วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นำร่อง 7 จังหวัดแบนแร่ใยหิน หลังสคบ.ประกาศสินค้าอันตราย

---------------------
โปรย : ชวน 76 จ.เดินหน้าตรวจสอบการจัดทำฉลากสินค้าที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินของผู้ประกอบธุรกิจ และรายงานผลการดำเนินงานให้ สคบ.ทราบ หลังประกาศสินค้าอันตราย
---------------------
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการควบคุมสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน และมาตรการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมทั้งลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการควบคุมแร่ใยหิน โดยมีเหตุผล 10 ประการที่ต้องจัดการอันตรายจากแร่ใยหินแอสเบสตอส คือ
‎ 1. แอสเบสตอสเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ที่ยอมรับกันทั่วไป 2.ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นสองประเทศอุตสาหกรรมสุดท้ายที่ไม่มีการห้ามใช้แอสเบสตอส ในขณะที่มากกว่าห้าสิบประเทศได้มีการสั่งห้ามใช้แอสเบสตอสแล้ว เมื่อเดือนมกราคม 2010 3. องค์การอนามัยโลก ระบุว่ามีประชากรทั่วโลกประมาณ 125 ล้านคนที่ได้รับสัมผัสแร่ใยหินจากการทำงาน 4. ในแต่ละปี ชาวอเมริกันมากกว่า 1 หมื่นคนตายเนื่องจากการได้สัมผัสแร่ใยหิน และจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดประมาณได้ว่าในศตวรรษหน้า การสัมผัสแร่ใยหินจะคร่าชีวิตเฉพาะชาวอเมริกันได้สูงถึง 1 แสนคน 5. เมื่ออยู่ในสภาพอานุภาคขนาดเล็ก(ต่ำกว่า10ไมครอนซึ่งสามารถก่อโรคได้) อานุภาคขนาดเล็กของแร่ใยหิน สามารถล่องลอยไปไกลห่างจากแหล่งกำเนิดได้เป็นหลายร้อยไมล์ 6. การได้รับสัมผัสแร่ใยหินโดยการหายใจ(อานุภาคขนาดเล็ก) หรือการกลืนกินเข้าไป(จากการปนเปื้อนในอาหาร) จะก่อให้เกิดพยาธิสภาพแบบถาวร(รักษาไม่ได้)กับอวัยวะที่สำคัญ แร่ใยหินก่อให้เกิดโรคปอดจากแร่ใยหิน (ชื่อเฉพาะAsbestosis) มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ และมะเร็งที่มีการลุกลามรุนแรง (ชื่อเฉพาะ Mesothelioma) ผู้ป่วยจะมีอายุต่อไปได้ราว 6-12 เดือน
7. แร่ใยหินยังคงเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การทดสอบโดยองค์การให้ความรู้เกี่ยวกับแร่ใยหิน (ADAO) พบว่า ยังมีผลิตภัณฑ์ 5 ชนิดที่ยังมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ในจำนวนนี้มีผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กรวมอยู่ด้วย 8. แร่ใยหินมีระยะเวลาการดำเนินโรคนานมาก กล่าวคือ หลังจากที่ได้รับ/สัมผัสสารกว่าจะพัฒนาจนเกิดโรคได้ ใช้เวลานานถึง 50 ปีหรือมากกว่านั้น และการตรวจวินิจฉัยก็ยากลำบาก เนื่องจากมีโรคจากเหตุอื่นหลายโรคที่มีอาการและแนวทางการวินิจฉัยคล้ายๆกัน(โรคที่อาการคล้ายคลึงกัน) โรคจากแร่ใยหินรักษายาก (เนื่องจากพยาธิสภาพที่เสียหายของอวัยวะที่สำคัญไม่สามารถรักษาให้กลับเป็นปกติได้) ผู้ป่วยส่วนใหญ่รักษาไม่หายและส่วนใหญ่จะเสียชีวิต 9. องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) และรักษาการประธานกลุ่มศัลยแพทย์ทั่วไปของสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าการได้รับ/สัมผัสแร่ใยหินไม่มีระดับใดที่จัดได้ว่าปลอดภัย 10. แร่ไยหินได้มีการผลิตและนำมาใช้อย่างกว้างขวางในผลิตภัณฑ์ วัสดุ และการประยุกต์ใช้ต่างๆ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็รวมถึง การก่อสร้าง วัสดุฉนวนความร้อน ในท่าจอดเรือ และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมาก
รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สสส. บอกว่า การควบคุมแร่ใยหินที่เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนและนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยจะประสานเครือข่ายภาคประชาชนทั้ง 76 จังหวัดให้ตรวจสอบการจัดทำฉลากสินค้าของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินของผู้ประกอบธุรกิจ และรายงานให้ สคบ.ทราบ เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยมี 7 จังหวัดได้นำร่องเดินหน้าตรวจสอบจัดการอันตรายจากแร่ใยหินและมีการให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ แม้ร้านค้าหลายพื้นที่จะมีปฏิกิริยาตอบกลับอย่างไม่พอใจว่ารัฐบาลยังไม่มีการให้ข้อมูลว่าวัสดุที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินจะนำมาสู่การเสียชีวิตและเกิดโรคปอดอักเสบ จึงต้องเร่งให้ความรู้
ซึ่ง จังหวัดศรีษะเกษ ได้มีการศึกษาแร่ใยหินโดยมีการจัดการสัมมนาเพื่อบอกถึงอันตรายจากแร่ใยหินขึ้นมา 3 ครั้ง ซึ่งการจัดครั้งแรกเป็นการให้ความรู้และหาผู้นำในการแนะนำบอกต่ออันตรายของแร่ใยหิน และมีการพบเครือข่ายรุ่นที่ 2 รับร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดำเนินการรณรงค์ป้องกันยกเลิกนำเข้าผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน ครั้งที่ 3 ปี 2553 ได้จัดกิจกรรมคณะละครหุ่นมือศรีมงคล ในการสื่อถึงการเผยแร่อันตรายแร่ใยหิน มีกลไกระดับชุมชน ตำบล ประชุมค้นหานวัตกรรมรูปแบบการคุ้มครองผู้บริโภค จัดโครงการ กิจกรรม การสื่อสาร เนื่องจากประชาชนยังไม่รู้ถึงอันตรายของแร่ใยหินและยังไม่รู้ว่าแร่ใยหินนี้คืออะไรจากการที่นำเสนอละครหุ่นมือ ประชาชนได้รับรู้ถึงอันตรายแร่ใยหินและมีความตระหนักในการป้องกันมากขึ้น
ส่วนจังหวัดสุรินทร์ได้มีการขับเคลื่อนโดยการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนพร้อมจัดทำโปสเตอร์แจกในโรงเรียน การจัดรายการวิทยุ มีการให้ความรู้เรื่องแร่ใยหินแก่ประชาชนผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย และมีการสำรวจร้านค้าวัสดุก่อสร้างจำนวน 16ร้านค้า มีจำนวน 4 ร้านค้าไม่มีแร่ใยหิน แต่มีถึง 9 ร้านค้ามีแร่ใยหิน ส่วนอีก 3 ร้านค้ามีการปะปนกันซึ่งมีและไม่มีแร่ใยหิน จึงได้มีการให้ความรู้ประชาชนตระหนักถึงอันตราย และจากการสำรวจการรื้อถอนอาคารพบว่ามีผู้ป่วยจากการสัมผัสฝุ่นละอองมากขึ้นสาเหตุไม่อยากใส่หน้ากาก และถุงมือ ในขณะที่จังหวัดมหาสารคามได้มีการสำรวจแนวโน้มการขาย และผู้สัมผัสแร่ใยหินจนพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากการผลิตเครื่องกรองน้ำไฟเบอร์ที่มีส่วนผสมของแอสเบสตอส พร้อมทั้งมีการสำรวจช่างซ่อมมอเตอร์ไซด์ ที่ใช้เครื่องเป่าฝุ่นเกิดการหายใจติดขัด ตรวจพบว่าฝุ่นเกาะในปอดมากเกินไป เกิดปอดแห้ง
ส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และ จังหวัดนครราชสีมา มีการเชิญชวนนักเรียนเข้าร่วมรณรงค์ พร้อมทั้งมีการจัดอบรมให้ความรู้กับแกนนำนักเรียน5โรงเรียน โดยมีการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยการทำ อย.น้อยในโรงเรียน และมีการออกแบบกิจกรรมชุมชน มีอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมรณรงค์ด้วย และมีการจัดตั้งชมรม 17 ชมรม เพื่อจัดทำแผนรณรงค์ และมีการนำเสนอละครให้ความรู้เรื่องแร่ใยหิน มีการให้รับรู้ชีวิตการทำงานเพื่อเลี้ยงครอบครัว แต่ได้รับผลกระทบด้วยการเจ็บป่วยจากแร่ใยหิน ทางจังหวัดจึงพร้อมจะยกเลิกนำเข้า
ด้านจังหวัดเชียงราย มีการคุ้มครองผู้บริโภคแร่ใยหิน และจัดเวทีอบรมให้ความรู้สร้างความเข้าใจถึงอันตราย สอดแทรกเนื้อหาบอกถึงพิษ มีการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ จากผลการดำเนินงานพบว่าผู้บริโภคเกิดความเข้าใจและตระหนักสิทธิ มีการป้องกันจากการสัมผัส และสุดท้ายจังหวัดตรังมีการจัดประชุมชี้แจงให้ความรู้รายละเอียดใน 10 อำเภอจำนวน 100 คน มีหน่วยงานราชการ มีผู้รับผิดชอบงานในระดับอำเภอ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ แต่ต้องประสบปัญหาผู้ประกอบการไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เนื่องจากมีความเข้าใจว่าระดับประเทศยังไม่มีการขับเคลื่อน แต่สุดท้ายก็เข้าใจจึงให้ความร่วมมือ พร้อมที่จะยกเลิกนำเข้า
ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ทุกคนร่วมมือร่วมใจ ปกป้องสิทธิของตนการกระทำดังกล่าว จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของผู้บริโภค!!!!!
/////////////////////////

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สร้างจิตสำนึกคนไทยรู้พิษสงอาหารมัน-หวาน อย่าตามเทรนด์เลี้ยงลูกแบบเทิดทูน แก้ปัญหาอ้วนลงพุง

----------------------
โปรย : มาตรการพิชิตอ้วน พิชิตพุง 1.ปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร 2.เคลื่อนไหวออกแรงและออกกำลังกาย 3.ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก
-----------------------
“ความอ้วน” นอกจากทำให้สวยน้อยลงแล้ว ยังเป็นสาเหตุของสารพัดโรค ยิ่งอ้วนก็ยิ่งมีโรคได้หลายอย่างมากขึ้น ที่ผ่านมาเรารู้จักแต่คำว่า ดัชนีมวลกายซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าอ้วน แต่ในระยะหลังพบว่าความเสี่ยงต่อโรคมีมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีลักษณะอ้วนลงพุง คือ จะมีสะโพกเล็ก ไหล่กว้าง และลงพุง ซึ่งเป็นลักษณะอ้วนที่อันตรายที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าคนอ้วนสองคน ที่มีน้ำหนักตัวมากเท่ากัน คนอ้วนที่ลงพุงมากจะเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งรุนแรงถึงขั้นทำให้เป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้มากกว่าคนอ้วนชนิดไม่ลงพุงเป็นเท่าทวี และยังจะต้องแบกรับความทุกข์อื่นอีก เช่น ข้อกระดูกเสื่อม การหายใจไม่อิ่ม ทำให้ง่วงซึม หายใจไม่เต็มปอด มากกว่าคนอ้วนที่สะโพกใหญ่ “อ้วนลงพุง”เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในบริเวณช่องท้องมากกว่าปกติ ในขณะเดียวกันก็สะสมในอวัยวะที่สำคัญ และอันตรายได้ง่ายด้วย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดเสวนา Focus Group ข้อเสนอเชิงนโยบาย: การแก้ปัญหาโรคอ้วน / อ้วนลงพุงในบริบทประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการแก้ปัญหาอ้วนลงพุงในประเทศไทย ในชุดโครงการจัดการความรู้และสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเครือข่ายคนไทยไร้พุง เพื่อช่วยลดและแก้ปัญหาโรคอ้วนลงพุง ที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ทั้ง โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ที่ควรเสนอกฎหมายสื่อที่เสริมสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ผู้คุมนโยบายทุกระดับควรมีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน เพราะอ้วนลงพุงกำลังเป็นเพชฌฆาตเงียบคร่าชีวิตคนทั่วโลกเสียชีวิตวันละหลายคน และนำไปสู่ความเจ็บป่วยและอัมพาต อัมพฤกษ์ อีกมากมาย
โดยสิ่งที่ผู้เข้าร่วมสนทนาต้องการเห็นและเกิดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโรคอ้วน คือ สื่อต้องลงในกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน เข้าใจง่ายและจริงใจ หลักสูตรการเรียนต้องเป็นการใช้องค์ความรู้กับสถานการณ์จริง มีการปรับเปลี่ยนที่มีระบบการประเมินและวิเคราะห์เป็นระยะ ส่งเสริมกิจกรรมในเด็กที่สอดคล้องกับวัย ผู้นำทางความคิด ทั้งนักการเมือง สื่อทุกรูปแบบเข้าถึงพฤติกรรมของคนแต่ละกลุ่ม มีการรณรงค์และให้ความรู้กับประชาชนทุกพื้นที่ ลดการโฆษณาอาหารขบเคี้ยวเพื่อดูแลสุขภาพ ให้ความรู้เบื้องต้น กลุ่มเป้าหมายเด็กต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เกิดชมรมทุกภาคส่วนในการดูแลเด็ก พัฒนาศักยภาพให้องค์ความรู้หรือฝึกทักษะและแนวทาง การดำเนินงานต้องสอดคล้องกับบริบท หลักสูตรการเรียนต้องเอาสถานการณ์จริงสอดแทรกเข้าไปด้วย เข้มงวดเรื่องการจัดอาหารกลางวัน เช่น เด็กก่อนวัยเรียนลดนมขวด เด็กปฐมวัยต้องมีการจัดอาหารที่เหมาะสมกับวัย ออกกฎหมายควบคุมปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม ฉลากควรทำให้อ่านง่าย ต้องบังคับติดฉลากกฏหมายควบคุมน้ำตาลกำกับเครื่องดื่มและอาหาร ส่งเสริมกิจกรรมของเด็กที่สอดคล้องทำได้จริง โดยการใช้เครื่องมือทุกวิถีทาง ร้านอาหารทำป้ายปริมาณ และควรใช้คำพูดการสื่อสารคำเดียวกัน
ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่มีข่าวออกมามากมายว่าคนไทยประสบปัญหาภาวะโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นมหันตภัยเงียบที่เราคาดไม่ถึง และปฏิบัติการที่จะสามารถฝ่าวิกฤต พิชิตอ้วน พิชิตพุง คือ 1.ปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร 2.เคลื่อนไหวออกแรงและออกกำลังกาย3.ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก
ด้าน พนอ อี้รักษา นักวิชาการศึกษา ชำนาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บอกว่า ตามที่ได้จัดการเรื่องการบริโภคในโรงเรียนจะพบว่าการบริโภคของเด็กจะตามใจปาก เพราะครอบครัวดูแลเด็กแบบเทิดทูนคือการซื้ออาหารกักตุนไว้ให้เด็ก เช่น ไส้กรอก ขนมเค้ก ขนมหวาน หรือพวกอาหารขยะ ทำให้เด็กไม่ค่อยกินข้าวตามที่ทางโรงเรียนจัดไว้ให้ เพราะเคยชินกับอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ผู้ปกครองเตรียมไว้ให้หลังเลิกเรียน ขณะที่บางโรงเรียนยังมีร้านค้าและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กหาสิ่งมาบริโภค เด็กก็จะเลือกแต่อาหารที่ตนเองเคยชิน ทำให้เสี่ยงต่อการบริโภคอาหารที่มันและหวาน ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานและโรคกระดูก ฉะนั้นควรสร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน ชุมชนและโรงเรียน มีการจัดสื่อและเผยแพร่ข้อมูลให้ถึงผู้บริโภค เพราะปัจจุบันประชาชนยังไม่ทราบถึงผลเสียโรคอ้วน ความตระหนักจึงยังไม่เกิด จึงไม่เชื่อว่าโรคอ้วนจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นได้ เพราะหากประชาชนไม่ทราบถึงผลเสียที่เกิดขึ้นปัญหาโรคอ้วนก็จะตามมา
ขณะที่ ฐิติรัตน์ พูนศิริชัยกิจ ผู้ดำเนินรายการ Healthy Time สถานีวิทยุ FM 99 อสมท.ระบุถึง ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโรคอ้วนคือต้องเริ่มจากตัวเองและครอบครัวในการจัดการเรื่องการบริโภคอาหาร เพื่อนำไปสู่โรงเรียน เพราะเด็กต้องเริ่มเรียนรู้จากครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสอนและเตรียมอาหารที่เหมาะต่อสุขภาพ อย่าตามใจเด็กและอย่ากลัวว่าเด็กจะหิว เพราะหากพ่อแม่ผู้ปกครองพยายามหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้และเด็กกินอิ่มก็จะไม่เกิดการหิวอาหารขยะ ซึ่งผู้ปกครองบางคนรู้แต่รู้ผิด และนักวิชาการอย่าเอาเรื่องของการตลาดเข้าไปจับ
ส่วน นพ.กฤช ลี่ทองอิน ผู้จัดการกองทุนพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและกองทุนพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทย บอกว่าควรมีการออกนโยบายอย่างชัดเจนในการแก้ปัญหาโรคอ้วน เพราะสามารถเปลี่ยนแนวคิดของประชาชนได้และช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงจุดเชื่อว่าแนวโน้มการอ้วนลดลง และหากผู้นำท้องถิ่นเข้าใจเรื่องนี้ก็สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย พร้อมเปรียบเทียบให้เห็นถึงการแก้ปัญหาโรคอ้วนของต่างประเทศที่มีการให้ความรู้และข้อมูลกับประชาชน แต่บ้านเราไม่ค่อยมีสื่อที่ให้ข้อมูลกับประชาชนจึงเกิดเรื่องของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หากเราสามารถจัดการได้ก็จะเกิดประสิทธิภาพ เช่นเรื่องการออกกำลังกาย และสิ่งแวดล้อมทางสังคม สื่อวิทยุโทรทัศน์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรมีการโฆษณาให้รู้ถึงพิษของอาหารหวาน ประโยชน์ของการออกกำลังกาย และสถานพยาบาลยังขาดทักษะในการพูดคุยกับผู้ป่วย เช่นให้ไปปรับเรื่องการกินอาหาร เรื่องการออกกำลังกาย แต่ไม่บอกลึกถึงรายละเอียด
แม้โรคอ้วนเป็นเรื่องของพฤติกรรมและบุคคล แต่เราสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยความตระหนักถึง 3 อ. คือ อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย...
//////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ตลาดนัดสีเขียว…ตลาดที่เปิดโอกาสให้ ‘ขอบคุณ’ ชีวิต แบบ ‘กรีนดี้’ ’

โปรย : เน้นธรรมชาติบำบัดดูแลสุขภาพร่างกาย แนะเปลี่ยนวิถีบริโภค เพื่อโลก เพื่อเรา ชวนบริโภคผักปลอดสารพิษชีวิตยืนยาว
----------------------
ศิลปการเยียวยาร่างกายและจิตใจ เพื่อสมดุลของชีวิต ด้วยธรรมชาติบำบัด เป็นคู่มือที่นำมาใช้ได้ทันที ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน พักผ่อน สิ่งแวดล้อม อันเป็นองค์ความรู้ใหม่ ที่ให้ร่างกายรักษาตัวเองได้ตามธรรมชาติ
เมื่อเร็วๆนี้ โรงพยาบาลต้นแบบที่โรงพยาบาลกรุงธน 1 ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดงานเปิดโครงการ “ตลาดนัดสีเขียว” แห่งที่ 5 เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมถึงพนักงานในองค์กร ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ปลูกและผลิตขึ้น โดยไร้สารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
เพียงพร ลาภคล้อยมา วิทยากรอิสระธรรมชาติกับการเยียวยา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรดูแลบำบัดร่างกายง่ายๆด้วยแนวทางธรรมชาติว่า ธรรมชาติบำบัดคือการใช้ธรรมชาติที่อยู่รอบตัวดูแลตัวเอง เธอยกตัวอย่างง่ายๆให้เข้าใจว่า
“เวลาตื่นนอนอย่ารีบลุกให้นอนนิ่งๆเพื่อชิมความสงบในตอนเช้า ให้โอกาสกับลมหายใจ สูดลมหายใจเข้าลึกๆสู่ปอด แล้วพลิกตัวไปมาเพื่อเป็นการปรับเลือดในร่างกาย จากนั้นค่อยๆจิบน้ำให้มีความรู้สึกตัว อมไว้ในกระพุ้งแก้มซ้ายย้ายไปขวาเพราะน้ำต้องการการย่อยสลายเช่นกัน” เพียรพอกล่าว
และเสริมว่า การบ้วนปากก่อนแปรงฟันให้บ้วนปาก 1 ครั้ง อมน้ำมันมะพร้าวไว้ในปาก 20 วินาที เพื่อเอาของเสียออกจากตัว จากนั้นให้ใช้ใบมะม่วง หรือใบฝรั่ง ที่จะช่วยลดกลิ่นปาก มาถูฟันแล้วอมทิ้งไว้สักครู่ จะทำให้เราอยู่กับฟันด้วยความขอบคุณ เช่นเดียวกับกานพลูที่ช่วยลดอาการปวดฟันได้
นอกจากนี้ เพียงพร ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงยาสีฟันในท้องตลาด เพราะมีสารก่อมะเร็ง จึงแนะนำให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติ ส่วนการล้างหน้าให้ใช้ถั่วเขียวปั่นละเอียดร่อนด้วยผ้าขาวบางให้ได้ผงละเอียดควรเลือกที่ปลอดสารพิษเอามาลูบใบหน้าแตะไปให้ทั่วแล้วถูขึ้นวนเป็นก้นหอย คางและหน้าผากให้ถูเป็นเส้นขนาน จมูกใช้ถูขึ้นจะสามารถขจัดสิวเสี้ยนได้ดี เพราะเปลือกถั่วเขียวมีความคงทนสามารถผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก สำหรับการอาบน้ำให้มีความสุขก็ใช้ถั่วเขียวป่นเช่นกัน เหมาะกับทุกฤดูกาล โดยเฉพาะหน้าหนาวเพราะจะทิ้งความรื่นไว้ที่ผิว นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยลดเชื้อราในร่มผ้า
สำหรับอาหารเช้าควรกินผักผลไม้ ที่สดและใหม่ ผลไม้ที่เราจะกิน หรือน้ำผลไม้ จะเป็นชนิดไหนก็ได้ สำคัญที่สุดคือ ต้องสด 100% เพราะร่างกายเราจะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด เมื่ออยู่ในสภาพธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการเสพความสุข จากอาหารเช้าที่เป็นมื้อสำคัญ
“หากทำได้ ควรกินก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพราะเป็นช่วงที่กระเพาะอาหารทำงานได้ดี ถ้ากินได้ทุกวันกระเพาะอาหารจะแข็งแรง ที่สำคัญคือหน้าไม่แก่เร็วด้วย ส่วนใครที่ทานผักผลไม้ปั่นจะช่วยย่อยสลายได้ง่ายเพียง 15 นาที จะทำให้สมองปลอดโปร่ง เพราะช่วงเวลาการตัดสินใจอยู่ที่ประมาณ 9 – 10 โมงเช้า โดยในแต่ละมื้อต้องไม่กินอาหารจำเจ เพราะใน 1 ฤดูมีอาหารที่เหมาะกับร่างกาย ฉะนั้นควรกินให้หลากหลาย เลือกที่ปลอดสารพิษ ส่วนข้าวขอแนะนำให้หุงข้าวผสมลูกเดือยเพราะลูกเดือยช่วยดูแลไต” เพียรพรกล่าวทิ้งท้าย
เพียงเริ่มจากการคิด “ขอบคุณ” ชีวิต ด้วย “ตัวเอง” โรคภัยก็โบกมือบ๊ายบาย!!!
////////////////////////////////

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มาตรการปิดรั้ว…ฉิก ฉิก: ชวน ‘โรงเรียน’ หนีภัย ‘อ้วน’ ห้ามขายขนมหวานให้วัยโจ๋

โปรย : ประเทศเวียดนามมีการออกกฎหมายห้ามนำผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้ามาขายในโรงเรียน ประเทศบรูไนห้ามขายน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบในโรงเรียน
-------------------
ทุกวันนี้คนไทยบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็นของร่างกาย ตามสถิติพบว่า คนไทยกินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 16 ช้อนชา ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการกินหวานของคนทั่วโลกเฉลี่ยวันละ 11 ช้อนชา ทั้งๆที่ปริมาณน้ำตาลระดับพอดีต่อร่างกายเฉลี่ยวันละ 6 ช้อนชา เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการบริโภคน้ำตาลของคนไทยกับค่าเฉลี่ยคนทั่วโลกจะเห็นว่า คนไทยเป็นนักกินหวานที่สุดระดับหนึ่ง ซึ่งเด็กไทยจำนวนมากในปัจจุบันได้รับน้ำตาลจากการกินขนม นมหวาน นมเปรี้ยว และน้ำอัดลมมากเกินควร ส่งผลให้เด็กไทยเป็นโรคอ้วนมากขึ้นทุกวัน ซึ่งจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ฟันผุ หากไม่รีบดำเนินการแก้ไขรับรองอนาคตของชาติประสบปัญหาทางสุขภาพอย่างแน่นอน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน จัดประชุมโครงการ “รวมพลคนอ่อนหวานบูรณาการและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเด็กไทยสุขภาพดี” โดยมีการให้ความรู้ในการควบคุมการส่งเสริมการขายในสถานศึกษา (Food Marketing in School) เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในเรื่องการจำหน่ายขนมและเครื่องดื่มในโรงเรียนเพื่อสุขภาพ มีการประเมินวิธีการที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับโรงเรียน เพื่อนำข้อเสนอแนะเข้าสู่การทำแผนฯ ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 หลังพบโรงเรียนยังมีการเปิดพื้นที่ให้มีการนำขนม น้ำอัดลมเข้าไปขายในโรงเรียน
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. กล่าวว่า ผลการสำรวจเรื่องการตลาดอาหารในโรงเรียน พ.ศ. 2552 พบว่าเด็กคือเป้าหมายใหม่ทางการตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม และโรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและสังคมของเด็ก ที่จะถ่ายทอดอุดมการณ์ มีการกล่อมเกลาทางสังคม เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กที่อยู่ในโรงเรียน ด้วยการสร้างแรงดึงดูดในการขายสินค้า ซึ่งนำไปสู่การตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย ด้วยการอาศัยช่องว่างเมื่ออาหารมีไม่เพียงพอ เนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ จึงทำให้เกิดรูปแบบทางการตลาดในโรงเรียนขึ้น 4 ด้าน คือ 1.การขายผลิตภัณฑ์โดยตรง เช่น สิทธิในการเติม 2.การโฆษณาผลิตภัณฑ์โดยตรง เช่น ป้ายโฆษณาและโลโก้ตามที่ต่างๆ แจกตัวอย่างสินค้า สิ่งพิมพ์ของโรงเรียน สื่อในโรงเรียน 3.การโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางอ้อม การให้นักเรียนใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทผ่านกิจกรรมในโรงเรียน 4.การทำวิจัยผลิตภัณฑ์ สำรวจทางการตลาดและให้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ ฉะนั้นจึงอยากเชิญชวนครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง รณรงค์ห้ามให้ขายขนมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลกับเด็กเพื่อสุขภาพที่ดี
ด้าน ชาติชาย มุกสง นักวิชาการอิสระ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า มาตรการต่างประเทศเรื่องการตลาดอาหารสำหรับเด็กในโรงเรียน 1.การประกาศใช้มาตรการและกฎเกณฑ์ทั่วไปสำหรับทั้งสังคม กฎหมายบังคับ การขอความร่วมมือ 2.การส่งเสริมให้รู้เท่าทันสื่อ 3.การจัดการสิ่งแวดล้อมด้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพขึ้นในโรงเรียน โรงอาหาร ร้านค้า ตู้ขายต้องเป็นอาหารสุขภาพ 4.การสร้างสุขลักษณะนิสัยให้เกิดขึ้นในโรงเรียน การกิน การออกกำลังกาย 5.สร้างกลไกการจัดการอาหารในโรงเรียนแบบใหม่ จากไร่สู่โรงเรียน ซึ่งการออกมาตรการเหล่านี้ในต่างประเทศพบว่าประเทศเวียดนามมีการออกกฎหมายห้ามนำผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้ามาขายในโรงเรียน ประเทศบรูไนห้ามขายน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบในโรงเรียน ฉะนั้นประเทศไทยต้องมีหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบชัดเจนในภารกิจ ซึ่งน่าจะเป็นเครือข่าย มีการกำหนดนโยบายต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองและความต้องการของสังคม สอดคล้องกับศักยภาพและความพร้อมของแต่ละโรงเรียน สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการการจัดการอาหารในโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องรอทำพร้อมกัน
ขณะที่ กุลพร สุขุมาลตระกูล นักวิชาการโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า จากผลการศึกษาเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มในโรงเรียน โดยการคัดเลือกโรงเรียนแบบเฉพาะเจาะจง ที่เป็นโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่มีเครื่องดื่มหลากหลายชนิดจำหน่าย จำนวน 32 แห่ง สำรวจร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มภายในโรงเรียนทุกร้าน นำตัวอย่างเครื่องดื่มยอดนิยมของนักเรียนอย่างน้อยจำนวนโรงเรียนละ 4 ตัวอย่างรวม 128 ตัวอย่าง นำผู้ปรุงหรือผู้ผสมเครื่องดื่มจำหน่ายภายในโรงเรียน ทุกคน พบว่ามีการการใช้น้ำตาลผสมในเครื่องดื่มจำหน่ายจากผลวิเคราะห์ทั้ง 2 วิธี (การเจือจางมีหน่วยเป็นองศา(º)บริกซ์และห้องปฏิบัติการ) น้ำหวานเข็มข้นใส่น้ำแข็ง มีค่าเฉลี่ยสูงเป็น 2 เท่าของข้อแนะนำ หรือประมาณ 5 ช้อนชา ส่วนน้ำปั่น มีค่าเฉลี่ยประมาณ 10 ºบริกซ์หรือ 2.5 ช้อนชา ตามเกณฑ์กำหนดคือน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 10
กุลพร ได้บอกเล่าถึงการศึกษาสถานการณ์การจำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียนพื้นที่นำร่อง 19 จังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการเด็กไทยไม่กินหวาน จากข้อมูลกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ร้อยละ 20 ของโรงเรียนประถมศึกษาจำหน่ายน้ำอัดลมและเด็กดื่มน้ำอัดลมเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง และสูงสุด 3 ครั้ง ปริมาณเฉลี่ย 200 มิลลิลิตร หรือเกือบ 1 กระป๋องทำให้ได้รับน้ำตาลเฉลี่ย 7.4 ช้อนชาต่อครั้ง เกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ วันละ 6 ช้อนชาโดยน้ำอัดลมชนิดน้ำดำ (เป๊ปซี่/โค้ก) เป็นน้ำอัดลมที่เด็กชอบดื่มมากที่สุดถึงร้อยละ 72 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ อาทิ ฟันผุ ภาวะโภชนาการเกิน นำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆเมื่ออายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามเด็กเป็นอนาคตของชาติหากมีปัญหาด้านสุขภาพแล้วย่อมส่งผลต่อพลังในความคิด อ่าน หรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ
ปิดรั้วโรงเรียนห้ามนำขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ขายให้เด็ก ตามมาตรการต่างประเทศ หลังพบไทยกินหวานมากที่สุด!!!
////////////////////////////////

สสส.ชวน ‘หักดิบความหวาน มาแอ๊บ…ไม่กินน้ำตาล 1 วัน’ ต้อนรับวันเบาหวานโลก

โปรย “ต้องนึกไว้เสมอว่า ใน 1 วัน ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา และต้องพยายามทานผักผลไม้ให้ได้วันละ 3-5 กำมือ”
------------------------
เพราะ ‘น้ำตาล’ ไม่ใช่ธนาคาร จะได้ฝากชีวิตไว้ในอ้อมกอด
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน จัดงาน “หักดิบความหวาน แอ๊บไม่กินน้ำตาล 1 วัน” เพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายของโรคเบาหวาน ต้อนรับวันเบาหวานโลกซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี โดยในงานมีการสาธิตตรวจวัดความหวานจากน้ำตาลที่พบในเครื่องดื่ม เจาะเลือดตรวจน้ำตาล และโชว์นิทรรศการความหวานในอาหาร น้ำอัดลม และขนมขบเคี้ยวที่เราบริโภคเข้าไปทุกวันอย่างไม่ระวัง
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มน้ำผลไม้ ที่มีปริมาณน้ำตาล 5-8 ช้อนชา/ขวด กลุ่มนมปรุงแต่งที่มีน้ำตาลประมาณ 3-5 ช้อนชา/กล่อง หรือกลุ่มขนมกรุบกรอบยอดฮิตก็มีน้ำตาลประมาณ 1 ช้อนชา/กล่อง/ซอง
“ฉะนั้นกต้องนึกไว้เสมอว่า ใน 1 วัน ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา และต้องพยายามทานผักผลไม้ให้ได้วันละ 3-5 กำมือ” ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา กรรมการบริหารแผนสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. แนะวิธีการง่ายๆ เพื่อลดภัย “โรคเบาหวาน” ที่ปัจจุบันคร่าชีวิตคนไทยร่วม 3.5 คน แถมช่วง 20 ปีให้หลัง เด็กเยาวชนกลับกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราเพิ่มขึ้นร่วม 10 เท่า เพราะวิถีการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการบริโภคที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
“โชคดีหน่อย ‘อาหาร’ บางชนิดระบุน้ำตาลที่ผสมเข้าไป แต่บางชนิดที่ทำขึ้นเองอย่าง ‘นมเย็น น้ำปั่น’ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าค่าน้ำตาลที่เราดื่มเข้าไปมีมากขนาดไหน อย่างกลุ่มเยลลี่มีน้ำตาลถึง 4-5 ช้อนชา ขนมขบเคี้ยวมี 1-2 ช้อนชา เพราะฉะนั้นต้องระวังการกินอยู่ เพราะนอกจากจะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานแล้ว ยังเกิดเป็นภาวะ “อ้วนลงพุง” ซึ่งเป็นเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โดยเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ซม.ก่อนจะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่าอีกด้วย” ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา กล่าว
ขณะที่ ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ อุปนายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. กล่าวว่า หากนำคนไทยประมาณ 10 คนที่เป็นโรคร้ายแรงมาตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดมีถึง 3-4 คนเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ราว 3 ล้านคนต่อปี ตั้งแต่ปี 2003-2005 ทั่วโลกมีคนเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 71% ซึ่งจำนวนนี้มีผู้ป่วยเด็กรวมอยู่ด้วย และคนที่เป็นไตวายที่อายุมากมีโรคเบาหวานรวมอยู่ด้วยเพราะคนอายุมากชอบความหวานเพราะจะทำให้รู้สึกมีแรงทำให้สดชื่นเมื่อได้กินของหวาน แต่หากน้ำตาลเป็นเหมือนธนาคารก็จะดี เราจะได้มีเงิน เพราะร่างกายมีการสะสมน้ำตาลมาก
ด้าน เมย์ แฟนพันธุ์แท้คนชอบกินหวาน เล่าว่า “เป็นคนกินหวานมาตั้งแต่เด็กๆ ชอบกินอาหารและผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น ชอบกินน้ำตาลปี๊บเป็นของกินเล่น กินก๋วยเตี๋ยวใส่น้ำตาล 4 ช้อน ฯ หลังอาหารระยะหลังรู้สึกว่าเมื่อเป็นสิวแล้วจะหายช้า ปัสสาวะบ่อย และสังเกตเห็นมดดำขึ้นปัสสาวะของตัวเอง หลังจากกินน้ำอ้อยไป 4 ขวดใหญ่ เลยไปถามจากเพื่อนที่มีญาติเป็นเบาหวาน ทำให้รู้ว่า ตนมีอาการคล้ายผู้ป่วยเบาหวานระยะเริ่มต้น จึงไปตรวจเลือด โชคดีที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตอนนี้พยายามลดการกินหวานลงโดยทดลอง ‘แอ๊บไม่กินน้ำตาล’ หนึ่งวันตามคำแนะนำของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทำให้รู้ว่าการที่ต้องเคร่งครัดกับการบริโภคน้ำตาลตลอดชีวิตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพอไม่ได้กินหวานแล้วจะรู้สึกหงุดหงิด และกินอะไรไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่า เป็นเบาหวานแล้วมันไม่สนุก เลยพยายามลดละ ‘ความหวาน’ ให้น้อยลง”
สำหรับวิธีการตรวจเช็คให้แน่ใจว่าเป็นเบาหวานหรือไม่นั้น มีเพียงวิธีเดียวคือ การเจาะหาน้ำตาลในเลือด โดยคนปกติอายุเริ่มเข้าเลขสี่ควรจะเลือดตรวจทุกปี หรือทุก 3 ปี โดยคนปกติจะมีค่าน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่า 80-100 มิลลิกรัม% หากสูงกว่านั้นแต่ไม่เกิน 100-180 มิลลิกรัม% ถือว่าเข้ากลุ่มเสี่ยง และหากสูงมากกว่านั้น ก็ขอต้อนรับเข้าสู่โรคเบาหวานแน่นอน
สำหรับคนปกติ แม้หลังทานอาหารในแต่ละมื้อระดับน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่จะลดลงเป็นปกติภายใน 2 ชั่วโมง ขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานจะลดระดับน้ำตาลได้ช้า และใช้เวลานานมากกว่า ส่วนข้อสังเกตเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยเป็นเบาหวาน โดยเฉพาะในเด็กนั้น จะปัสสาวะบ่อยและมาก กระหายน้ำ กินจุแต่ผอม และมีอาการอ่อนเพลียบ่อย ควรมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดบ่อยครั้ง เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติร่วมกับเด็กคนอื่นๆ
ทั้งนี้การตรวจเลือด เราสามารถตรวจหาได้หลายวิธี แต่วิธีที่แม่นยำที่สุดคือ การวัดระดับกลูโคสในพลาสม่าหลังการอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าสะดวกและแม่นยำ หากระดับน้ำตาลในเลือด สูงกว่า 126 มิลลิกรัม% (7.0 mmol/L) สองครั้ง ก็แสดงว่า “คุณเป็นสมาชิกใหม่ในสมาคมผู้ป่วยโรคเบาหวาน” แล้ว
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ลองหักดิบความหวาน แอ๊บ…ไม่กินน้ำตาล 1 วัน กันก่อนจะดีกว่าไหม ? เพื่อจะได้ปิดประตูตาย ห่างไกลโรคเบาหวาน
//////////////////////////

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อย.สั่งเพิกถอนRosiglitazone หลังพบไม่ปลอดภัย

อย.สั่งเพิกถอนRosiglitazoneจากบัญชียาหลักไทย พร้อมเรียกเก็บยาคืนจากท้องตลาดอย่างเร่งด่วน
ด้าน สสส.จับมือ กพย. ส่งสัญญาณเตือนภัยยา Rosiglitazone เสี่ยงไม่ปลอดภัย ชี้ 30 ประเทศทั่วโลกร่วมแบน

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุม ซัฟฟายร์ 2 ชั้น 3 โรงแรม ริชมอนด์ ถนนรัตนาธิเบศน์ นนทบุรีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดประชุมเรื่องความเสี่ยงในการใช้ยาของคนไทย: กรณีศึกษายาเบาหวานโรซิกกรีตาโซน (Rosiglitazone) หลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แจ้งเตือนความเสี่ยงของการใช้ยา โรซิกกรีตาโซน และขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ให้ใช้ยาดังกล่าวเมื่อมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงเท่านั้น และผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่ไม่ควรหยุดใช้ยาเอง ให้ขอคำแนะนำจากแพทย์ ซึ่งยาโรซิกกรีตาโซน เป็นยาใหม่อยู่ในกลุ่ม thiazolidinedione ได้รับอนุมัติข้อบ่งใช้รักษาเบาหวานชนิดที่ 2 นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ในรูปแบบยาเม็ดมีทั้งที่เป็นสูตรยาเดี่ยวและสูตรยาผสม ได้แก่ Rosiglitazone (Avandia®) Rosiglitazone+metformin (Avandamet®) และ Rosiglitazone+glimepiride (Avandaryl®)
ในขณะที่องค์การด้านยาแห่งยุโรป (European Medicines Agency - EMEA) เสนอให้ระงับการจำหน่ายยารักษาโรคเบาหวานที่มีโรซิกกรีตาโซนเป็นส่วนประกอบ ภายใต้ชื่อการค้าเช่น Avandia, Avandamet และ Avaglim ซึ่งยาเหล่านี้จะไม่มีการจำหน่ายในยุโรปภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้คณะกรรมาธิการด้านเวชภัณฑ์ที่ใช้ในมนุษย์แห่งยุโรป (Committee for Medicinal Products for Human use/CHMP) ได้เริ่มศึกษาทบทวนข้อมูลยาโรซิกกรีตาโซน ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2010 ในประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยที่มีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ และเมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมว่ายาโรซิกกรีตาโซนเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบเหลอดเลือดหัวใจ และแนะนำให้ระงับการจำหน่ายในท้องตลาดทั้งนี้ ข้อแนะนำของคณะกรรมการได้ถูกส่งไปยังคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (the European Commission) เพื่อการรับรองและมีผลทางกฎหมายต่อไป
ภญ.วิมล สุวรรณเกศาวงษ์ หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. กล่าวว่า สืบเนื่องจากปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลด้านยา (Drug Regulatory Authority) ของประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงของยาโรซิกรีตาโซน เพิ่มเติม ซึ่งแบ่งเป็น2 มาตรการใหญ่ ๆ ได้แก่ การระงับการจำหน่าย และการจำกัดการใช้ยาอย่างเข้มงวดสำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการแจ้งเตือนบุคลากรทางการแพทย์ถึงความเสี่ยงของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ โรซิกรีตาโซนแล้ว และขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ให้ใช้ยาดังกล่าวเมื่อมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงเท่านั้น ล่าสุดการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาและเฝ้าระวังอันตรายจากการใช้ยาครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 29ตุลาคม 2553 ที่ประชุมมีมติเสนอคณะกรรมการยาให้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่มีส่วนประกอบของโรซิกรีตาโซน เนื่องจากมีข้อมูลความเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ในสหภาพยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์มีการระงับการจำหน่ายและให้ยานี้ออกจากท้องตลาด และมีตัวยาอื่นที่สามารถใช้ทดแทนได้และในช่วงระหว่างดำเนินการเสนอเพิกถอนทะเบียนตำรับยา ให้ขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตและผู้นำเข้าฯ ในการระงับการจำหน่ายยาที่มีส่วนประกอบของโรซิกรีตาโซน และเรียกเก็บยาคืนจากท้องตลาดอย่างเร่งด่วน
ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการในต่างประเทศในการตั้งรับยาโรซิกกรีตาโซนนั้น ล่าสุดสำนักยาแห่งยุโรป และ องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration/FDA) ซึ่งมีลักษณะการบริหารงานคล้าย อย. มีการเพิกถอนรายชื่อยาโรซิกกรีตาโซนไปแล้วจากตำหรับยา เช่นเดียวกับซูดาน อียิปต์ และอินเดีย รวมแล้วร่วม 30 ประเทศทั่วโลก เพราะมีผลวิจัยชี้ว่า เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ ขณะที่ประเทศไทย ยาโรซิกกรีตาโซนเคยอยู่ในบัญชี ง (ที่สั่งใช้ยาโดยผู้เชี่ยวชาญ) เมื่อปี 2547 แต่ได้ถูกถอดออกเมื่อปี 2550 ด้วยเพราะราคาที่สูง และความไม่ปลอดภัย แต่ก็ยังมีการนำเข้าอยู่ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์การเบิกจ่ายยาแพง โดยเฉพาะกลุ่มราชการที่สามารถเบิกค่ายาได้เต็มที่ก็กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก
“อยากให้ผู้ป่วยตระหนักรู้อยู่เสมอว่า การใช้ยาแพง ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะได้ยาดี และปลอดภัย หากไม่มีการตรวจสอบ โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการที่สามารถเบิกค่ารักษาและจ่ายยาได้เต็มจำนวน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป” ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว
รศ.ภก.ดร.ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยผลลัพธ์ทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงการศึกษาวิจัยความคุ้มค่าของการใช้ยาไพโอกรีตาโซน (Pioglitazone) เทียบกับยาโรซิกกรีตาโซน (Rosiglitazone) ซึ่งในขณะที่ทำการศึกษาในปี 2004 นั้น แม้ยาไพโอกรีตาโซนจะมีราคาสูงกว่าโรซิกกรีตาโซน แต่มีข้อมูลระบุว่า สามารถลดระดับไขมันได้ดีกว่า ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดที่สูงกว่า แต่ล่าสุดในช่วงปี 2007-2009 มีการวิจัยหลายฉบับที่แสดงให้เห็นผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจจากการใช้ยาโรซิกกรีตาโซน เมื่อประกอบกับในท้องตลาดเริ่มมียาไพโอกรีตาโซนที่เป็นยาสามัญจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่ายาโรซิกรีตาโซนที่เป็นยาต้นฉบับ ฉะนั้นข้อมูลปัจจุบันจึงสนับสนุนว่ายาไพโอกรีตาโซน จัดเป็นยาทางเลือกที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งในแง่ความปลอดภัยและความคุ้มค่า
ภญ.วรสุดา ยูงทอง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงสาเหตุที่ยาโรซิกรีทาโซนถูกถอนออกจากบัญชียาหลัก และล่าสุดอ.ย.ประกาศเพิกถอนแล้วนั้น เพราะเมื่อเทียบกับ pioglitazone แล้วมีข้อด้อยกว่าเรื่อง (1)ไม่มี generic product คือ มีบรรจุในบัญชียาหลักทำให้ต้องนำเข้า ค่าใช้จ่ายสูง (2) ต้องรับประทานวันละ 2 ครั้ง (3) ข้อมูลประสิทธิภาพต่อ lipid profile ด้อยกว่า pioglitazone (4) ซึ่งมีหลักฐานชี้ชวนว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย มีอาการปวดน้ำ โดยเฉพาะผู้หญิงมีความเสี่ยงในการเกิดกระดูกแตกหักได้ง่าย
/////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หนุน พ.ร.บ.การออม สร้างหลักมั่นคงสู่วัยชรา

--------------------------
โปรย : ระบุ ร่างพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ช่วยคนนอกระบบร่วม 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ สร้างชีวิตมั่นคงด้วยการออม เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปอายุ 20-60 ปีที่ไม่อยู่ในระบบราชการจ่ายเงินสมทบกองทุน 100-1,000 บาทต่อเดือน โดยจะมีการจ่ายเป็นรายเดือนหลังอายุ 60 ปี ตั้งเป้าลบภาพวัยชราถูกทอดทิ้ง
-------------------------
หลังจากที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้รับหลักการในร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ...โดยมีมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 338 ต่อ 0 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 36 คน กำหนดการแปรญัตติ 7 วัน โดยวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมาย เพื่อสร้างระบบการออม ให้กับผู้ที่อยู่นอกระบบบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันทางรายได้เหมือนกลุ่มข้าราชการ หรือลูกจ้างเอกชนที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมที่มีจำนวนอยู่ประมาณ 23.5 ล้านคน (ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรไทย 67.3 ล้านคน) โดยกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรัฐ ในลักษณะนิติบุคคล ทำหน้าที่ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และให้ดอกผลกับผู้ออมเมื่อครบกำหนด มุ่งเน้นให้ประชาชนมีหลักประกันทางสังคมเมื่อชราภาพ และมีรายได้ในการดำรงชีพในวัยชรา ขณะเดียวกันถือเป็นการสร้างวินัยการออมระดับครัวเรือน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เครือข่ายบำนาญประชาชน จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับการสร้างระบบบำนาญพื้นฐานที่เป็นจริง” เพื่อช่วยสร้างหลักประกันทางการเงินในยามชรา ด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ โดยหลักการเงินบำนาญประชาชนนั้น สามารถฝากเงินผ่านกองทุนโดยที่ประชาชนเป็นผู้ออมและรัฐบาลเป็นผู้สมทบ เมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้เงินบำนาญ การจัดเงินสมทบ จัดแบ่งเป็น อายุต่ำกว่า 20 ปี รัฐไม่จ่ายสมทบ อายุ 20-30 ปี รัฐสมทบ 50 บาท/เดือน อายุ 30-50 ปี รัฐสมทบ 80 บาท/เดือน และ อายุ 50-60 ปี รัฐสมทบ 100 บาท/เดือน เมื่อสมทบจนอายุครบ 60 ปี รัฐจะจ่ายคืนเป็นบำนาญไปจนกระทั่งเสียชีวิต โดยกฎหมายฉบับนี้เปรียบได้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. บอกถึงเป้าหมายของร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ว่า เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน เริ่มหันมาดูแลตัวเอง และสนใจกับอนาคตเมื่อเข้าวัยชรามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมที่มีประชากรวัยชรา (ประมาณ 7.3 ล้านคน) เหมือนสังคมของประเทศสิงคโปร์ การมีกองทุนการการออมระหว่างที่ประชาชนยังมีกำลังทำงานถือเป็นเรื่องดี ทำให้เกิดเงินออมระยะยาวสำหรับตัวเอง โดยมีรัฐบาลสมทบเข้ามา เพื่อใช้เป็นบำนาญเมื่อพ้นวัยทำงาน เหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับอนาคตตัวเอง ด้วยตัวเอง เรียกว่า เป็นหลักประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุมีชีวิตในอนาคตที่มั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่ง สสส.ได้ทำงานเรื่องนี้มา 2-3 ปี โดยการรวบรวมความรู้และนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาเป็นตัวอย่าง แล้วนำมาทำเป็นงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและให้ภาคประชาชนมาช่วยออกแบบจนนำมาเป็นร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ซึ่งหลักๆมีการสมทบจากคนที่มีแรงทำงาน มีองค์กรบริหารอิสระ โดยมีภาคีด้านแรงงานเป็นคนขับเคลื่อน
ส่วน สถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เล่าถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้ คือ ให้จัดตั้งกองทุนให้ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ซึ่งไม่อยู่ในระบบราชการ หรือได้รับบำเหน็จบำนาญ และสวัสดิการในระบบที่มีอยู่แล้ว เปิดให้ประชาชนผู้เข้าร่วมจ่ายเงินสมทบแบบการออม 100-1,000 บาท/เดือน แล้วรัฐจะจ่ายสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง โดยหลังจากที่อายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินเป็นรายเดือน ซึ่งจะช่วยให้คนที่อยู่นอกระบบ และไม่ได้ทำประกันสังคมได้รับบำนาญเมื่อเข้าสู่วัยชรา มีประสิทธิภาพที่ดีหลังวัยเกษียณอายุ โดยจะแยกออกมาคนละส่วนกับระบบการประกันสังคม และปัจจุบันคนในระบบที่ทำประกันสังคมมีเพียง 13% หากคนนอกระบบเข้ามาในระบบได้ถึงครึ่งหนึ่งของส่วนที่อยู่นอกระบบจะเป็นการรองรับให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา มีเงินออมเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันให้กับชีวิต
ด้าน เอนก จิรจิตอาทร เครือข่ายบำนาญประชาชน เล่าถึงความต่างของร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ของภาคประชาชนกับของกระทรวงการคลัง ว่า ร่างของรัฐบาลจะให้มีการถอนออกมาแล้วได้เงินหลังเกษียณอายุ เป็นเงินบำเหน็จ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการคือไม่ให้มีการถอน จะให้รับเป็นเงินบำนาญเพราะต้องการให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันที่มั่นคง เพราะที่ผ่านมาจะเห็นภาพคนชราถูกปล่อยทิ้งลูกหลานไม่เหลียวแลทำให้เกิดภาพขอรับเงินบริจาคช่วยเหลือ แต่หากร่าง พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นเชื่อว่าจะไม่มีภาพอย่างนี้เกิดขึ้นแน่นอน ตรงกันข้ามลูกหลานจะกลับมาให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติเปิดกว้างให้ทั้งคนในระบบและนอกระบบสามารถทำได้ยกเว้นข้าราชการ หากคนที่ทำประกันสังคมมีกำลังพอที่จะจ่ายทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปได้ การที่เปิดกว้างให้เข้าถึงสิทธิตรงนี้เพื่อต้องการให้ครอบคลุมเพราะต้องการให้ประชาชนมีหลักประกันที่มั่นคงหลังเกษียณอายุ
ขณะที่ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวว่า ระบบบำนาญควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมหากรัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ควรให้ประชาชนทุกคนเข้าเป็นสมาชิกร่วมออมได้ โดยไม่แยกส่วน โดยควรครอบคลุมไปถึงกลุ่มลูกจ้างเอกชนในระบบประกันสังคม (ปกส.) ด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ก็มีการเปลี่ยนงานจากในระบบ เป็นนอกระบบ หรือกลับไปกลับมา ก็จะทำให้บำนาญที่ได้จากระบบที่สังกัดอยู่น้อยลง
ไชโย!! ใครๆ ก็มีบำนาญได้แล้ว ใครอยากมีความมั่นคงให้กับชีวิตในตอนแก่ หันมาใส่ใจ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติหน่อยละกัน....
//////////////////////////////////