วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นำร่อง 7 จังหวัดแบนแร่ใยหิน หลังสคบ.ประกาศสินค้าอันตราย

---------------------
โปรย : ชวน 76 จ.เดินหน้าตรวจสอบการจัดทำฉลากสินค้าที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินของผู้ประกอบธุรกิจ และรายงานผลการดำเนินงานให้ สคบ.ทราบ หลังประกาศสินค้าอันตราย
---------------------
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการควบคุมสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน และมาตรการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมทั้งลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการควบคุมแร่ใยหิน โดยมีเหตุผล 10 ประการที่ต้องจัดการอันตรายจากแร่ใยหินแอสเบสตอส คือ
‎ 1. แอสเบสตอสเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ที่ยอมรับกันทั่วไป 2.ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นสองประเทศอุตสาหกรรมสุดท้ายที่ไม่มีการห้ามใช้แอสเบสตอส ในขณะที่มากกว่าห้าสิบประเทศได้มีการสั่งห้ามใช้แอสเบสตอสแล้ว เมื่อเดือนมกราคม 2010 3. องค์การอนามัยโลก ระบุว่ามีประชากรทั่วโลกประมาณ 125 ล้านคนที่ได้รับสัมผัสแร่ใยหินจากการทำงาน 4. ในแต่ละปี ชาวอเมริกันมากกว่า 1 หมื่นคนตายเนื่องจากการได้สัมผัสแร่ใยหิน และจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดประมาณได้ว่าในศตวรรษหน้า การสัมผัสแร่ใยหินจะคร่าชีวิตเฉพาะชาวอเมริกันได้สูงถึง 1 แสนคน 5. เมื่ออยู่ในสภาพอานุภาคขนาดเล็ก(ต่ำกว่า10ไมครอนซึ่งสามารถก่อโรคได้) อานุภาคขนาดเล็กของแร่ใยหิน สามารถล่องลอยไปไกลห่างจากแหล่งกำเนิดได้เป็นหลายร้อยไมล์ 6. การได้รับสัมผัสแร่ใยหินโดยการหายใจ(อานุภาคขนาดเล็ก) หรือการกลืนกินเข้าไป(จากการปนเปื้อนในอาหาร) จะก่อให้เกิดพยาธิสภาพแบบถาวร(รักษาไม่ได้)กับอวัยวะที่สำคัญ แร่ใยหินก่อให้เกิดโรคปอดจากแร่ใยหิน (ชื่อเฉพาะAsbestosis) มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ และมะเร็งที่มีการลุกลามรุนแรง (ชื่อเฉพาะ Mesothelioma) ผู้ป่วยจะมีอายุต่อไปได้ราว 6-12 เดือน
7. แร่ใยหินยังคงเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การทดสอบโดยองค์การให้ความรู้เกี่ยวกับแร่ใยหิน (ADAO) พบว่า ยังมีผลิตภัณฑ์ 5 ชนิดที่ยังมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ในจำนวนนี้มีผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กรวมอยู่ด้วย 8. แร่ใยหินมีระยะเวลาการดำเนินโรคนานมาก กล่าวคือ หลังจากที่ได้รับ/สัมผัสสารกว่าจะพัฒนาจนเกิดโรคได้ ใช้เวลานานถึง 50 ปีหรือมากกว่านั้น และการตรวจวินิจฉัยก็ยากลำบาก เนื่องจากมีโรคจากเหตุอื่นหลายโรคที่มีอาการและแนวทางการวินิจฉัยคล้ายๆกัน(โรคที่อาการคล้ายคลึงกัน) โรคจากแร่ใยหินรักษายาก (เนื่องจากพยาธิสภาพที่เสียหายของอวัยวะที่สำคัญไม่สามารถรักษาให้กลับเป็นปกติได้) ผู้ป่วยส่วนใหญ่รักษาไม่หายและส่วนใหญ่จะเสียชีวิต 9. องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) และรักษาการประธานกลุ่มศัลยแพทย์ทั่วไปของสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าการได้รับ/สัมผัสแร่ใยหินไม่มีระดับใดที่จัดได้ว่าปลอดภัย 10. แร่ไยหินได้มีการผลิตและนำมาใช้อย่างกว้างขวางในผลิตภัณฑ์ วัสดุ และการประยุกต์ใช้ต่างๆ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็รวมถึง การก่อสร้าง วัสดุฉนวนความร้อน ในท่าจอดเรือ และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมาก
รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สสส. บอกว่า การควบคุมแร่ใยหินที่เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนและนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยจะประสานเครือข่ายภาคประชาชนทั้ง 76 จังหวัดให้ตรวจสอบการจัดทำฉลากสินค้าของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินของผู้ประกอบธุรกิจ และรายงานให้ สคบ.ทราบ เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยมี 7 จังหวัดได้นำร่องเดินหน้าตรวจสอบจัดการอันตรายจากแร่ใยหินและมีการให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ แม้ร้านค้าหลายพื้นที่จะมีปฏิกิริยาตอบกลับอย่างไม่พอใจว่ารัฐบาลยังไม่มีการให้ข้อมูลว่าวัสดุที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินจะนำมาสู่การเสียชีวิตและเกิดโรคปอดอักเสบ จึงต้องเร่งให้ความรู้
ซึ่ง จังหวัดศรีษะเกษ ได้มีการศึกษาแร่ใยหินโดยมีการจัดการสัมมนาเพื่อบอกถึงอันตรายจากแร่ใยหินขึ้นมา 3 ครั้ง ซึ่งการจัดครั้งแรกเป็นการให้ความรู้และหาผู้นำในการแนะนำบอกต่ออันตรายของแร่ใยหิน และมีการพบเครือข่ายรุ่นที่ 2 รับร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดำเนินการรณรงค์ป้องกันยกเลิกนำเข้าผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน ครั้งที่ 3 ปี 2553 ได้จัดกิจกรรมคณะละครหุ่นมือศรีมงคล ในการสื่อถึงการเผยแร่อันตรายแร่ใยหิน มีกลไกระดับชุมชน ตำบล ประชุมค้นหานวัตกรรมรูปแบบการคุ้มครองผู้บริโภค จัดโครงการ กิจกรรม การสื่อสาร เนื่องจากประชาชนยังไม่รู้ถึงอันตรายของแร่ใยหินและยังไม่รู้ว่าแร่ใยหินนี้คืออะไรจากการที่นำเสนอละครหุ่นมือ ประชาชนได้รับรู้ถึงอันตรายแร่ใยหินและมีความตระหนักในการป้องกันมากขึ้น
ส่วนจังหวัดสุรินทร์ได้มีการขับเคลื่อนโดยการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนพร้อมจัดทำโปสเตอร์แจกในโรงเรียน การจัดรายการวิทยุ มีการให้ความรู้เรื่องแร่ใยหินแก่ประชาชนผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย และมีการสำรวจร้านค้าวัสดุก่อสร้างจำนวน 16ร้านค้า มีจำนวน 4 ร้านค้าไม่มีแร่ใยหิน แต่มีถึง 9 ร้านค้ามีแร่ใยหิน ส่วนอีก 3 ร้านค้ามีการปะปนกันซึ่งมีและไม่มีแร่ใยหิน จึงได้มีการให้ความรู้ประชาชนตระหนักถึงอันตราย และจากการสำรวจการรื้อถอนอาคารพบว่ามีผู้ป่วยจากการสัมผัสฝุ่นละอองมากขึ้นสาเหตุไม่อยากใส่หน้ากาก และถุงมือ ในขณะที่จังหวัดมหาสารคามได้มีการสำรวจแนวโน้มการขาย และผู้สัมผัสแร่ใยหินจนพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากการผลิตเครื่องกรองน้ำไฟเบอร์ที่มีส่วนผสมของแอสเบสตอส พร้อมทั้งมีการสำรวจช่างซ่อมมอเตอร์ไซด์ ที่ใช้เครื่องเป่าฝุ่นเกิดการหายใจติดขัด ตรวจพบว่าฝุ่นเกาะในปอดมากเกินไป เกิดปอดแห้ง
ส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และ จังหวัดนครราชสีมา มีการเชิญชวนนักเรียนเข้าร่วมรณรงค์ พร้อมทั้งมีการจัดอบรมให้ความรู้กับแกนนำนักเรียน5โรงเรียน โดยมีการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยการทำ อย.น้อยในโรงเรียน และมีการออกแบบกิจกรรมชุมชน มีอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมรณรงค์ด้วย และมีการจัดตั้งชมรม 17 ชมรม เพื่อจัดทำแผนรณรงค์ และมีการนำเสนอละครให้ความรู้เรื่องแร่ใยหิน มีการให้รับรู้ชีวิตการทำงานเพื่อเลี้ยงครอบครัว แต่ได้รับผลกระทบด้วยการเจ็บป่วยจากแร่ใยหิน ทางจังหวัดจึงพร้อมจะยกเลิกนำเข้า
ด้านจังหวัดเชียงราย มีการคุ้มครองผู้บริโภคแร่ใยหิน และจัดเวทีอบรมให้ความรู้สร้างความเข้าใจถึงอันตราย สอดแทรกเนื้อหาบอกถึงพิษ มีการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ จากผลการดำเนินงานพบว่าผู้บริโภคเกิดความเข้าใจและตระหนักสิทธิ มีการป้องกันจากการสัมผัส และสุดท้ายจังหวัดตรังมีการจัดประชุมชี้แจงให้ความรู้รายละเอียดใน 10 อำเภอจำนวน 100 คน มีหน่วยงานราชการ มีผู้รับผิดชอบงานในระดับอำเภอ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ แต่ต้องประสบปัญหาผู้ประกอบการไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เนื่องจากมีความเข้าใจว่าระดับประเทศยังไม่มีการขับเคลื่อน แต่สุดท้ายก็เข้าใจจึงให้ความร่วมมือ พร้อมที่จะยกเลิกนำเข้า
ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ทุกคนร่วมมือร่วมใจ ปกป้องสิทธิของตนการกระทำดังกล่าว จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของผู้บริโภค!!!!!
/////////////////////////

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สร้างจิตสำนึกคนไทยรู้พิษสงอาหารมัน-หวาน อย่าตามเทรนด์เลี้ยงลูกแบบเทิดทูน แก้ปัญหาอ้วนลงพุง

----------------------
โปรย : มาตรการพิชิตอ้วน พิชิตพุง 1.ปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร 2.เคลื่อนไหวออกแรงและออกกำลังกาย 3.ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก
-----------------------
“ความอ้วน” นอกจากทำให้สวยน้อยลงแล้ว ยังเป็นสาเหตุของสารพัดโรค ยิ่งอ้วนก็ยิ่งมีโรคได้หลายอย่างมากขึ้น ที่ผ่านมาเรารู้จักแต่คำว่า ดัชนีมวลกายซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าอ้วน แต่ในระยะหลังพบว่าความเสี่ยงต่อโรคมีมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีลักษณะอ้วนลงพุง คือ จะมีสะโพกเล็ก ไหล่กว้าง และลงพุง ซึ่งเป็นลักษณะอ้วนที่อันตรายที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าคนอ้วนสองคน ที่มีน้ำหนักตัวมากเท่ากัน คนอ้วนที่ลงพุงมากจะเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งรุนแรงถึงขั้นทำให้เป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้มากกว่าคนอ้วนชนิดไม่ลงพุงเป็นเท่าทวี และยังจะต้องแบกรับความทุกข์อื่นอีก เช่น ข้อกระดูกเสื่อม การหายใจไม่อิ่ม ทำให้ง่วงซึม หายใจไม่เต็มปอด มากกว่าคนอ้วนที่สะโพกใหญ่ “อ้วนลงพุง”เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในบริเวณช่องท้องมากกว่าปกติ ในขณะเดียวกันก็สะสมในอวัยวะที่สำคัญ และอันตรายได้ง่ายด้วย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดเสวนา Focus Group ข้อเสนอเชิงนโยบาย: การแก้ปัญหาโรคอ้วน / อ้วนลงพุงในบริบทประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการแก้ปัญหาอ้วนลงพุงในประเทศไทย ในชุดโครงการจัดการความรู้และสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเครือข่ายคนไทยไร้พุง เพื่อช่วยลดและแก้ปัญหาโรคอ้วนลงพุง ที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ทั้ง โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ที่ควรเสนอกฎหมายสื่อที่เสริมสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ผู้คุมนโยบายทุกระดับควรมีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน เพราะอ้วนลงพุงกำลังเป็นเพชฌฆาตเงียบคร่าชีวิตคนทั่วโลกเสียชีวิตวันละหลายคน และนำไปสู่ความเจ็บป่วยและอัมพาต อัมพฤกษ์ อีกมากมาย
โดยสิ่งที่ผู้เข้าร่วมสนทนาต้องการเห็นและเกิดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโรคอ้วน คือ สื่อต้องลงในกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน เข้าใจง่ายและจริงใจ หลักสูตรการเรียนต้องเป็นการใช้องค์ความรู้กับสถานการณ์จริง มีการปรับเปลี่ยนที่มีระบบการประเมินและวิเคราะห์เป็นระยะ ส่งเสริมกิจกรรมในเด็กที่สอดคล้องกับวัย ผู้นำทางความคิด ทั้งนักการเมือง สื่อทุกรูปแบบเข้าถึงพฤติกรรมของคนแต่ละกลุ่ม มีการรณรงค์และให้ความรู้กับประชาชนทุกพื้นที่ ลดการโฆษณาอาหารขบเคี้ยวเพื่อดูแลสุขภาพ ให้ความรู้เบื้องต้น กลุ่มเป้าหมายเด็กต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เกิดชมรมทุกภาคส่วนในการดูแลเด็ก พัฒนาศักยภาพให้องค์ความรู้หรือฝึกทักษะและแนวทาง การดำเนินงานต้องสอดคล้องกับบริบท หลักสูตรการเรียนต้องเอาสถานการณ์จริงสอดแทรกเข้าไปด้วย เข้มงวดเรื่องการจัดอาหารกลางวัน เช่น เด็กก่อนวัยเรียนลดนมขวด เด็กปฐมวัยต้องมีการจัดอาหารที่เหมาะสมกับวัย ออกกฎหมายควบคุมปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม ฉลากควรทำให้อ่านง่าย ต้องบังคับติดฉลากกฏหมายควบคุมน้ำตาลกำกับเครื่องดื่มและอาหาร ส่งเสริมกิจกรรมของเด็กที่สอดคล้องทำได้จริง โดยการใช้เครื่องมือทุกวิถีทาง ร้านอาหารทำป้ายปริมาณ และควรใช้คำพูดการสื่อสารคำเดียวกัน
ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่มีข่าวออกมามากมายว่าคนไทยประสบปัญหาภาวะโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นมหันตภัยเงียบที่เราคาดไม่ถึง และปฏิบัติการที่จะสามารถฝ่าวิกฤต พิชิตอ้วน พิชิตพุง คือ 1.ปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร 2.เคลื่อนไหวออกแรงและออกกำลังกาย3.ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก
ด้าน พนอ อี้รักษา นักวิชาการศึกษา ชำนาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บอกว่า ตามที่ได้จัดการเรื่องการบริโภคในโรงเรียนจะพบว่าการบริโภคของเด็กจะตามใจปาก เพราะครอบครัวดูแลเด็กแบบเทิดทูนคือการซื้ออาหารกักตุนไว้ให้เด็ก เช่น ไส้กรอก ขนมเค้ก ขนมหวาน หรือพวกอาหารขยะ ทำให้เด็กไม่ค่อยกินข้าวตามที่ทางโรงเรียนจัดไว้ให้ เพราะเคยชินกับอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ผู้ปกครองเตรียมไว้ให้หลังเลิกเรียน ขณะที่บางโรงเรียนยังมีร้านค้าและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กหาสิ่งมาบริโภค เด็กก็จะเลือกแต่อาหารที่ตนเองเคยชิน ทำให้เสี่ยงต่อการบริโภคอาหารที่มันและหวาน ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานและโรคกระดูก ฉะนั้นควรสร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน ชุมชนและโรงเรียน มีการจัดสื่อและเผยแพร่ข้อมูลให้ถึงผู้บริโภค เพราะปัจจุบันประชาชนยังไม่ทราบถึงผลเสียโรคอ้วน ความตระหนักจึงยังไม่เกิด จึงไม่เชื่อว่าโรคอ้วนจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นได้ เพราะหากประชาชนไม่ทราบถึงผลเสียที่เกิดขึ้นปัญหาโรคอ้วนก็จะตามมา
ขณะที่ ฐิติรัตน์ พูนศิริชัยกิจ ผู้ดำเนินรายการ Healthy Time สถานีวิทยุ FM 99 อสมท.ระบุถึง ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโรคอ้วนคือต้องเริ่มจากตัวเองและครอบครัวในการจัดการเรื่องการบริโภคอาหาร เพื่อนำไปสู่โรงเรียน เพราะเด็กต้องเริ่มเรียนรู้จากครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสอนและเตรียมอาหารที่เหมาะต่อสุขภาพ อย่าตามใจเด็กและอย่ากลัวว่าเด็กจะหิว เพราะหากพ่อแม่ผู้ปกครองพยายามหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้และเด็กกินอิ่มก็จะไม่เกิดการหิวอาหารขยะ ซึ่งผู้ปกครองบางคนรู้แต่รู้ผิด และนักวิชาการอย่าเอาเรื่องของการตลาดเข้าไปจับ
ส่วน นพ.กฤช ลี่ทองอิน ผู้จัดการกองทุนพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและกองทุนพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทย บอกว่าควรมีการออกนโยบายอย่างชัดเจนในการแก้ปัญหาโรคอ้วน เพราะสามารถเปลี่ยนแนวคิดของประชาชนได้และช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงจุดเชื่อว่าแนวโน้มการอ้วนลดลง และหากผู้นำท้องถิ่นเข้าใจเรื่องนี้ก็สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย พร้อมเปรียบเทียบให้เห็นถึงการแก้ปัญหาโรคอ้วนของต่างประเทศที่มีการให้ความรู้และข้อมูลกับประชาชน แต่บ้านเราไม่ค่อยมีสื่อที่ให้ข้อมูลกับประชาชนจึงเกิดเรื่องของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หากเราสามารถจัดการได้ก็จะเกิดประสิทธิภาพ เช่นเรื่องการออกกำลังกาย และสิ่งแวดล้อมทางสังคม สื่อวิทยุโทรทัศน์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรมีการโฆษณาให้รู้ถึงพิษของอาหารหวาน ประโยชน์ของการออกกำลังกาย และสถานพยาบาลยังขาดทักษะในการพูดคุยกับผู้ป่วย เช่นให้ไปปรับเรื่องการกินอาหาร เรื่องการออกกำลังกาย แต่ไม่บอกลึกถึงรายละเอียด
แม้โรคอ้วนเป็นเรื่องของพฤติกรรมและบุคคล แต่เราสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยความตระหนักถึง 3 อ. คือ อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย...
//////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ตลาดนัดสีเขียว…ตลาดที่เปิดโอกาสให้ ‘ขอบคุณ’ ชีวิต แบบ ‘กรีนดี้’ ’

โปรย : เน้นธรรมชาติบำบัดดูแลสุขภาพร่างกาย แนะเปลี่ยนวิถีบริโภค เพื่อโลก เพื่อเรา ชวนบริโภคผักปลอดสารพิษชีวิตยืนยาว
----------------------
ศิลปการเยียวยาร่างกายและจิตใจ เพื่อสมดุลของชีวิต ด้วยธรรมชาติบำบัด เป็นคู่มือที่นำมาใช้ได้ทันที ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน พักผ่อน สิ่งแวดล้อม อันเป็นองค์ความรู้ใหม่ ที่ให้ร่างกายรักษาตัวเองได้ตามธรรมชาติ
เมื่อเร็วๆนี้ โรงพยาบาลต้นแบบที่โรงพยาบาลกรุงธน 1 ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดงานเปิดโครงการ “ตลาดนัดสีเขียว” แห่งที่ 5 เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมถึงพนักงานในองค์กร ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ปลูกและผลิตขึ้น โดยไร้สารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
เพียงพร ลาภคล้อยมา วิทยากรอิสระธรรมชาติกับการเยียวยา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรดูแลบำบัดร่างกายง่ายๆด้วยแนวทางธรรมชาติว่า ธรรมชาติบำบัดคือการใช้ธรรมชาติที่อยู่รอบตัวดูแลตัวเอง เธอยกตัวอย่างง่ายๆให้เข้าใจว่า
“เวลาตื่นนอนอย่ารีบลุกให้นอนนิ่งๆเพื่อชิมความสงบในตอนเช้า ให้โอกาสกับลมหายใจ สูดลมหายใจเข้าลึกๆสู่ปอด แล้วพลิกตัวไปมาเพื่อเป็นการปรับเลือดในร่างกาย จากนั้นค่อยๆจิบน้ำให้มีความรู้สึกตัว อมไว้ในกระพุ้งแก้มซ้ายย้ายไปขวาเพราะน้ำต้องการการย่อยสลายเช่นกัน” เพียรพอกล่าว
และเสริมว่า การบ้วนปากก่อนแปรงฟันให้บ้วนปาก 1 ครั้ง อมน้ำมันมะพร้าวไว้ในปาก 20 วินาที เพื่อเอาของเสียออกจากตัว จากนั้นให้ใช้ใบมะม่วง หรือใบฝรั่ง ที่จะช่วยลดกลิ่นปาก มาถูฟันแล้วอมทิ้งไว้สักครู่ จะทำให้เราอยู่กับฟันด้วยความขอบคุณ เช่นเดียวกับกานพลูที่ช่วยลดอาการปวดฟันได้
นอกจากนี้ เพียงพร ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงยาสีฟันในท้องตลาด เพราะมีสารก่อมะเร็ง จึงแนะนำให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติ ส่วนการล้างหน้าให้ใช้ถั่วเขียวปั่นละเอียดร่อนด้วยผ้าขาวบางให้ได้ผงละเอียดควรเลือกที่ปลอดสารพิษเอามาลูบใบหน้าแตะไปให้ทั่วแล้วถูขึ้นวนเป็นก้นหอย คางและหน้าผากให้ถูเป็นเส้นขนาน จมูกใช้ถูขึ้นจะสามารถขจัดสิวเสี้ยนได้ดี เพราะเปลือกถั่วเขียวมีความคงทนสามารถผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก สำหรับการอาบน้ำให้มีความสุขก็ใช้ถั่วเขียวป่นเช่นกัน เหมาะกับทุกฤดูกาล โดยเฉพาะหน้าหนาวเพราะจะทิ้งความรื่นไว้ที่ผิว นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยลดเชื้อราในร่มผ้า
สำหรับอาหารเช้าควรกินผักผลไม้ ที่สดและใหม่ ผลไม้ที่เราจะกิน หรือน้ำผลไม้ จะเป็นชนิดไหนก็ได้ สำคัญที่สุดคือ ต้องสด 100% เพราะร่างกายเราจะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด เมื่ออยู่ในสภาพธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการเสพความสุข จากอาหารเช้าที่เป็นมื้อสำคัญ
“หากทำได้ ควรกินก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพราะเป็นช่วงที่กระเพาะอาหารทำงานได้ดี ถ้ากินได้ทุกวันกระเพาะอาหารจะแข็งแรง ที่สำคัญคือหน้าไม่แก่เร็วด้วย ส่วนใครที่ทานผักผลไม้ปั่นจะช่วยย่อยสลายได้ง่ายเพียง 15 นาที จะทำให้สมองปลอดโปร่ง เพราะช่วงเวลาการตัดสินใจอยู่ที่ประมาณ 9 – 10 โมงเช้า โดยในแต่ละมื้อต้องไม่กินอาหารจำเจ เพราะใน 1 ฤดูมีอาหารที่เหมาะกับร่างกาย ฉะนั้นควรกินให้หลากหลาย เลือกที่ปลอดสารพิษ ส่วนข้าวขอแนะนำให้หุงข้าวผสมลูกเดือยเพราะลูกเดือยช่วยดูแลไต” เพียรพรกล่าวทิ้งท้าย
เพียงเริ่มจากการคิด “ขอบคุณ” ชีวิต ด้วย “ตัวเอง” โรคภัยก็โบกมือบ๊ายบาย!!!
////////////////////////////////

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มาตรการปิดรั้ว…ฉิก ฉิก: ชวน ‘โรงเรียน’ หนีภัย ‘อ้วน’ ห้ามขายขนมหวานให้วัยโจ๋

โปรย : ประเทศเวียดนามมีการออกกฎหมายห้ามนำผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้ามาขายในโรงเรียน ประเทศบรูไนห้ามขายน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบในโรงเรียน
-------------------
ทุกวันนี้คนไทยบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็นของร่างกาย ตามสถิติพบว่า คนไทยกินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 16 ช้อนชา ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการกินหวานของคนทั่วโลกเฉลี่ยวันละ 11 ช้อนชา ทั้งๆที่ปริมาณน้ำตาลระดับพอดีต่อร่างกายเฉลี่ยวันละ 6 ช้อนชา เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการบริโภคน้ำตาลของคนไทยกับค่าเฉลี่ยคนทั่วโลกจะเห็นว่า คนไทยเป็นนักกินหวานที่สุดระดับหนึ่ง ซึ่งเด็กไทยจำนวนมากในปัจจุบันได้รับน้ำตาลจากการกินขนม นมหวาน นมเปรี้ยว และน้ำอัดลมมากเกินควร ส่งผลให้เด็กไทยเป็นโรคอ้วนมากขึ้นทุกวัน ซึ่งจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ฟันผุ หากไม่รีบดำเนินการแก้ไขรับรองอนาคตของชาติประสบปัญหาทางสุขภาพอย่างแน่นอน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน จัดประชุมโครงการ “รวมพลคนอ่อนหวานบูรณาการและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเด็กไทยสุขภาพดี” โดยมีการให้ความรู้ในการควบคุมการส่งเสริมการขายในสถานศึกษา (Food Marketing in School) เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในเรื่องการจำหน่ายขนมและเครื่องดื่มในโรงเรียนเพื่อสุขภาพ มีการประเมินวิธีการที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับโรงเรียน เพื่อนำข้อเสนอแนะเข้าสู่การทำแผนฯ ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 หลังพบโรงเรียนยังมีการเปิดพื้นที่ให้มีการนำขนม น้ำอัดลมเข้าไปขายในโรงเรียน
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. กล่าวว่า ผลการสำรวจเรื่องการตลาดอาหารในโรงเรียน พ.ศ. 2552 พบว่าเด็กคือเป้าหมายใหม่ทางการตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม และโรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและสังคมของเด็ก ที่จะถ่ายทอดอุดมการณ์ มีการกล่อมเกลาทางสังคม เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กที่อยู่ในโรงเรียน ด้วยการสร้างแรงดึงดูดในการขายสินค้า ซึ่งนำไปสู่การตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย ด้วยการอาศัยช่องว่างเมื่ออาหารมีไม่เพียงพอ เนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ จึงทำให้เกิดรูปแบบทางการตลาดในโรงเรียนขึ้น 4 ด้าน คือ 1.การขายผลิตภัณฑ์โดยตรง เช่น สิทธิในการเติม 2.การโฆษณาผลิตภัณฑ์โดยตรง เช่น ป้ายโฆษณาและโลโก้ตามที่ต่างๆ แจกตัวอย่างสินค้า สิ่งพิมพ์ของโรงเรียน สื่อในโรงเรียน 3.การโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางอ้อม การให้นักเรียนใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทผ่านกิจกรรมในโรงเรียน 4.การทำวิจัยผลิตภัณฑ์ สำรวจทางการตลาดและให้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ ฉะนั้นจึงอยากเชิญชวนครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง รณรงค์ห้ามให้ขายขนมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลกับเด็กเพื่อสุขภาพที่ดี
ด้าน ชาติชาย มุกสง นักวิชาการอิสระ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า มาตรการต่างประเทศเรื่องการตลาดอาหารสำหรับเด็กในโรงเรียน 1.การประกาศใช้มาตรการและกฎเกณฑ์ทั่วไปสำหรับทั้งสังคม กฎหมายบังคับ การขอความร่วมมือ 2.การส่งเสริมให้รู้เท่าทันสื่อ 3.การจัดการสิ่งแวดล้อมด้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพขึ้นในโรงเรียน โรงอาหาร ร้านค้า ตู้ขายต้องเป็นอาหารสุขภาพ 4.การสร้างสุขลักษณะนิสัยให้เกิดขึ้นในโรงเรียน การกิน การออกกำลังกาย 5.สร้างกลไกการจัดการอาหารในโรงเรียนแบบใหม่ จากไร่สู่โรงเรียน ซึ่งการออกมาตรการเหล่านี้ในต่างประเทศพบว่าประเทศเวียดนามมีการออกกฎหมายห้ามนำผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้ามาขายในโรงเรียน ประเทศบรูไนห้ามขายน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบในโรงเรียน ฉะนั้นประเทศไทยต้องมีหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบชัดเจนในภารกิจ ซึ่งน่าจะเป็นเครือข่าย มีการกำหนดนโยบายต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองและความต้องการของสังคม สอดคล้องกับศักยภาพและความพร้อมของแต่ละโรงเรียน สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการการจัดการอาหารในโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องรอทำพร้อมกัน
ขณะที่ กุลพร สุขุมาลตระกูล นักวิชาการโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า จากผลการศึกษาเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มในโรงเรียน โดยการคัดเลือกโรงเรียนแบบเฉพาะเจาะจง ที่เป็นโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่มีเครื่องดื่มหลากหลายชนิดจำหน่าย จำนวน 32 แห่ง สำรวจร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มภายในโรงเรียนทุกร้าน นำตัวอย่างเครื่องดื่มยอดนิยมของนักเรียนอย่างน้อยจำนวนโรงเรียนละ 4 ตัวอย่างรวม 128 ตัวอย่าง นำผู้ปรุงหรือผู้ผสมเครื่องดื่มจำหน่ายภายในโรงเรียน ทุกคน พบว่ามีการการใช้น้ำตาลผสมในเครื่องดื่มจำหน่ายจากผลวิเคราะห์ทั้ง 2 วิธี (การเจือจางมีหน่วยเป็นองศา(º)บริกซ์และห้องปฏิบัติการ) น้ำหวานเข็มข้นใส่น้ำแข็ง มีค่าเฉลี่ยสูงเป็น 2 เท่าของข้อแนะนำ หรือประมาณ 5 ช้อนชา ส่วนน้ำปั่น มีค่าเฉลี่ยประมาณ 10 ºบริกซ์หรือ 2.5 ช้อนชา ตามเกณฑ์กำหนดคือน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 10
กุลพร ได้บอกเล่าถึงการศึกษาสถานการณ์การจำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียนพื้นที่นำร่อง 19 จังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการเด็กไทยไม่กินหวาน จากข้อมูลกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ร้อยละ 20 ของโรงเรียนประถมศึกษาจำหน่ายน้ำอัดลมและเด็กดื่มน้ำอัดลมเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง และสูงสุด 3 ครั้ง ปริมาณเฉลี่ย 200 มิลลิลิตร หรือเกือบ 1 กระป๋องทำให้ได้รับน้ำตาลเฉลี่ย 7.4 ช้อนชาต่อครั้ง เกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ วันละ 6 ช้อนชาโดยน้ำอัดลมชนิดน้ำดำ (เป๊ปซี่/โค้ก) เป็นน้ำอัดลมที่เด็กชอบดื่มมากที่สุดถึงร้อยละ 72 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ อาทิ ฟันผุ ภาวะโภชนาการเกิน นำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆเมื่ออายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามเด็กเป็นอนาคตของชาติหากมีปัญหาด้านสุขภาพแล้วย่อมส่งผลต่อพลังในความคิด อ่าน หรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ
ปิดรั้วโรงเรียนห้ามนำขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ขายให้เด็ก ตามมาตรการต่างประเทศ หลังพบไทยกินหวานมากที่สุด!!!
////////////////////////////////

สสส.ชวน ‘หักดิบความหวาน มาแอ๊บ…ไม่กินน้ำตาล 1 วัน’ ต้อนรับวันเบาหวานโลก

โปรย “ต้องนึกไว้เสมอว่า ใน 1 วัน ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา และต้องพยายามทานผักผลไม้ให้ได้วันละ 3-5 กำมือ”
------------------------
เพราะ ‘น้ำตาล’ ไม่ใช่ธนาคาร จะได้ฝากชีวิตไว้ในอ้อมกอด
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน จัดงาน “หักดิบความหวาน แอ๊บไม่กินน้ำตาล 1 วัน” เพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายของโรคเบาหวาน ต้อนรับวันเบาหวานโลกซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี โดยในงานมีการสาธิตตรวจวัดความหวานจากน้ำตาลที่พบในเครื่องดื่ม เจาะเลือดตรวจน้ำตาล และโชว์นิทรรศการความหวานในอาหาร น้ำอัดลม และขนมขบเคี้ยวที่เราบริโภคเข้าไปทุกวันอย่างไม่ระวัง
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มน้ำผลไม้ ที่มีปริมาณน้ำตาล 5-8 ช้อนชา/ขวด กลุ่มนมปรุงแต่งที่มีน้ำตาลประมาณ 3-5 ช้อนชา/กล่อง หรือกลุ่มขนมกรุบกรอบยอดฮิตก็มีน้ำตาลประมาณ 1 ช้อนชา/กล่อง/ซอง
“ฉะนั้นกต้องนึกไว้เสมอว่า ใน 1 วัน ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา และต้องพยายามทานผักผลไม้ให้ได้วันละ 3-5 กำมือ” ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา กรรมการบริหารแผนสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. แนะวิธีการง่ายๆ เพื่อลดภัย “โรคเบาหวาน” ที่ปัจจุบันคร่าชีวิตคนไทยร่วม 3.5 คน แถมช่วง 20 ปีให้หลัง เด็กเยาวชนกลับกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราเพิ่มขึ้นร่วม 10 เท่า เพราะวิถีการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการบริโภคที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
“โชคดีหน่อย ‘อาหาร’ บางชนิดระบุน้ำตาลที่ผสมเข้าไป แต่บางชนิดที่ทำขึ้นเองอย่าง ‘นมเย็น น้ำปั่น’ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าค่าน้ำตาลที่เราดื่มเข้าไปมีมากขนาดไหน อย่างกลุ่มเยลลี่มีน้ำตาลถึง 4-5 ช้อนชา ขนมขบเคี้ยวมี 1-2 ช้อนชา เพราะฉะนั้นต้องระวังการกินอยู่ เพราะนอกจากจะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานแล้ว ยังเกิดเป็นภาวะ “อ้วนลงพุง” ซึ่งเป็นเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โดยเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ซม.ก่อนจะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่าอีกด้วย” ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา กล่าว
ขณะที่ ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ อุปนายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. กล่าวว่า หากนำคนไทยประมาณ 10 คนที่เป็นโรคร้ายแรงมาตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดมีถึง 3-4 คนเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ราว 3 ล้านคนต่อปี ตั้งแต่ปี 2003-2005 ทั่วโลกมีคนเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 71% ซึ่งจำนวนนี้มีผู้ป่วยเด็กรวมอยู่ด้วย และคนที่เป็นไตวายที่อายุมากมีโรคเบาหวานรวมอยู่ด้วยเพราะคนอายุมากชอบความหวานเพราะจะทำให้รู้สึกมีแรงทำให้สดชื่นเมื่อได้กินของหวาน แต่หากน้ำตาลเป็นเหมือนธนาคารก็จะดี เราจะได้มีเงิน เพราะร่างกายมีการสะสมน้ำตาลมาก
ด้าน เมย์ แฟนพันธุ์แท้คนชอบกินหวาน เล่าว่า “เป็นคนกินหวานมาตั้งแต่เด็กๆ ชอบกินอาหารและผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น ชอบกินน้ำตาลปี๊บเป็นของกินเล่น กินก๋วยเตี๋ยวใส่น้ำตาล 4 ช้อน ฯ หลังอาหารระยะหลังรู้สึกว่าเมื่อเป็นสิวแล้วจะหายช้า ปัสสาวะบ่อย และสังเกตเห็นมดดำขึ้นปัสสาวะของตัวเอง หลังจากกินน้ำอ้อยไป 4 ขวดใหญ่ เลยไปถามจากเพื่อนที่มีญาติเป็นเบาหวาน ทำให้รู้ว่า ตนมีอาการคล้ายผู้ป่วยเบาหวานระยะเริ่มต้น จึงไปตรวจเลือด โชคดีที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตอนนี้พยายามลดการกินหวานลงโดยทดลอง ‘แอ๊บไม่กินน้ำตาล’ หนึ่งวันตามคำแนะนำของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทำให้รู้ว่าการที่ต้องเคร่งครัดกับการบริโภคน้ำตาลตลอดชีวิตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพอไม่ได้กินหวานแล้วจะรู้สึกหงุดหงิด และกินอะไรไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่า เป็นเบาหวานแล้วมันไม่สนุก เลยพยายามลดละ ‘ความหวาน’ ให้น้อยลง”
สำหรับวิธีการตรวจเช็คให้แน่ใจว่าเป็นเบาหวานหรือไม่นั้น มีเพียงวิธีเดียวคือ การเจาะหาน้ำตาลในเลือด โดยคนปกติอายุเริ่มเข้าเลขสี่ควรจะเลือดตรวจทุกปี หรือทุก 3 ปี โดยคนปกติจะมีค่าน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่า 80-100 มิลลิกรัม% หากสูงกว่านั้นแต่ไม่เกิน 100-180 มิลลิกรัม% ถือว่าเข้ากลุ่มเสี่ยง และหากสูงมากกว่านั้น ก็ขอต้อนรับเข้าสู่โรคเบาหวานแน่นอน
สำหรับคนปกติ แม้หลังทานอาหารในแต่ละมื้อระดับน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่จะลดลงเป็นปกติภายใน 2 ชั่วโมง ขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานจะลดระดับน้ำตาลได้ช้า และใช้เวลานานมากกว่า ส่วนข้อสังเกตเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยเป็นเบาหวาน โดยเฉพาะในเด็กนั้น จะปัสสาวะบ่อยและมาก กระหายน้ำ กินจุแต่ผอม และมีอาการอ่อนเพลียบ่อย ควรมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดบ่อยครั้ง เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติร่วมกับเด็กคนอื่นๆ
ทั้งนี้การตรวจเลือด เราสามารถตรวจหาได้หลายวิธี แต่วิธีที่แม่นยำที่สุดคือ การวัดระดับกลูโคสในพลาสม่าหลังการอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าสะดวกและแม่นยำ หากระดับน้ำตาลในเลือด สูงกว่า 126 มิลลิกรัม% (7.0 mmol/L) สองครั้ง ก็แสดงว่า “คุณเป็นสมาชิกใหม่ในสมาคมผู้ป่วยโรคเบาหวาน” แล้ว
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ลองหักดิบความหวาน แอ๊บ…ไม่กินน้ำตาล 1 วัน กันก่อนจะดีกว่าไหม ? เพื่อจะได้ปิดประตูตาย ห่างไกลโรคเบาหวาน
//////////////////////////

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อย.สั่งเพิกถอนRosiglitazone หลังพบไม่ปลอดภัย

อย.สั่งเพิกถอนRosiglitazoneจากบัญชียาหลักไทย พร้อมเรียกเก็บยาคืนจากท้องตลาดอย่างเร่งด่วน
ด้าน สสส.จับมือ กพย. ส่งสัญญาณเตือนภัยยา Rosiglitazone เสี่ยงไม่ปลอดภัย ชี้ 30 ประเทศทั่วโลกร่วมแบน

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุม ซัฟฟายร์ 2 ชั้น 3 โรงแรม ริชมอนด์ ถนนรัตนาธิเบศน์ นนทบุรีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดประชุมเรื่องความเสี่ยงในการใช้ยาของคนไทย: กรณีศึกษายาเบาหวานโรซิกกรีตาโซน (Rosiglitazone) หลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แจ้งเตือนความเสี่ยงของการใช้ยา โรซิกกรีตาโซน และขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ให้ใช้ยาดังกล่าวเมื่อมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงเท่านั้น และผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่ไม่ควรหยุดใช้ยาเอง ให้ขอคำแนะนำจากแพทย์ ซึ่งยาโรซิกกรีตาโซน เป็นยาใหม่อยู่ในกลุ่ม thiazolidinedione ได้รับอนุมัติข้อบ่งใช้รักษาเบาหวานชนิดที่ 2 นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ในรูปแบบยาเม็ดมีทั้งที่เป็นสูตรยาเดี่ยวและสูตรยาผสม ได้แก่ Rosiglitazone (Avandia®) Rosiglitazone+metformin (Avandamet®) และ Rosiglitazone+glimepiride (Avandaryl®)
ในขณะที่องค์การด้านยาแห่งยุโรป (European Medicines Agency - EMEA) เสนอให้ระงับการจำหน่ายยารักษาโรคเบาหวานที่มีโรซิกกรีตาโซนเป็นส่วนประกอบ ภายใต้ชื่อการค้าเช่น Avandia, Avandamet และ Avaglim ซึ่งยาเหล่านี้จะไม่มีการจำหน่ายในยุโรปภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้คณะกรรมาธิการด้านเวชภัณฑ์ที่ใช้ในมนุษย์แห่งยุโรป (Committee for Medicinal Products for Human use/CHMP) ได้เริ่มศึกษาทบทวนข้อมูลยาโรซิกกรีตาโซน ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2010 ในประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยที่มีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ และเมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมว่ายาโรซิกกรีตาโซนเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบเหลอดเลือดหัวใจ และแนะนำให้ระงับการจำหน่ายในท้องตลาดทั้งนี้ ข้อแนะนำของคณะกรรมการได้ถูกส่งไปยังคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (the European Commission) เพื่อการรับรองและมีผลทางกฎหมายต่อไป
ภญ.วิมล สุวรรณเกศาวงษ์ หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. กล่าวว่า สืบเนื่องจากปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลด้านยา (Drug Regulatory Authority) ของประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงของยาโรซิกรีตาโซน เพิ่มเติม ซึ่งแบ่งเป็น2 มาตรการใหญ่ ๆ ได้แก่ การระงับการจำหน่าย และการจำกัดการใช้ยาอย่างเข้มงวดสำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการแจ้งเตือนบุคลากรทางการแพทย์ถึงความเสี่ยงของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ โรซิกรีตาโซนแล้ว และขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ให้ใช้ยาดังกล่าวเมื่อมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงเท่านั้น ล่าสุดการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาและเฝ้าระวังอันตรายจากการใช้ยาครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 29ตุลาคม 2553 ที่ประชุมมีมติเสนอคณะกรรมการยาให้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่มีส่วนประกอบของโรซิกรีตาโซน เนื่องจากมีข้อมูลความเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ในสหภาพยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์มีการระงับการจำหน่ายและให้ยานี้ออกจากท้องตลาด และมีตัวยาอื่นที่สามารถใช้ทดแทนได้และในช่วงระหว่างดำเนินการเสนอเพิกถอนทะเบียนตำรับยา ให้ขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตและผู้นำเข้าฯ ในการระงับการจำหน่ายยาที่มีส่วนประกอบของโรซิกรีตาโซน และเรียกเก็บยาคืนจากท้องตลาดอย่างเร่งด่วน
ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการในต่างประเทศในการตั้งรับยาโรซิกกรีตาโซนนั้น ล่าสุดสำนักยาแห่งยุโรป และ องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration/FDA) ซึ่งมีลักษณะการบริหารงานคล้าย อย. มีการเพิกถอนรายชื่อยาโรซิกกรีตาโซนไปแล้วจากตำหรับยา เช่นเดียวกับซูดาน อียิปต์ และอินเดีย รวมแล้วร่วม 30 ประเทศทั่วโลก เพราะมีผลวิจัยชี้ว่า เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ ขณะที่ประเทศไทย ยาโรซิกกรีตาโซนเคยอยู่ในบัญชี ง (ที่สั่งใช้ยาโดยผู้เชี่ยวชาญ) เมื่อปี 2547 แต่ได้ถูกถอดออกเมื่อปี 2550 ด้วยเพราะราคาที่สูง และความไม่ปลอดภัย แต่ก็ยังมีการนำเข้าอยู่ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์การเบิกจ่ายยาแพง โดยเฉพาะกลุ่มราชการที่สามารถเบิกค่ายาได้เต็มที่ก็กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก
“อยากให้ผู้ป่วยตระหนักรู้อยู่เสมอว่า การใช้ยาแพง ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะได้ยาดี และปลอดภัย หากไม่มีการตรวจสอบ โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการที่สามารถเบิกค่ารักษาและจ่ายยาได้เต็มจำนวน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป” ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว
รศ.ภก.ดร.ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยผลลัพธ์ทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงการศึกษาวิจัยความคุ้มค่าของการใช้ยาไพโอกรีตาโซน (Pioglitazone) เทียบกับยาโรซิกกรีตาโซน (Rosiglitazone) ซึ่งในขณะที่ทำการศึกษาในปี 2004 นั้น แม้ยาไพโอกรีตาโซนจะมีราคาสูงกว่าโรซิกกรีตาโซน แต่มีข้อมูลระบุว่า สามารถลดระดับไขมันได้ดีกว่า ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดที่สูงกว่า แต่ล่าสุดในช่วงปี 2007-2009 มีการวิจัยหลายฉบับที่แสดงให้เห็นผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจจากการใช้ยาโรซิกกรีตาโซน เมื่อประกอบกับในท้องตลาดเริ่มมียาไพโอกรีตาโซนที่เป็นยาสามัญจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่ายาโรซิกรีตาโซนที่เป็นยาต้นฉบับ ฉะนั้นข้อมูลปัจจุบันจึงสนับสนุนว่ายาไพโอกรีตาโซน จัดเป็นยาทางเลือกที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งในแง่ความปลอดภัยและความคุ้มค่า
ภญ.วรสุดา ยูงทอง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงสาเหตุที่ยาโรซิกรีทาโซนถูกถอนออกจากบัญชียาหลัก และล่าสุดอ.ย.ประกาศเพิกถอนแล้วนั้น เพราะเมื่อเทียบกับ pioglitazone แล้วมีข้อด้อยกว่าเรื่อง (1)ไม่มี generic product คือ มีบรรจุในบัญชียาหลักทำให้ต้องนำเข้า ค่าใช้จ่ายสูง (2) ต้องรับประทานวันละ 2 ครั้ง (3) ข้อมูลประสิทธิภาพต่อ lipid profile ด้อยกว่า pioglitazone (4) ซึ่งมีหลักฐานชี้ชวนว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย มีอาการปวดน้ำ โดยเฉพาะผู้หญิงมีความเสี่ยงในการเกิดกระดูกแตกหักได้ง่าย
/////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หนุน พ.ร.บ.การออม สร้างหลักมั่นคงสู่วัยชรา

--------------------------
โปรย : ระบุ ร่างพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ช่วยคนนอกระบบร่วม 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ สร้างชีวิตมั่นคงด้วยการออม เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปอายุ 20-60 ปีที่ไม่อยู่ในระบบราชการจ่ายเงินสมทบกองทุน 100-1,000 บาทต่อเดือน โดยจะมีการจ่ายเป็นรายเดือนหลังอายุ 60 ปี ตั้งเป้าลบภาพวัยชราถูกทอดทิ้ง
-------------------------
หลังจากที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้รับหลักการในร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ...โดยมีมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 338 ต่อ 0 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 36 คน กำหนดการแปรญัตติ 7 วัน โดยวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมาย เพื่อสร้างระบบการออม ให้กับผู้ที่อยู่นอกระบบบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันทางรายได้เหมือนกลุ่มข้าราชการ หรือลูกจ้างเอกชนที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมที่มีจำนวนอยู่ประมาณ 23.5 ล้านคน (ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรไทย 67.3 ล้านคน) โดยกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรัฐ ในลักษณะนิติบุคคล ทำหน้าที่ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และให้ดอกผลกับผู้ออมเมื่อครบกำหนด มุ่งเน้นให้ประชาชนมีหลักประกันทางสังคมเมื่อชราภาพ และมีรายได้ในการดำรงชีพในวัยชรา ขณะเดียวกันถือเป็นการสร้างวินัยการออมระดับครัวเรือน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เครือข่ายบำนาญประชาชน จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับการสร้างระบบบำนาญพื้นฐานที่เป็นจริง” เพื่อช่วยสร้างหลักประกันทางการเงินในยามชรา ด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ โดยหลักการเงินบำนาญประชาชนนั้น สามารถฝากเงินผ่านกองทุนโดยที่ประชาชนเป็นผู้ออมและรัฐบาลเป็นผู้สมทบ เมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้เงินบำนาญ การจัดเงินสมทบ จัดแบ่งเป็น อายุต่ำกว่า 20 ปี รัฐไม่จ่ายสมทบ อายุ 20-30 ปี รัฐสมทบ 50 บาท/เดือน อายุ 30-50 ปี รัฐสมทบ 80 บาท/เดือน และ อายุ 50-60 ปี รัฐสมทบ 100 บาท/เดือน เมื่อสมทบจนอายุครบ 60 ปี รัฐจะจ่ายคืนเป็นบำนาญไปจนกระทั่งเสียชีวิต โดยกฎหมายฉบับนี้เปรียบได้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. บอกถึงเป้าหมายของร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ว่า เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน เริ่มหันมาดูแลตัวเอง และสนใจกับอนาคตเมื่อเข้าวัยชรามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมที่มีประชากรวัยชรา (ประมาณ 7.3 ล้านคน) เหมือนสังคมของประเทศสิงคโปร์ การมีกองทุนการการออมระหว่างที่ประชาชนยังมีกำลังทำงานถือเป็นเรื่องดี ทำให้เกิดเงินออมระยะยาวสำหรับตัวเอง โดยมีรัฐบาลสมทบเข้ามา เพื่อใช้เป็นบำนาญเมื่อพ้นวัยทำงาน เหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับอนาคตตัวเอง ด้วยตัวเอง เรียกว่า เป็นหลักประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุมีชีวิตในอนาคตที่มั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่ง สสส.ได้ทำงานเรื่องนี้มา 2-3 ปี โดยการรวบรวมความรู้และนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาเป็นตัวอย่าง แล้วนำมาทำเป็นงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและให้ภาคประชาชนมาช่วยออกแบบจนนำมาเป็นร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ซึ่งหลักๆมีการสมทบจากคนที่มีแรงทำงาน มีองค์กรบริหารอิสระ โดยมีภาคีด้านแรงงานเป็นคนขับเคลื่อน
ส่วน สถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เล่าถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้ คือ ให้จัดตั้งกองทุนให้ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ซึ่งไม่อยู่ในระบบราชการ หรือได้รับบำเหน็จบำนาญ และสวัสดิการในระบบที่มีอยู่แล้ว เปิดให้ประชาชนผู้เข้าร่วมจ่ายเงินสมทบแบบการออม 100-1,000 บาท/เดือน แล้วรัฐจะจ่ายสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง โดยหลังจากที่อายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินเป็นรายเดือน ซึ่งจะช่วยให้คนที่อยู่นอกระบบ และไม่ได้ทำประกันสังคมได้รับบำนาญเมื่อเข้าสู่วัยชรา มีประสิทธิภาพที่ดีหลังวัยเกษียณอายุ โดยจะแยกออกมาคนละส่วนกับระบบการประกันสังคม และปัจจุบันคนในระบบที่ทำประกันสังคมมีเพียง 13% หากคนนอกระบบเข้ามาในระบบได้ถึงครึ่งหนึ่งของส่วนที่อยู่นอกระบบจะเป็นการรองรับให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา มีเงินออมเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันให้กับชีวิต
ด้าน เอนก จิรจิตอาทร เครือข่ายบำนาญประชาชน เล่าถึงความต่างของร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ของภาคประชาชนกับของกระทรวงการคลัง ว่า ร่างของรัฐบาลจะให้มีการถอนออกมาแล้วได้เงินหลังเกษียณอายุ เป็นเงินบำเหน็จ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการคือไม่ให้มีการถอน จะให้รับเป็นเงินบำนาญเพราะต้องการให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันที่มั่นคง เพราะที่ผ่านมาจะเห็นภาพคนชราถูกปล่อยทิ้งลูกหลานไม่เหลียวแลทำให้เกิดภาพขอรับเงินบริจาคช่วยเหลือ แต่หากร่าง พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นเชื่อว่าจะไม่มีภาพอย่างนี้เกิดขึ้นแน่นอน ตรงกันข้ามลูกหลานจะกลับมาให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติเปิดกว้างให้ทั้งคนในระบบและนอกระบบสามารถทำได้ยกเว้นข้าราชการ หากคนที่ทำประกันสังคมมีกำลังพอที่จะจ่ายทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปได้ การที่เปิดกว้างให้เข้าถึงสิทธิตรงนี้เพื่อต้องการให้ครอบคลุมเพราะต้องการให้ประชาชนมีหลักประกันที่มั่นคงหลังเกษียณอายุ
ขณะที่ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวว่า ระบบบำนาญควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมหากรัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ควรให้ประชาชนทุกคนเข้าเป็นสมาชิกร่วมออมได้ โดยไม่แยกส่วน โดยควรครอบคลุมไปถึงกลุ่มลูกจ้างเอกชนในระบบประกันสังคม (ปกส.) ด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ก็มีการเปลี่ยนงานจากในระบบ เป็นนอกระบบ หรือกลับไปกลับมา ก็จะทำให้บำนาญที่ได้จากระบบที่สังกัดอยู่น้อยลง
ไชโย!! ใครๆ ก็มีบำนาญได้แล้ว ใครอยากมีความมั่นคงให้กับชีวิตในตอนแก่ หันมาใส่ใจ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติหน่อยละกัน....
//////////////////////////////////

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เมืองหลวงอีสาน ชูแนวคิด “ดับทุกข์-สร้างสุขด้วยสีเขียว” พลิกชีวิตหนุ่มอังกฤษอยู่แบบพอเพียง

--------------------
โปรย : ขอนแก่นตั้งเป้า ปี 2560 ปลูกครบ 9,999,999 ต้น ดึงชีวิตต่างชาติไฮโซที่ผกผันเป็นชาวสวนเป็นโมเดล นำร่องอาหารปลอดภัย สร้างแบรนด์ซำสูง 'Sum-Sung' แดนอีสาน คุณภาพไม่แพ้แบรนด์ดังต่างชาติ
---------------------
โลกของเราทุกวันนี้นับวันแต่จะร้อนมากขึ้น เนื่องจากมนุษย์ได้ทำลายธรรมชาติด้วยการตัดไม้ทำลายป่าแลกเปลี่ยนเป็นเงิน โดยไม่คิดที่จะปลูกต้นไม้ทดแทน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือหายนะจากภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ผลที่ตามมาจึงทำให้หน้าดินถูกชะล้างลงไปตามแม่น้ำลำคลองบางแห่งเกิดดินถล่ม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล บางแห่งเกิดภัยแล้งซ้ำซาก ทำให้สัตว์และพืชที่มีอยู่ในธรรมชาติตายหมด เป็นผลให้ผู้คนตั้งแต่เด็ก สตรี และคนชราขาดอาหาร
คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงเยี่ยมพื้นที่ปฏิบัติการรวมพลังพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้เป็นจังหวัดที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยโรงพยาบาลอุบลรัตน์ เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน จ.ขอนแก่น ได้ร่วมกันสร้างยุทธศาสตร์บูรณาการระดับจังหวัด ด้วยการระดมภาคีทุกภาคส่วนในจ.ขอนแก่นมาปลูกต้นไม้ยืนต้นที่หลากหลาย 9,999,999 ต้น ภายในปี 2560 ไปพร้อมๆกับการพัฒนาและการวิจัยของศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตเข้ากับผู้บริโภคในทุกระดับตั้งแต่ชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ ภายใต้การริเริ่มของอำเภอซ้ำสูง ซึ่งกลายเป็นอำเภอต้นแบบอาหารปลอดภัยในที่สุด ภายใต้รูปแบบการจัดสรรให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการทำกินและปลูกผักปลอดสารพิษอย่างเท่าเทียม โดยดำเนินการในที่สาธารณประโยชน์ 8 แห่ง คือ ดอนหนองแวง โคกหนองทุ่ม บริเวณรอบหนองโน บริเวณบ้านสว่าง บริเวณรอบหนองคำ บ้านโสกขาแก้ว บริเวณรอบหนองคลอง และบริเวณรอบหนองช้างตาย ครอบคลุมพื้นที่ 229 ไร่ 1 งาน มีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 686 ราย
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า สสส.เป็นหน่วยงานที่ให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพ ฉะนั้นการให้ความสนับสนุนเรื่องการกินดีอยู่ดี บริโภคผักปลอดสารพิษ ดูแลสุขภาพไม่เอาสารพิษเข้าสู่ร่างกาย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นเรื่องน่าส่งเสริมสนับสนุน ยิ่งในขณะที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย แต่ประชาชนในขอนแก่นกลับสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ด้วยการปรับตัวสวนกระแสทุนนิยม ไม่รอเพียงการทำธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ต้องเน้นการเกษตรกรรมควบคู่กันไปด้วย ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และช่วยให้บ้านเมืองอยู่รอดได้อย่างเต็มภาคภูมิ
นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกรู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ กล่าวว่า ด้วยพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงได้พระราชทานพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแก่คนไทยทุกหมู่เหล่านำไปปฏิบัติให้สามารถพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้อย่างสมดุล ด้วยการรู้จักความเพียงพอ รู้จักออม ด้วยการออมน้ำ ออมดิน ออมสัตว์ และออมต้นไม้ยืนต้นที่หลากหลาย ออมเงิน สั่งสมกัลยาณมิตร สั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาและทำคุณงามความดี ซึ่งเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานได้นำแนวทางพระราชดำริในเรื่องนี้มาปฏิบัติอย่างจริงจัง
“ชาวบ้านบอกว่า ชีวิตเปลี่ยนไปมาก มีอยู่มีกิน เหลือกินให้แจกเพื่อน เหลือแจกได้ขายทำให้มีเงิน กลายเป็นคนที่มีอยู่มีกิน มีเพื่อน มีเงินมีสุข ภาวะดีทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคมและทางสติปัญญา สนับสนุนให้ชาวบ้านมีสัมมาอาชีพมีรายได้ ไม่หวังพึ่งการพนัน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาสร้างมูลค่า เช่น พืชผัก การปลูกป่า แลกเปลี่ยนความคิด ทำให้เกษตรกรกลับมาคิดใหม่ แล้วเราก็เป็นตลาดใหญ่ที่จะซื้อผักปลอดสารเคมีได้” นพ.อภิสิทธิ์ กล่าว
ด้าน มาร์ติน วีเลอร์ ชาวอังกฤษที่มาได้ภรรยาที่ จ.ขอนแก่น ปัจจุบันอายุ 49 ปี ชีวิตผกผันจากหนุ่มไฮโซมาเป็นชาวไร่ชาวสวนที่ขอนแก่น ได้เล่าถึงชีวิตที่อยู่ประเทศอังกฤษว่าเขาอยู่ในครอบครัวชนชั้นสูง แต่เป็นเด็กเกเรและติดยาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ เรียนจบก็ได้ออกเดินทางเที่ยวจนกระทั่งมาได้ภรรยาคนไทย มีลูกด้วยกัน 2 คน จากที่เป็นคนสูบบุหรี่จัด กินเหล้า เที่ยวเก่งก็ได้เลิกทุกอย่างเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกชายทั้ง 2 และหันมาสนใจในการปลูกต้นไม้ ทำนา ทำสวน เพราะคิดว่านี่คือบำเหน็จให้กับลูก
“ผมมองว่าการทำนาเปรียบเสมือนเป็นการออกกำลังกายทำให้สุขภาพดีกว่าการวิ่งในระยะไกลๆ ตอนนี้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ซึ่งคนไทยโชคดีที่เกิดในประเทศไทยมีหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริไว้ให้ ควรหันมาใส่ใจในการทำการเกษตรไม่ต้องวิ่งตามกระแสคนต่างชาติ เพราะความจริงแล้วคนต่างชาติไม่ได้รวยอย่างที่คิดกว่าจะมีบ้านเป็นของตัวเองก็ต้องเป็นหนี้ก้อนโต ไม่เหมือนคนไทยถึงจะจนแต่ก็มีบ้านเป็นของตัวเอง ควรภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองมี” มาร์ติน กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย ผู้จัดการแผนงานผักปลอดภัยจากสารพิษ จ.ขอนแก่น โดยการสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า แผนงานผักปลอดสารพิษได้สัมผัสกับความงดงามและความมั่งคั่งของวัฒนธรรม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่แฝงตัวอย่างกลมกลืนภายใต้ความเรียบง่ายและการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมกับการปรับตัวตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างกลมกลืน ชาวซำสูงมีความยินดีที่จะต้อนรับมิตรจากถิ่นอื่นได้มาเยี่ยมชม สักการระพระพุทธรูป วิถีทำการเกษตรอย่างปลอดภัย หัตถกรรมพื้นบ้าน ต้นยางนาใหญ่ๆ ที่อยู่กระจัดกระจายทั่วๆไป เมืองไม่ใหญ่โต แต่มีสิ่งดีๆให้ชมได้ทั้งความสุขและความรู้
ด้านไกรสร กองฉลาด นายอำเภอซำสูง กล่าวว่า โครงการคนซำสูงไม่ทอดทิ้งกัน เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ โดยในปี 2551 อำเภอซำสูงร่วมกับแผนงานผักปลอดสารพิษ สสส. จัดทำยุทธศาสตร์อาหารปลอดภัยขึ้น โดยมีเป้าประสงค์เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยจากการใช้สารเคมีลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือเป็นหลักประกันให้ชาวบ้านมีศักยภาพในการเข้าถึงอาหาร ลดรายจ่าย รับประทานในครอบครัว แบ่งปัน จำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว โดยมีการสร้างแบรนด์ขึ้น เพราะแบรนด์ของสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ สามารถสร้างอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้บริโภค กำหนดจุดยืนของสินค้าและบริการได้ ผักจากซำสูงออกสู่ตลาดต้องมีจุดเด่น ทางอำเภอได้จัดสรรงบประมาณขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการออกแบบตราสินค้า ผลิตภัณฑ์อำเภอซำสูงขึ้นพร้อมจัดทำบูธและรถเข็นผักจำหน่ายผักปลอดสาร เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรจำหน่ายตามจุดสำคัญด้วยกันคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลาดบางลำพู ตลาดเทศบาลซำสูง และเขตอำเภอซำสูง ตำบลละ 1 จุด
บ้านเมืองจะร่มรื่นไม่มีภัยธรรมชาติ สุขภาพดีเยี่ยมควรยึดแบบอย่างชาวขอนแก่น !!!!
////////////////////////////////

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สสส.สภาผู้แทนฯ ชี้ร่าง พรบ.กองทุนการออมสร้างชีวิตที่มั่นคง

สสส.ร่วมสภาผู้แทนฯ - เครือข่ายบำนาญประชาชน
ชี้ “ร่างพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ” ช่วยคนนอกระบบร่วม 1 ใน 3 ของคนประเทศ
เพื่อสร้างชีวิตที่มั่นคงด้วยการออม ตั้งเป้าลบภาพวัยชราถูกทอดทิ้ง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เครือข่ายบำนาญประชาชน จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับการสร้างระบบบำนาญพื้นฐานที่เป็นจริง” เพื่อช่วยสร้างหลักประกันทางการเงินในยามชราให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันทางรายได้เหมือนกลุ่มข้าราชการ หรือลูกจ้างเอกชนที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมที่มีจำนวนอยู่ประมาณ 23.5 ล้านคน (ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรไทย 67.3 ล้านคน) ได้มีโอกาสที่จะมีโครงการบำนาญสูงอายุสำหรับหลักประกันด้านรายได้ในยามชราภาพของตนเองด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ โดยหลักการเงินบำนาญประชาชนนั้น สามารถฝากเงินผ่านกองทุนโดยที่ประชาชนเป็นผู้ออมและรัฐบาลเป็นผู้สมทบ เมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้เงินบำนาญ การจัดเงินสมทบ จัดแบ่งเป็น อายุต่ำกว่า 20 ปี รัฐไม่จ่ายสมทบ อายุ 20-30 ปี รัฐสมทบ 50 บาท/เดือน อายุ 30-50 ปี รัฐสมทบ 80 บาท/เดือน และ อายุ 50-60 ปี รัฐสมทบ 100 บาท/เดือน เมื่อสมทบจนอายุครบ 60 ปี รัฐจะจ่ายคืนเป็นบำนาญไปจนกระทั่งเสียชีวิต โดยกฎหมายฉบับนี้เปรียบได้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวว่า พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติมีเป้าหมายเพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน เริ่มหันมาดูแลตัวเอง และสนใจกับอนาคตเมื่อเข้าวัยชรามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมที่มีประชากรวัยชรา (ประมาณ 7.3 ล้านคน) เหมือนสังคมของประเทศสิงคโปร์ การมีกองทุนการการออมระหว่างที่ประชาชนยังมีกำลังทำงานถือเป็นเรื่องดี ทำให้เกิดเงินออมระยะยาวสำหรับตัวเอง โดยมีรัฐบาลสมทบเข้ามา เพื่อใช้เป็นบำนาญเมื่อพ้นวัยทำงาน เหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับอนาคตตัวเอง ด้วยตัวเอง เรียกว่า เป็นหลักประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุมีชีวิตในอนาคตที่มั่นคงยิ่งขึ้น
“สสส.เองได้ทำงานเรื่องนี้มา 2-3ปีโดยการรวบรวมความรู้และนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาเป็นตัวอย่าง แล้วเอามาทำเป็นงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและให้ภาคประชาชนมาช่วยออกแบบจนนำมาเป็นร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ซึ่งหลักๆมีการสมทบจากคนที่มีแรงทำงาน มีองค์กรบริหารอิสระ โดยมีภาคีด้านแรงงานเป็นคนขับเคลื่อน” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว
นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้คือ ให้จัดตั้งกองทุนให้ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ซึ่งไม่อยู่ในระบบราชการ หรือได้รับบำเหน็จบำนาญ และสวัสดิการในระบบที่มีอยู่แล้ว เปิดให้ประชาชนผู้เข้าร่วมจ่ายเงินสมทบแบบการออม 100-1,000 บาท/เดือน แล้วรัฐจะจ่ายสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง โดยหลังจากที่อายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินเป็นรายเดือน ซึ่งจะช่วยให้คนที่อยู่นอกระบบ และไม่ได้ทำประกันสังคมได้รับบำนาญเมื่อเข้าสู่วัยชรา มีประสิทธิภาพที่ดีหลังวัยเกษียณอายุ โดยจะแยกออกมาคนละส่วนกับระบบการประกันสังคม และปัจจุบันคนในระบบที่ทำประกันสังคมมีเพียง 13% หากคนนอกระบบเข้ามาในระบบได้ถึงครึ่งหนึ่งของส่วนที่อยู่นอกระบบจะเป็นการรองรับให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา มีเงินออมเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันให้กับชีวิต
นายเอนก จิรจิตอาทร เครือข่ายบำนาญประชาชน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ของภาคประชาชนต่างกับของกระทรวงการคลังคือรัฐบาลจะให้มีการถอนออกมาแล้วได้เงินหลังเกษียณอายุ เป็นเงินบำเหน็จ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการคือไม่ให้มีการถอน จะให้รับเป็นเงินบำนาญเพราะต้องการให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันที่มั่นคง เพราะที่ผ่านมาจะเห็นภาพคนชราถูกปล่อยทิ้งลูกหลานไม่เหลียวแลทำให้เกิดภาพขอรับเงินบริจาคช่วยเหลือ แต่หากร่าง พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นเชื่อว่าจะไม่มีภาพอย่างนี้เกิดขึ้นแน่นอน ตรงกันข้ามลูกหลานจะกลับมาให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติเปิดกว้างให้ทั้งคนในระบบและนอกระบบสามารถทำได้ยกเว้นข้าราชการ หากคนที่ทำประกันสังคมมีกำลังพอที่จะจ่ายทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปได้ การที่เปิดกว้างให้เข้าถึงสิทธิตรงนี้เพื่อต้องการให้ครอบคลุมเพราะต้องการให้ประชาชนมีหลักประกันที่มั่นคงหลังเกษียณอายุ
ดร.พรหมมิน สีตบุตร ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พ.ร.บ.ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นมิติที่ดีสำหรับการเริ่มต้นให้หลักประกันความมั่นคงสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งกองทุนนี้อนาคตจะเป็นกองทุนที่ใหญ่โตมโหฬาร เพราะตามที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆกล่าวอ้าง กองทุนบำเหน็จบำนาญจะเกิดเป็นตัวเงินที่ใหญ่มหาศาลที่อนาคตจะมีถึงกว่าล้านล้านบาท แต่สังคมจะเป็นทุกข์หากไม่เกิดความร่วมมือของทุกฝ่ายซึ่งไม่ต่างกับระบบประกันสังคม แต่เงินนี้จะต่างกับระบบประกันสังคมตรงที่ว่าเงินประกันสังคมจะมีการนำไปจ่ายในการรักษาพยาบาล แต่เงินออมส่วนใหญ่เป็นเงินสะสมไม่มีการถอนออกจนกว่าจะเกษียณอายุ การจะทำให้ครอบคลุมให้คนชราทุกคนต้องทำให้ผู้สูงอายุทุกคนได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน
นางสาวสุปาณี จันทรมาศ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการออม สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีการออมเพื่อการดำรงชีพในวัยชราเสี่ยงต่อความยากจนในอนาคต ดังนั้นจึงเกิดการร่าง พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันชีวิตที่มั่นคงและได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีแรงงานในระบบอยู่แค่ 4.11 ล้านคน อีกกว่า 19 ล้านคนยังไม่อยู่ในระบบ กองทุนการออมนี้เป็นการสร้างวินัยในการออมไม่เหมือนเป็นการช่วยเหลือเบี้ยยังชีพสำหรับวัยชรา กองทุนการออมเป็นเหมือนองค์กรอิสระที่ตัวแลเรื่องบำนาญของประชาชน พร้อมทั้งมีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
-------------------------------------