วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ออก “เจ” อย่างไร “ไม่อ้วนฉุ-ไร้พุง”

ออก “เจ” อย่างไร “ไม่อ้วนฉุ-ไร้พุง”
----------------------
โปรย : ใช้เมนูต้ม ยำ ย่าง อบ แทนการกินเมนูอาหารประเภทที่ใช้น้ำมัน ลดอาหารหวาน กินให้หลากหลาย ออกกำลังกายควบคู่กันไปอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ก็จะทำให้สุขภาพแข็งแรง หุ่นดี ไม่มีโรคภัยแอบแฝง
-----------------------
หนึ่งในความน่าเป็นห่วง หลัง “อิ่มบุญ” จากเทศกาลกินเจที่ได้ “ละ เลิก เสียสละ” แล้วก็คือ การบริโภคอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเกินขนาด
คำถามที่ตามมาจึงอยู่ที่ว่า “ระหว่างที่เราลด เลิก เสียสละ” เพื่อคนอื่นๆแล้ว เราจะดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เบียดเบียนตัวเองด้วย โดยเฉพาะหนุ่มสาวยุคใหม่ที่หันมานิยม “กินเจ” กันเป็นอีกหนึ่งเทรนทำบุญ
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดให้ความรู้กับการกินเจ อย่างถูกวิธี โดยความหมายของการกินเจ หมายถึงการรักษาศีล ปฏิบัติธรรมทั้งกาย วาจา และใจ ไม่ใช่หมายความเพียงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น การปฏิบัติธรรมร่วมไปด้วยจึงจะครบเป็น “การถือศีล-กินเจ” อย่างแท้จริง
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไก เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.บอกว่า แก่นแท้ของการกินเจ คือ ถือศีล ซึ่งเทศกาลกินเจเป็นเทศกาลแห่งการสร้างบุญสร้างกุศลให้กับตนเองและผู้อื่น โดยการทำบุญ ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ คือการไม่กินเนื้อสัตว์ ที่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆอย่างในการถือศีล การมีจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ และคำว่า “เจ” มาจากคำว่า “ไจ” ของชาวจีน แปลว่าไม่มีเนื้อสัตว์ การกินเจสามารถกินผักและผลไม้ได้ทุกชนิด ยกเว้น หอม กระเทียม หลักเกียว กุยช่าย และใบยาสูบ กินเจสร้างสุขต้องคำนึง 5 ประการ 1.กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ 2.กินให้หลากหลายและพอเหมาะ 3.กินอาหารเจรสไม่จัด 4.กินอาหารเจที่สะอาด 5. กินข้าวกล้อง ดื่มน้ำเปล่าบริสุทธิ์ และการกินเจยังได้ประโยชน์อีก 4 สร้าง นั่นคือ 1.สร้างบุญ สร้างกุศล 2.สร้างสุขภาวะ 3.สร้างหุ่นดี ไม่มีพุง และ 4.สร้างการกินผักและผลไม้เป็นประจำ
“แต่ยังไงการกินเจก็ต้องระวังอาหารเจไขมันสูง เช่น หลีกเลี่ยงกินอาหารเจแบบผักน้ำมันเยิ้มๆ ไม่ควรกินอาหารเจประเภททอดน้ำมันลอยบ่อยจนเกินไป กินอาหารเจ ประเภทเมนูต้ม ยำ ย่าง อบ ประจำ ไม่ควรกินถั่วลิสง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์บ่อย แต่ก็ควรระวังเนื้อสัตว์เทียมที่ทำมาจากแป้ง เพราะจะทำให้กินแป้งเกินในที่สุดก็เกิดความอ้วน ต้องกินให้หลากหลายและพอเหมาะ กินผักผลไม้หลากหลายชนิด ล้างให้สะอาดก่อนกินทุกครั้ง กินหลายหลายเมนู/ไม่จำเจ กินอาหารสดธรรมชาติ หลีกเลี่ยง Process Food/ของดอง” อาจารย์สง่า กล่าว
นอกจากนี้อาจารย์สง่า ยังได้แนะนำวิธีการออกเจให้มีสุขภาพดี ว่า การกินผักติดต่อกันมานานถึง 9 วัน ได้ส่งผลให้ร่างกายปรับระบบการย่อยอาหารจากย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักแทน แต่เมื่อหันกลับมากินเนื้อสัตว์แบบเดิม จะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันได้ ดังนั้น อาหารหลังออกเจในระยะเริ่มแรกควรเริ่มด้วยอาหารที่ย่อยง่าย โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ควรเน้นการกินปลา ไข่ และนม แทนก่อนแล้วจึงค่อยๆ เริ่มกินเนื้อไก่ หมู และวัว ตามลำดับ เพราะปลาเป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นผลดีต่อสุขภาพ ป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือดได้ เมนูปลาที่รับประทานควรเป็นประเภทต้ม นึ่ง ย่าง แทนการทอด แต่ถ้าต้องการกินผลิตภัณฑ์ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น เต้าหู้และโปรตีนเกษตรแทนเนื้อสัตว์ต่อไป ก็ไม่เสียหาย แต่แนะให้ดื่มนมและกินไข่ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ได้โปรตีนที่มีคุณภาพพอเพียงต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตามในวันออกเจถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับพฤติกรรมการการกินอาหารของประชาชนที่กินเจทั้งกินเพื่อถือศีล ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และเพื่อสุขภาพ ให้เริ่มต้นการประเมินภาวะโภชนาการของตนเองแบบง่ายๆ ด้วยการชั่งน้ำหนักตัว เพื่อดูว่าน้ำหนักขึ้นในช่วงกินเจหรือไม่ หากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 กิโลกรัม แสดงว่าอาจเกิดจากการกินอาหารประเภทแป้งและไขมันจากอาหารเจมากเกินไป จึงควรเอาบทเรียนดังกล่าวมาปรับการกินอาหารหลังออกเจ และออกกำลังกายควบคู่กันไปอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ก็จะทำให้สุขภาพแข็งแรง หุ่นดี ไม่มีโรคภัยแอบแฝง
นพ. ฆนัท ครุฑกูล กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. กล่าวถึงเคล็ดลับ “กินเจอย่างไร....ให้ไร้พุง” ว่า ช่วงเทศกาลกินเจ อาจจะมีประชาชนบริโภคอาหารที่มีแป้งน้ำตาลมากขึ้น อันจะนำไปสู่ภาวะการเกิดโรคอ้วนและมีปัญหาด้านสุขภาพตามมา อาทิ โรคอ้วนโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และยังบอกเคล็ดลับในการกินเจเพื่อสุขภาพว่าต้องบริโภคอาหารให้ครบถ้วนได้แก่ 1.โปรตีนได้จากถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเมล็ดแห้ง อาหารประเภทนี้จะ มีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่าเนื้อสัตว์ 2.ไขมัน ที่นำมาปรุงเป็นอาหารเจ ควรเป็นไขมันที่มาจากพืชต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ปาล์ม งา และควรรับประทานประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ เท่านั้น 3.ควรรับประทานผักผลไม้มากๆด้วย 4.ปรุงอาหารด้วยตนเอง พยายามลดแป้งให้เยอะที่สุด
คุณหมอ ฆนัท ย้ำหนักหนาว่า ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงอาหารเจที่มีปริมาณน้ำมันมากเกินไป เนื่องจากการทำอาหารประเภทเจส่วนใหญ่ มักจะเป็นอาหารประเภทผัดหรือทอด เราจึงต้องควบคุมการใช้น้ำมันกันด้วย นอกจากนี้คุณหมอยังแนะนำให้บริโภคโปรตีน 15% ไขมัน 30% และคาร์โบไฮเดรต 55% ของพลังงานที่ได้รับ และอยากเตือนประชาชนว่าอาหารเจไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพ
เอ้า!! ใครอยากออกเจมีสุขภาพดี ปฏิบัติตามนี้ดีแน่นอน...
/////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น