โดยจะมีการคัดเลือกผู้แทนฝ่ายแรงงานเข้าร่วมตรวจสอบกระบวนการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์การอิสระ
"ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้จากการปฏิรูปตรงนี้ชัดเจนมาก เพราะเวลาปฏิรูปเป็นองค์การมหาชนแรงงานจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารระบบประกันสังคมให้ครอบคลุม เนื่องจากกระบวนการต้องเปิดเผยทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน มีการออกแบบกระบวนการคัดเลือกผู้เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เป็นประโยชน์ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง" นายบัณฑิตย์ กล่าว
นายกอบ เสือพยัคฆ์ สำนักงานประกันสังคม จังหวัดน่าน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมควรเป็นองค์กรอิสระแต่ยังคงความเป็นสำนักงานประกันสังคมเอาไว้ คือ เป็นองค์การมหาชนในกระทรวงแรงงาน โดยจะต้องมีสมัชชาที่มาจากการเลือกตั้งของนายจ้างและผู้ประกันตนจังหวัดละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกคณะกรรมการทุกคณะ และสรรหาเลขาธิการ เพื่อแก้ไของค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ คุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการอุทธรณ์ โดยจะทำอย่างไรให้กฎหมายออกมาเป็นรูปธรรม เพราะหากไม่มีสมัชชาที่เข้าร่วมสำนักงานประกันสังคมการเสนอร่างกฎหมายก็จะไม่สามารถผ่านสภาได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สุกงอม ควรรีบดำเนินการผลักดันให้เร็วที่สุด
ดร.อารักษ์ พรหมณี ผู้อำนวยการกองทะเบียนและประมวลผลสำนักงานประกันสังคมกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม ควรรีบปรับปรุงให้เป็นองค์อิสระเนื่องจากสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นชนบทหรือตัวเมือง การดำเนินชีวิตก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามกระแส ซึ่งการเป็นผู้ประกันตนนั้นมีส่วนร่วมของไตรภาคีเข้ามาคือการให้ความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนร่วมในกองทุนประกันสังคมนอกจากนั้นในเรื่องของอำนาจก็ถูกผูกขาดในการเข้ามา โดยจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางโดยในเรื่องของไตรภาคีควรปรับปรุงเป็นพหุภาคีในเรื่องการดูแลให้มีความเข้มแข็ง มีความเป็นอิสระมีความชอบธรรม มีความยั่งยืน การปฏิรูปแล้วควรได้รับความเป็นอิสระ
"การปฏิรูปควรปฏิรูปอะไร ต้องดูที่โครงสร้างการเข้าสู่อำนาจ จะทำอย่างไรให้เข้าสู่อำนาจ การปฏิรูปเรื่องการคุ้มครอง กรปฏิรูปของภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมเช่น การเข้าสู่อำนาจ การบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ จะปฏิรูปการบริหารความรับผิดชอบโดยสิ่งใด เช่นระบบประโยชน์ทดแทน ต้องก้าวข้ามคำว่าแรงงานซึ่งต้องได้รับสิทธิ์ความคุ้มครอง ปฏิรูปโครงสร้างการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบจากภาคแรงงาน" ดร.อารักษ์ กล่าว
นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ อดีตผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมควรแก้ไขหลักเกณฑ์การส่งเงินสมทบทุนในกรณีที่ผู้ประกันตนสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเพื่อขยายสิทธิประโยชน์และระยะเวลาที่จะได้รับสิทธิตามบทบัญญัติเมื่อสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ซึ่งฐานค่าจ้างของมาตรา 33 สำหรับการคำนวณเงินสมทบไม่กำหนดอัตราสูงสุด ขึ้นอยู่กับฐานค่าจ้างแต่ละคนโดยรัฐจะต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของผู้ประกันตน ต้องไม่อยู่ภายใต้ระบบบริหารราชการแผ่นดินอยากให้ปรับและมีอิสระในการบริหารการลงทุนและมีอาชีพเสริมเข้ามาช่วยตรงนี้ด้วย
นายมนัส โกศล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแรงงาน รองนายกรัฐมนตรี ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรีกล่าวว่า ตนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมมาโดยตลอด โดยมีการเสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เข้าสู่ที่ประชุมสภาเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพกาลปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม โดยมีการคัดเลือกตามสัดส่วนขององค์กร ซึ่งคุณสมบัติของคณะกรรมการประกันสังคมต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่หรือราชการของรัฐและไม่มีสัญญาจ้างกับบริษัทที่ไม่เข้าร่วมเป็นผู้ประกันตน

มาตรฐาน ‘ISO 26000’: แผน CSR สากลมิติใหม่เน้น ‘ความยั่งยืน-ไร้ของเสีย-ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม’

ผลกำไรและรายได้ คือดัชนีชี้วัดความสำเร็จขององค์กรภาคธุรกิจ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางครั้งหลายองค์กรจะไม่คำนึงถึงประโยชน์และชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน ควบคู่กับการมองข้ามความต้องการของชุมชน และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง นี่จึงเป็นที่มาของกระบวนการในการจัดการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ที่เน้นแนวคิดในการสร้างความยั่งยืนขององค์กร ขณะเดียวกันก็ทำให้องค์กรสามารถเติบโต และมีผลกำไรได้
จนเป็นที่มาของ “แผนการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ” (CSR: Corporate Social Responsibility) ที่จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานเสวนา “ISO 26000: โอกาสทางธุรกิจหรืออุปสรรคในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของพนักงานและชุมชน” ภายใต้โครงการส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่สถานประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรในสถานประกอบการและชุมชนรอบข้าง ซึ่งมีอุตสาหกรรม SMEs เข้าร่วม 34 บริษัท
ชวาธิป จินดาวิจักษณ์ ผู้อำนวยการโครงการฯ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ได้กล่าวถึง ‘มาตรฐาน ISO 26000’ ตัวใหม่ที่จะเข้ามามีส่วนในการพัฒนาแผน CSR แทนที่ ‘มาตรฐาน ISO2600’ เพื่อเปิดประตูสู่การค้าในระดับสากลอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
“ผมใช้คำว่า ‘ความราบรื่นในการทำธุรกิจ’ เพราะคำนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและการบรรลุต่อวัตถุประสงค์ในเรื่องกำไรและรายได้สูงสุด
ชวาธิปเปิดการขายด้วยหลักการสร้างให้เกิดความสมดุลในการดำเนินการ 3 มิติ ซึ่งประกอบด้วย 1.ต้องเป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Innovation) ที่เน้นการทำงานตั้งแต่การดีไซต์รูปแบบองค์กรที่ช่วยลดพลังงาน เอื้อเฟื้อต่อสภาพแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนรอบข้าง 2.ต้องมีการผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable production) คือ มีแนวคิดต่อยอดการผลิตในด้านอื่นๆที่จะเกื้อหนุนให้เกิดการสูญเสียวัตถุดิบในการผลิตน้อยที่สุด (Zero Waste) และ 3.ต้องมองผู้มีผลประโยชน์ร่วม หรือ Stakeholder เสมือนเป็นองค์ประกอบในวงจรการทำงาน และปฏิบัติต่อพนักงานในระดับเท่าเทียมกัน
“หากบริษัทสามารถทำแผน CSR ให้สอดคล้องตามหลัก ISO 26000 ก็จะให้เกิดความสมดุลในคุณภาพชีวิตของพนักงาน (Work Life Balance)” เขากล่าว พร้อมกับย้ำว่าเพื่อหลีกเหลี่ยงคำถามที่อาจเกิดต่อเนื่องจาก ม.67 ซึ่งต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบทั้งในส่วนสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ก่อนจะมีการประชาพิจารณ์ของสังคมเพื่อให้เกิดการทำประชามติต่อไป แผน CSR จึงมีความสำคัญในการประกอบธุรกิจในระดับสากล โดยเฉพาะชุมชนรอบข้าง
“มาบตาพุดก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนว่า แม้โรงงานจะมีเงินลงทุน บางครั้งก็ไม่สามารถดำเนินการได้ หากชุมชนไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นบริษัทต้องมีแนวทางในสร้างให้เกิดความสมดุล เพราะธุรกิจต่างชาติ เขามักจะมองภาพในการลงทุนระยะยาว โดยเอาผลการดำเนินงานภายใต้ ISO 26000 เป็นตัวตัดสินด้วย” ชวาธิปกล่าว และว่า
สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญต่อการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ส่วนหนึ่งคือการนำข้อกำหนดของ ISO 26000 (ฉบับ Draft International Standard: DIS) ที่ประกอบด้วย 7 ประการมาปฏิบัติดังนี้ 1.การกำกับดูแลองค์กร 2.การเคารพต่อสิทธิมนุษย์ชนของทั้งบุคคลภายในและภายนอกองค์กร 3.การแสดงออกว่าเป็นองค์กรที่มีการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีและคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน การพิจารณาถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 4.การคำนึงถึงความอยู่รอดของผู้ส่งมอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน 5.การดูแลผู้บริโภค 6.คู่แข่งอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบ และ 7.การมุ่งมั่นที่จะมีการส่วนร่วม และการพัฒนาชุมชน ให้มีความยั่งยืนพร้อมๆ กับการเติบโตขององค์กร
“นิยามที่ สสส. ได้ให้ไว้คือ สุขภาวะทางกาย ทางใจ ทางสังคม ทางปัญญา นั่นคือเราต้องมองให้กว้างขึ้น ลงไปหาเหตุให้มากขึ้น อย่ามองเฉพาะหน้างานเท่านั้น ถ้าองค์กรสามารถสร้างกลยุทธ์ที่จะไปเติมเต็มความเป็นทรัพยากรบุคคลโดยเน้นที่สุขภาวะทั้งสี่ด้านดังที่กล่าวมาแล้ว ย่อมทำให้เกิดความเหนือที่เหนือกว่า และนำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืนต่อไป” ชวาธิปกล่าวทิ้งท้าย
ด้านเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า โครงการนี้แม้เราจะเน้นการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กร แต่จุดเด่นอยู่ที่เราดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่า เขาต้องการให้ชุมชนของเขาเป็นอย่างไรบ้าง ต้องการกิจกรรมแบบไหนที่จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ชุมชนในด้านต่างๆ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชนโดยรอบได้ แม้ว่าธุรกิจขนาดเล็กอาจมีข้อจำกัดในการสร้างองค์กร เมื่อมีการมอบรางวัลให้กับต้นแบบธุรกิจ SMEs ที่สามารถทำแผน CSR ได้ ก็น่าจะจุดประกายให้ธุรกิจเล็กสนใจทำเป็นแบบอย่าง เพื่อให้เกิดความสนใจเรื่องสุขภาพในองค์กรเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งหากภาคธุรกิจคำนึงถึงหลัก CSR เฉกเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ SMEs อาทิ บริษัท คาร์เปทเมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอี่ยมเฮง โมดิฟาย สตาร์ช จำกัด โรงงานบะหมี่ตราเพชร (ไท้สูง) เป็นต้น ที่มีความพร้อมในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีเจตนารมณ์ที่พัฒนาศักยภาพขององค์กร โดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมโครงการด้วย ทำให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดี มีรายได้จุนเจือครอบครัว พนักงานมีความสุขในการทำงาน มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนรอบข้าง เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันจนเกิดสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันระหว่างชุมชนกับพนักงาน
ทว่าหากไม่นำหลัก CSR มาปฏิบัติใช้ในธุรกิจก็จะเกิดการต่อต้านระหว่างชุมชนและภาคอุตสาหกรรมอย่างกรณีมาบตาพุดที่เป็นปัญหาใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะสถานประกอบการไม่คำนึงถึงสุขภาวะที่ดีของสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง หวังเพียงกำไรและผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น ชุมชนโดยรอบจึงกลายเป็นแหล่งรองรับมลพิษของโรงงานไปโดยปริยาย

'ติดฉลากไปก็ไร้ผล'องค์กรผู้บริโภคหนุน'รัฐ'เลิกใช้'แร่ใยหิน'ในไทย

แร่ใยหิน"หรือแอสเบสตอส (asbestos)เป็นสารก่อมะเร็งที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งกระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรกและผ้าคลัตช์ ซึ่งอันตรายสำคัญที่เกิดจากแร่ใยหิน คือ การที่อนุภาคของแร่ใยหินสามารถฟุ้งกระจายเข้าสู่ปอดโดยการหายใจ ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับปอดเช่น โรคปอดอักเสบจากแอสเบสตอส หรือแอสเบสโตซิส และที่ร้ายแรงคือโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด
ด้วยสาเหตุอันตรายเหล่านี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้รวบรวมข้อมูลและสื่อสารความรู้ถึงอันตรายของแร่ใยหินแก่ประชาชน ให้ตื่นตัวเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินเพื่อป้องกันอันตรายอีกทั้งขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตคำนึงถึงอันตรายที่จะตามมา อย่าเพียงหวังผลประโยชน์ โดยองค์กรผู้บริโภคและนักวิชาการไม่เชื่อมาตรการติดฉลากคำเตือนได้ผลวอนรัฐบาลแบนวัสดุแร่ใยหิน ได้ผลดีที่สุด
สาเหตุที่หลายฝ่ายอยากให้มีการสั่งห้ามใช้วัสดุแร่ใยหินนั้น รศ.ภก.ดร.วิทยากุลสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)อธิบายว่า แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ที่ยังอนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย เมื่อกระจายเป็นอนุภาคเข้าสู่ปอด จะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงรักษาไม่หาย และมักใช้เวลายาวนานหลังจากสัมผัสกับอนุภาคแร่ใยหิน 20-30 ปีกว่าจะแสดงอาการ โดยในประเทศไทยมีการพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและโรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจำนวนมากถึงกว่าพันรายต่อปี หากจำนวนการใช้แร่ใยหินมีปริมาณมากดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรระหว่างประเทศต่างสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน โดยมี 50 ประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกไปแล้ว เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่นยุโรป ออสเตรเลีย เกาหลี โดยสหรัฐอเมริกา และแคนาดามีการจำกัดสินค้าและการใช้อย่างเข้มงวด
"การศึกษาในต่างประเทศชี้ชัดว่าแร่ใยหินเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับปอด เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกาพบตรงกันว่า การป่วยและการตายจากโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด โรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินและโรคมะเร็งปอด โรคเหล่านี้สัมพันธ์กับปริมาณการใช้แร่ใยหิน การยกเลิกการใช้จึงเป็นทางเดียวที่จะลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต"
สำหรับสินค้าหลักที่มีการใช้แร่ใยหินเช่น กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าผ้าเบรกและผ้าคลัตช์นั้น ปัจจุบันมีวัสดุที่สามารถใช้ทดแทนแร่ใยหินไหม่แล้ว แถมราคาก็ไม่แตกต่าง
ขณะที่มาตรการอื่น ๆ เช่น การให้การศึกษา การติดคำเตือนนั้น ไม่สามารถลดจำนวนการใช้แร่ใยหินได้ เนื่องจากคำอธิบายเข้าใจยาก ประกอบกับการเกิดโรคใช้เวลายาวนาน ส่งผลให้ผู้ใช้ไม่ระวังตัว ทำให้ยากที่จะป้องกันตนเองเวลาใช้สินค้า เช่นการตอก การเลื่อย การตัด การรื้อถอนอาคาร การอัดผ้าเบรก เป็นต้น
"ไม่เชื่อว่ามาตรการปิดฉลากคำเตือนที่จะบังคับใช้จะได้ผล เพราะแทบจะไม่มีใครอ่าน ทำให้ผู้บริโภคยังคงซื้อหาสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินมาใช้ตามปกติ ซึ่งเท่ากับเป็นการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการ ฉะนั้นภาคธุรกิจควรเห็นแก่สุขภาพของประชาชนมากกว่าเม็ดเงินจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐต้องคำนึงถึงสุขภาพประชาชน"
รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าวเสริมว่าการจะดำเนินการให้ยกเลิกโดยทันทีนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งดูแลกฎหมายวัตถุอันตราย ต้องจัดให้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ ซึ่งปัจจุบันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และยอมให้มีการใช้อยู่ เปลี่ยนไปเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิตการนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง
"ต้องยอมรับว่า แม้ยกเลิกวันนี้ก็จะยังมีผู้ป่วยไปอีกนับ 10 ปี เพราะประเทศไทยใช้แร่ใยหินมาหลายสิบปีแล้ว ที่ต้องให้ยกเลิกทันทีก็เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตในอนาคต"
รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าวเสริมอีกว่าอนาคตจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นไปได้จริงหากภาคประชาชนมีความเข้าใจชัดเจนในอันตรายของแร่ใยหิน และเชื่อว่าการให้ข้อมูลเรื่องอันตรายของแร่ใยหินกับประชาชนจะช่วยให้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น
ด้าน ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุลภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า เมื่อวัสดุที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินมีการใช้อยู่ ต้องมีการเฝ้าระวังว่าใครมีการสัมผัสกับวัสดุเหล่านี้บ้าง เพื่อที่จะได้ทำการรักษาและติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดแต่หากไม่มีระบบเฝ้าระวัง คนก็จะไม่ตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหิน เพราะสินค้าใดมีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบคนงานก็มีความเสี่ยง ส่วนคนที่มองว่าวัสดุทดแทนก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น หากเราคิดอีกในแง่หนึ่ง วัสดุที่มีแร่ใยหินจะทนทานและเหนียวแน่นจึงอยู่ได้นาน หลักการคือของที่ทนในสิ่งแวดล้อม ร่างกายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคได้ง่ายกว่า แต่วัสดุทดแทนมีระยะการใช้งานจะอยู่ได้ไม่นาน ฉะนั้นการสัมผัสก็น้อยกว่า แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องตัดตอน คือ ต้องทำให้มีการสั่งห้ามใช้แร่ใยหินให้ได้
"ผมคิดว่าการปิดฉลากคำเตือนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินน่าจะมีประโยชน์ไม่มาก เพราะวัสดุหรือสินค้าที่มีแร่ใยหิน อย่างกระเบื้อง ผ้าเบรก ผ้าคลัตช์ การติดฉลากจะช่วยได้แค่ระยะเริ่มต้น พอนานไปฉลากหลุดลอกคนก็ลืม ส่วนวัสดุทดแทนคนจะมองว่าแพงกว่า รัฐก็ควรมีมาตรการลดภาษีนำเข้าวัสดุทดแทนลงหรือไม่ก็ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินราคาสูงขึ้น จากนั้นก็มาให้ความรู้กับประชาชน ถึงอันตรายจากการสัมผัสโดยตรง ว่าแค่ยืนดูรื้อถอนตึกนั้นก็เป็นอันตรายได้"
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวังเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค กล่าวว่า ข้อมูลที่ชัดเจน คือแร่ใยหินเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเพราะมีงานวิจัยจำนวนมากยืนยัน ฉะนั้นในฐานะที่ทำงานเพื่อผู้บริโภคจะคิดแบบ 2 มาตรฐานไม่ได้ จึงอยากให้ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย เพราะหลายสิบประเทศยกเลิกการใช้แล้ว แม้แต่ประเทศที่เป็นผู้ผลิตส่งออกยังยกเลิกการใช้ในประเทศอย่างเด็ดขาดแล้ว ฉะนั้นในประเทศไทยจึงไม่ควรจะมีเพราะนี่เป็นเหตุผลที่สนับสนุนว่าไม่ควรใช้ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ยืนยันแล้วว่า แร่ใยหินเป็นอันตราย การที่ไทยยังใช้อยู่นั้นเป็นเพราะวัสดุทดแทนมีราคาที่แพงกว่าส่วนการรณรงค์การยกเลิกใช้นั้นเข้าใจว่าต้องใช้เวลา และต้องได้รับความร่วมมือทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ไม่ใช่จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
"การให้ยกเลิกใช้คือแนวทางป้องกันที่ดีที่สุดแล้ว ฝ่ายรัฐบาลควรมีมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับวัสดุทดแทนแร่ใยหินในประเทศไทยมีคนมองว่ายังมีคนได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินน้อย เพราะมีคนตายเพียงแค่คนเดียว แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่า แม้มีคนตายเพียงแค่คนเดียวก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะในบ้านเราไม่ได้มีการสืบสวนสอบสวนว่าผู้ที่ป่วยตายจากมะเร็งปอดนั้นมีสาเหตุจากอะไร ซึ่งล่าสุดตอนนี้มีข้อมูลใหม่ว่าประเทศอังกฤษพบผู้เสียชีวิตที่เป็นครูจากสาเหตุนี้เกือบ 80 คนส่วนมาตรการติดฉลากคำเตือนเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว และคงจะได้ผลน้อยเพราะเมื่อมีความชัดเจนเรื่องอันตรายของแร่ใยหินขนาดนี้แล้ว ควรมีมาตรการให้ยกเลิกนำเข้าและยกเลิกการใช้เลยจะได้ผลดีที่สุด"

ตะลึง “ศาลวัยทีน” ไมอามี ใช้ “ก๊วนวัยรุ่น” ร่วมพิพากษา หวังสะท้อนมิติ “เพื่อนผู้ทำผิด” อย่างเข้าใจ

เด็กและเยาวชน นับเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการหยิบยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมา มีการดำเนินการหลายด้านเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชน การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวมากขึ้น การจับตาดูปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยเสริมแก่เด็ก หรือการทำงานเกี่ยวกับต้นทุนชีวิต
อีกเรื่องหนึ่งนั้น คือ “การพัฒนาระบบปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จัดโครงการนำร่องใน 4 จังหวัด ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2552
ล่าสุด สสส.และกรมพินิจฯได้เดินทางไปศึกษาดูงาน “ระบบการทำงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์” ที่รัฐไมอามี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระบบการทำงานที่เข้าไปจัดการและช่วยเหลือครอบครัวที่ดูแลเด็กอย่างเหมาะสมไม่ได้ โดยผ่านการวิจัยอย่างถูกต้อง และมีกระบวนการจำแนกเด็กและเยาวชนว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เด็กกระทำผิด หรือทำผิดซ้ำ
ธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาชน เล่าถึงการเดินทางไปดูงานครั้งนี้ว่า ได้นำกระบวนการจัดการเด็กอย่างมีระบบของสถานพินิจฯในไมอามี มาปรับปรุงเป็นรูปแบบเพื่อใช้ดูแลเด็กและเยาวชนในเมืองไทยได้ 3 แบบ คือ 1.เครื่องมือประเมินเด็กว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยงให้ทำผิด ทำผิดซ้ำ 2.โปรแกรมบำบัด เพื่อติดตามและเตรียมเด็กก่อนที่จะปล่อยออกไป และ 3.เครื่องมือจำแนกเด็ก โดยศาลจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อที่จะจัดการจำแนกเด็กออกไปอยู่ ตามความผิด
ด้าน ทิชา ณ นคร กรรมการบริหารแผน สสส. และผู้อำนวยการศูนย์และอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า สิ่งที่ประทับใจในกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ ที่เมืองไมอามีมาก คือ ศาลเด็กวัยรุ่น ที่เรียกว่า Teens Court สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ คนที่ทำหน้าที่ใน Teens Court ทั้งหมดเป็นเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเสมียนศาล ลูกขุน อัยการ ตัวทนายของผู้ต้องหา ยกเว้นผู้พิพากษา ซึ่งการนำเยาวชนมาทำหน้าที่ตรงนี้ เนื่องจากเข้าใจและเป็นมิตรมากกว่า
“Teens Court ของไมอามีถือได้ว่าน่าจะเป็นบทเรียนให้แก่ศาลเยาวชนของไทยได้ ทุกคนที่ไปศึกษาดูงานรู้สึกทึ่ง และเกิดคำถามขึ้นมาว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้นในเมืองไทย ต้องการให้ Teens Court เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะมีความรู้สึกว่า win-win คือได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือเป็นผลดีทั้งต่อตัวเด็กและประเทศ เด็กเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน ส่วนประเทศจะไม่มีคดีเกี่ยวกับเด็กเพิ่มขึ้น”
“หากเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่น่าจะเป็นโอกาส อาจจะมีเด็กวัยรุ่นจำนวนหนึ่ง ซึ่งสนใจกระบวนการยุติธรรมเข้ามาร่วมกระบวนการ เพื่อก้าวไปสู่การสร้างคุณค่าและการตีความที่ถูกต้องให้แก่เพื่อนวัยรุ่นที่ร่วมชะตากรรม”
ขณะที่ ขัตติยา รัตนดิลก นักจิตวิทยา 5 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า Teens court เป็นกระบวนการหันเหคดี คือเป็นช่องทางอื่นสำหรับเด็กซึ่งทำผิดเล็กน้อย จะใช้วิธีการหันเหคดีออกนอกระบบ 3 แบบ คือ
1.นำผู้กระทำผิดเล็กน้อยออกจากกระบวนการยุติธรรมแทนการดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำความผิดต้องโทษจำคุกหรือกักขัง การถูกควบคุมตัวจะทำให้เด็กและเยาวชนตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดประสบการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้น
2.การนำตัวผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรม ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับการแก้ไขโดยมิต้องถูกประทับตราว่า เป็นผู้กระทำความผิดหรืออาชญากรและในที่สุดจะถูกสังคมประณาม
3.การนำตัวผู้กระทำความผิดออกจากระบบ จะทำให้เขาได้รับการแก้ไขปัญหาชีวิตและได้รับการบบริการทางสังคม โดยเฉพาะผู้กระทำผิดที่มีปัญหายาเสพติด เสพติดสุรา และไม่มีงานทำเป็นต้น
ส่วนการจะนำศาลวัยรุ่นหรือ Teens Court มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมไทยนั้น ขัตติยามองว่า ก่อนอื่นต้องมีกฎหมายรองรับกระบวนการหันเหคดี รวมทั้งเรื่องระบบลูกขุน
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนที่น่าสนใจ สำหรับ Teens Court ที่คณะจาก สสส.และกรมพินิจฯได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่เมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนำมาปรับเพื่อใช้สำหรับกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนในประเทศไทยได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศไทย

มหกรรมเด็กแนวบวก'ผิดพลาด'แต่ต้องไม่'ผิดซ้ำ'

ต้นไม้จะมีชีวิตเจริญงอกงามได้ต้องมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีสมบูรณ์ได้รับการปลูกในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ต่างจากเด็กและเยาวชน เมื่อพวกเขาได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมครอบครัวที่อบอุ่น และชุมชนที่เข้มแข็ง ปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเสมือนต้นทุนชีวิตให้พวกเขาเติบโตได้อย่างแข็งแรงมั่นคง
ในงานมหกรรม "เด็กแนวบวก"ตอนประชาธิปไตยในโลกใบจิ๋ว ของแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) ซึ่งเน้นการพัฒนากิจกรรมเพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนเด็กที่มีความเด่นด้อยในด้านต่างๆ ให้พวกเขาได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพ็ญพรรณจิตตะเสนีย์ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส.กล่าวว่า ตามรายงานสภาวะการต้นทุนชีวิตในเยาวชนทั่วไปในปี 2551-2552 ที่พบว่า เยาวชนไทยมีจุดเด่น ใน 3 ประเด็นที่เชื่อมโยงกับการเมืองที่แม้จะดูเป็นเรื่องไกลตัว คือ 1.ฉันกล้าคิด กล้าพูด แม้ว่าจะความคิดต่าง 2.ฉันให้ความเท่าเทียมแก่คนในสังคม และ 3.ฉันปรับตัวเข้าได้
กับคนคิดต่าง/วัฒนธรรมต่าง ขณะที่การกลัวที่จะปฏิเสธ หรือไม่พร้อมรับกับจุดยืนในการปฏิเสธเป็นจุดอ่อนของเยาวชนไทยรุ่นใหม่
นพ.สุริยเดว ทรีปาตีผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. กล่าวว่า ตัวชี้วัด
3 ตัวดังกล่าว เชื่อมโยงกับความไม่สงบของสถานการณ์บ้านเมือง จึงต้องการนำเสนอกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนต้องการให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและเยาวชนในมิติต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไปด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าสังคมไทยเกิดการอ่อนตัวลงเรื่อยๆ แม้เด็กจะคิดดี ใฝ่ดี หากต้องการให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี ต้องทำให้ชุมชนกลับมาแข็งแรง จึงเน้นงานด้านเด็กและเยาวชนให้เกิดขึ้นและดำรงต่อด้วยตัวชุมชนเอง โดยผลักดันให้เกิดการผนึกกำลังให้เกิดคณะทำงานเด็กและชุมชนขึ้นมา ให้เขาได้เรียนรู้ที่จะใช้ทรัพยากรของพวกเขาเอง
อย่างไรก็ดี ใช่ว่า "เด็กแนว+" ในวันนี้ จะไม่เคยทำผิดพลาด
"บ้านกาญจนาภิเษก" ก็เปรียบเสมือนอีกหนึ่งครอบครัว หรือชุมชนเล็กๆ ที่เปิดโอกาสให้กับวัยรุ่นที่ก้าวพลาด ภายใต้การบูรณาการตามแนวคิดทั้ง 4 ข้อ คือ 1.ขจัดร้ายขยายดี...เชิงกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นเป็นสำคัญ 2.สร้างคุณค่าใหม่ๆ แทนของเก่าที่ชำรุดผุพัง 3.ทักษะชีวิต : ซ่อมความคิด ปรับพฤติกรรมเพื่อเปลี่ยนชีวิต และ 4.มียุติธรรม...จึงมีสันติภาพ
การขับเคลื่อนสู่เป้าหมายตามที่หลายฝ่ายมุ่งหวัง อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด
ทิชา ณ นครผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ในส่วนเครื่องมือหรือกลไกที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ในการขับเคลื่อนแนวคิดสู่การปฏิบัติก็คือ การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของวัยรุ่นในระดับความคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมหาทางออกส่วนด้านทัศนคติที่ดีต่อวัยรุ่นที่ก้าวพลาดรวมถึงการยอมรับการเปลี่ยนแปลงบนความสูญเสียบางแง่มุมที่คุ้นชินของเจ้าหน้าที่ก็เป็นปัจจัยร่วมที่มีนัยสำคัญมากต่อบ้านกาญจนาภิเษก เช่นเดียวกับความร่วมมือของพ่อแม่
และเมื่อเด็กเหล่านั้นได้เข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษกนี้ พวกเขาก็ได้รับรู้ถึงความสามัคคี ความเข้าใจ ความเสียสละต่อเพื่อนสมาชิกในบ้านด้วยกัน รู้จักคิดในแง่บวกมากขึ้น
"ในวินาทีที่มีการตัดสินให้ผู้กระทำผิดรับโทษนั้นแม้ว่าจะเป็นวินาทีที่วิกฤต สิ้นหวังของผู้ที่ก้าวพลาด แต่ก็เป็นวินาทีเดียวกับที่เหยื่อรู้สึกว่า เขาได้รับความเป็นธรรม เพราะความเสียหาย ความสูญเสียของเหยื่อไม่สูญเปล่าและนั่นคือมิติหนึ่งของการเยียวยาเหยื่อที่จำเป็น" ทิชา อธิบายขั้นตอนในการเรียนรู้การก้าวพลาดของเด็กๆ และเสริมว่า
ในฐานะที่บ้านกาญจนาภิเษกมีหน้าที่รับผิดชอบวัยรุ่นที่ก้าวพลาด และถูกตัดสินให้รับโทษจึงต้องระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่ซ้ำเติมวัยรุ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่แตะต้องหรือละเว้น หากวัยรุ่นที่ก้าวพลาดคนใดทำผิดกติกาของบ้านก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการลงโทษ แต่บทลงโทษนั้นต้องผ่านการออกแบบทั้งในเชิงกระบวนการและเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและให้ความคิดไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นด้านหลัก แต่จะไม่เน้นการควบคุมพฤติกรรมด้วยอำนาจ
"เด็กบางคนที่เข้ามาอยู่บ้านกาญจนาฯ นั้นเขาพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินผงซักฟอกและแชมพูหลังจากถูกแม่ปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยเมื่อเดินออกจากศาล นี่ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่มีความเข้าใจความรู้สึกกันระหว่างครอบครัว จึงมีปัญหาตามมา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามี "สายใย พันผูก เลี้ยงลูกทางบวก" เป็นแนวคิดการเลี้ยงลูกด้วยวิธีทางบวก ปัญหาหลายอย่างที่มีระหว่าง"พ่อ แม่ ลูก" ก็จะไม่เกิดขึ้น" ทิชา กล่าว
นอกจากนี้ "ลูก" เป็นรางวัลชีวิตที่มีค่าสำหรับพ่อแม่ แต่การเป็นพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องง่ายทำให้บ่อยครั้งพ่อแม่รู้สึกว่าตนเองหมดหนทางในการดูแลลูก และเกิดความกดดันจนต้องใช้วิธีที่รุนแรงในการจัดการลูก
"การให้เวลากับลูก คุยกับลูก แสดงความรักความชื่นชม ความสนใจ และการสร้างกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยของลูกนั้น ก็จะทำให้ทั้งตัวเด็กและพ่อแม่มีความใกล้ชิดและเข้าใจกันมากขึ้น"
ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีความพิการ หรือเป็นคนปกติ พวกเขาก็ต้องการความเอาใจใส่ดูแลทั้งด้านจิตใจและร่างกาย จากคนใกล้ชิดและคนรอบข้างเช่นกัน เพราะหากขาดการยอมรับจากสังคม นั่นก็ถือเป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูสภาพจิตใจต่อการใช้ชีวิต

ฝึกเด็ก"แอลดี"-"ออทิสติก" สร้างสมาธิด้วยพุทธศาสนา

เด็กถูกผลักออกจากสังคม ถูกละเลยในเรื่องการศึกษา เพียงเพราะพวกเขามีความบกพร่องทางปัญญา หรือถูกจัดอยู่ในกลุ่มออทิสติก จนอาจทำให้สังคมรอบข้างมองว่า พวกเขาไม่สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนเด็กทั่วไป
ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อจำกัดในเรื่องการศึกษา หากสังคมไม่เปิดโอกาสนั้น
โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล หนึ่งในโรง เรียนสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ที่เปิดการเรียนการสอนแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและออทิสติกในระดับปฐมวัยถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539
ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก งานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) และสถาบันวิจัยสาธารณสุข (สวรส.) จึงเล็งเห็นศักยภาพในการพัฒนาต้นกล้าต้นน้อยให้มีรากแก้วที่หยั่งรากแข็งแรงอย่างยั่งยืน ผ่านสุขภาวะ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ สุขภาวะทางกาย ทางสังคม ทางจิตใจ และปัญญา
นายโต้ง พรหมกุล ครูโรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล กล่าวว่า การจะสื่อสารให้เด็กเหล่านี้เข้าใจต้องอาศัยสื่ออุปกรณ์แหล่งเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้จากนามธรรมเป็นรูปธรรมให้เหมาะสมกับพยาธิสภาพของแต่ละบุคคล และทำให้เด็กสามารถบำบัดและฟื้นฟูผ่านกิจกรรมการสัมผัสสิ่งเร้าผ่านอายตนะภายในและภายนอกให้เกิดกระบวนการซึมซับเข้าสู่ภายในจิตใจ เกิดความรู้สึกคล้อยตาม เพื่อฝึกฝนเด็กให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา"
ครูโต้งยังกล่าวถึงห้อง "ธรรมานุบาล" ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับฝึกการทรงตัว ผ่านการย่างก้าวช้าๆ ตลอดพื้นเล่นระดับว่า จะช่วยสร้างสมาธิให้เด็กควบคู่กับการเอาหลักทางระพุทธศาสนามาสอนร่วมด้วยนั้น จะทำให้เด็กที่มีปัญหาทางปัญญา หรือเด็กออทิสติกเกิดสมาธิ เมื่อพวกเขาจดจ้องกระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแน่วแน่
การจัดสิ่งแวดล้อมให้สัมผัสอายตนะ 6 ทั้งภายนอกและภายในได้สัมพันธ์กับสิ่งเร้า เกิดธาตุ (รับ) รู้ ซึ่งจะนำมาสู่กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละบุคคล เรียกว่า กระบวนการซึมซับ ทั้งด้านกาย (กายภาวนา) ด้านความประพฤติ (ศีลภาวนา) ด้านจิตใจ (จิตตภาวนา) และด้านปัญญา (ปัญญาภาวนา) ทำให้มีการกระทำโต้ตอบ ฝึกฝนอบรมตนเองโดยอาศัยสังคมที่อยู่ในสภาวะเป็นน้ำเลี้ยงที่ดีนั้นจะทำให้ เด็กเกิดพัฒนาการที่ดีขึ้น
ด้าน น.ส.พัชรีวรรณ ตันกุระ ครูโรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูลกล่าวถึงนักเรียนบางคนที่มีพัฒนาการช้า หรือมีความบกพร่องในการเรียนรู้ หรือเรียกว่า เด็ก "แอลดี" (Learning Disabilities - LD) นั้นจะเน้นการเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะพวกเขามักปฏิเสธที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ ดังนั้นเราจึงต้องเน้นให้เด็กมีสมาธิก่อน โดยอาศัยทฤษฎีให้ความรู้ต่อระบบสัมผัส เพราะเด็กจะมีระบบรับความรู้สึก คือมองเห็น ได้กลิ่น คือ ถ้าเด็กเริ่มมองเห็นว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ และจับจ้องอยู่ที่สิ่งนั้น พวกเขาก็จะเริ่มมีสมาธิ
"เมื่อเด็กมีสมาธิ เราก็จะมีการเล่านิทานเพื่อเป็นการสร้างสติ ซึ่งเป็นการสอนให้เด็กมีคุณธรรมเบื้องต้น โดยเราเน้นให้พวกเขาเข้าสังคมได้ ผ่านการพาเด็กไปเรียนรู้ตามแหล่งชุมชน ต่างๆ พร้อมกับทำกิจกรรมทักษะการดำรงชีวิตแบบพอเพียง โดยเป็นการสอนเตรียมทักษะให้กับเด็ก" ครูพัชรีวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

“ผ่อหนังกั๋นเต๊อะ” โปรเจ็กค์หนังสั้นกระตุ้นเปลี่ยนทัศนคติคนปกติเห็นคุณค่าผู้พิการ

โปรย “ผู้พิการนั้นก็สามารถเป็นฝ่ายที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ และเมื่อผู้พิการนั้นได้ช่วยเหลือแล้วก็จะเกิดความภาคภูมิใจและได้เห็นคุณค่าของการที่ได้เป็นฝ่ายให้ผู้อื่นด้วย”

-------------------------

ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบันตลอดจนถึงอนาคต ปัญหาด้านความพิการและทัศนคติต่อคนพิการยังเป็นปัญหาที่สังคมต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังมองว่าคนพิการคือ บุคคลที่ด้อยสมรรถภาพ ทั้งที่มีผู้พิการไม่น้อยที่แสดงให้เห็นว่ามีความสามารถทัดเทียมบุคคลทั่วไป
การอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นจึงกลายเป็นภารกิจหลักของนโยบายรัฐบาล ซึ่งกลายมาเป็นที่มาของ “ผ่อหนังกั๋นเต๊อะ” โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการและประกวด “หนังสั้นเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้พิการ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และการปฏิบัติต่อคนพิการในสังคมอย่างเข้าใจ และเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส.กล่าวว่า ต่อไปทาง สสส.จะต้องเดินหน้าโครงการเหล่านี้มากขึ้นเพื่อที่จะเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปมองคนพิการว่าก็มีความสามารถ ทำให้คนเปิดโลกให้ผู้พิการอยู่ร่วมด้วย และคนพิการก็สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก ไม่ต้องนั่งอยู่แต่ในบ้าน ทางสสส.และสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ต้องการยกระดับและปรับเปลี่ยนมุมมองของคนปกติที่มองคนพิการให้ทัดเทียมกันมากขึ้น
“เราต้องบูรณาการและปรับปรุงพื้นที่ให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนๆกับคนทั่วไป โดยจะจัดหนังสั้นต่อไปอีก 4-5 ปีและต้องทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าผู้พิการก็เป็นคนธรรมดาเพียงแต่เขาขาดโอกาส ซึ่งทาง สสพ.ต้องกระตุ้นให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นพ่อ-แม่ สร้างโอกาสให้กำลังใจผู้พิการด้วย” ทพ.ศิริเกียรติกล่าว
รศ.นพ.อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การทำโครงการหนังสั้นจะเป็นการเปิดทัศนคติให้ทุกคนเปิดใจให้กว้างขึ้นเพื่อสร้างพลังและความพร้อมในการพัฒนาผู้พิการสามารถใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ถูกกีกกันจากเรื่องอาชีพและทัศนคติที่ปิดกั้นทางสังคม
“ผู้พิการก็มีความสามารถไม่แพ้กับคนปกติทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าผู้พิการมีความสามารถ หากสังคมเปิดแล้วสร้างโลกให้ผู้พิการ พวกเขาเหล่านี้ก็ใช้ชีวิตเหมือนคนธรรมดาทั่วไปได้ โครงการหนังสั้นจะเป็นแรงจูงให้ให้คนทั่วไปเปลี่ยนทัศนคติต่อคนพิกาย” รศ.นพ.อำนาจ กล่าว
น.ส.ชัญญาภัค สุขแสง ตัวแทนทีม Film Jazz ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ดีใจที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ ซึ่งการที่นำเรื่อง The Endless Melody มานำเสนอนี้เพื่อต้องการให้ทุกคนคิดว่าคนพิการก็มีความสามารถ และอยู่ร่วมกับคนปกติทั่วไปได้ เป็นการสะท้อนมุมมองให้คนเปลี่ยนความคิดใหม่ และสาเหตุที่คิดว่าเรื่องนี้จะเปลี่ยนมุมมองคนได้นั้นคือการลงพื้นที่เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นการส่งต่อไปยังกลุ่มคนที่ยังมองว่าคนพิการยังเป็นภาระของสังคมให้เปลี่ยนความคิดใหม่
คุณอารียา ศิริโสดา นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นไอเดียที่ดีมาก เป็นวิธีที่จูงใจให้คนปกติทั่วไปเปลี่ยนมุมมอง ให้ได้รู้จักโลกของผู้พิการมากขึ้น แม้หนังสั้นแต่ละเรื่องยังไม่สามารถสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่าผู้พิการมีความสามารถ ก็อยากให้โครงการนี้ ทั้ง สสส. และ สสพ.ทำให้คนสนใจคนพิการมากขึ้นว่าเขาก็มีความสามารถไม่แพ้คนปกติทั่วไป
“ยอมรับว่าโครงการนี้เป็นไอเดียที่บรรเจิด สามารถสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจในโลกของผู้พิการ แต่หนังสั้นควรจะนำเสนอให้ทั่วไปเข้าใจได้มากกว่านี้ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเป็นผู้เล่าเรื่องแต่ไม่มีการใส่อารมณ์ อยากให้สื่อไปเลยว่าคนพิการคนๆนี้มีความสามารถอะไรบ้าง ไม่ใช่จับโน่น นี่ นั่นมาผสมกัน” คุณอารียากล่าว
ด.ช.ครู สิงห์สุวรรณ อายุ 14 ปี ผู้พิการแขน-ขาลีบ ต้องนั่งวิวแชร์ จากโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ กล่าวว่า หนังแต่ละเรื่องสร้างดี เพราะทำให้คนที่คิดว่าคนพิการไม่มีอะไรดีเลย ได้เปลี่ยนความคิดใหม่ว่าคนพิการก็มีความสามารถเหมือนคนอื่นๆ บางทีดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะหนังสั้นที่ทำออกมาจะทำให้คนที่มีความคิดด้านลบเปลี่ยนเป็นด้านบวกบ้าง
“ผมหวังว่าหนังแต่เรื่องที่ทำออกมาจะทำให้ประชาชนเปลี่ยนมุมมองกับคนพิการใหม่ ว่าพวกเราก็มีความสามารถเหมือนกัน ผู้พิการนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายได้รับความช่วยเหลือเสมอไป หากมีเหตุการณ์บางอย่างมาจุดประกายความคิดลองเปลี่ยนจากฝ่ายรับเป็นฝ่ายให้ ผู้พิการนั้นก็สามารถเป็นฝ่ายที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ และเมื่อผู้พิการนั้นได้ช่วยเหลือแล้วก็จะเกิดความภาคภูมิใจและได้เห็นคุณค่าของการที่ได้เป็นฝ่ายให้ผู้อื่นด้วย” ด.ช.ครู กล่าว
ดังเช่นคำพูดที่ว่า
“บางครั้งความสุข อาจไม่จำเป็นต้องเห็นได้ด้วยตาแต่สัมผัสได้ด้วยใจ”
////////////////////////////////////////////////////////////////////////