วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

APPETITE for PROFIT “กระชากหน้ากากอุตสาหกรรมอาหาร” เผยอาหารปัจจุบันคุณค่าน้อยกว่าบรรพบุรุษ

โปรย : บริษัทอาหารพยายามผลักดันให้ คนเลือกอาหารแบบปัจเจก และผลักให้สุขภาพเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคไม่ใช้ผู้ผลิต ดังนั้นผู้บริโภคต้องใช้ความรู้เพื่อต่อสู้ในการหลีกหนีจากการครอบงำ
------------------------------
การที่ประเทศไทยมีการบริโภคอาหารและพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมจนนำมาซึ่งปัญหาของโรคขาดสารอาหารและโรคอ้วน อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวาน กับการได้รับข้อมูลการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการรณรงค์ “กินเปลี่ยนโลก” และนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดงานเปิดตัวหนังสือ “กระชากหน้ากากอุตสาหกรรมอาหาร” แปลมาจากหนังสือ “Appetite for Profit: How the food industry undermines our health and how to fight back” ของ Michelle Simon ที่นำเสนอเรื่องราวตัวอย่าง “ระบบอาหารของไทย” ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ การกล่าวถึงระบบ CSR อาหาร ที่พยายามเอาดีเข้าตัว เอาความชั่วยกให้คนอ้วน ทั้งที่ไม่เคยให้ข้อมูลด้านคุณค่าอาหารที่มากพอต่อประชาชน โดยจะแฉแหลกว่า อาหารในปัจจุบันไร้คุณค่าเมื่อเทียบกับอาหารของบรรพบุรุษ
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เล่าถึงประสบการณ์ตลอด 30 ปี พบว่า แต่ก่อนเด็กขาดสารอาหาร แต่ในปัจจุบันกลับพบปัญหาภาวะโภชนาการกินในเด็ก ซึ่งเป็นเรืองน่ากังวลมาก เพราะสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงจาก ‘ทุพโภชนา’ มาสู่ ‘โภชนาการ’ กินถึง 50 ปี ขณะที่ประเทศไทย กลับใช้เวลาสั้นกว่า และพบว่าเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน ในคนจนมากกว่าคนรวย จากกรณีชาวอเมริกันผิวดำฟ้องอุตสาหกรรมอาหาร ว่าทำให้เขาเป็นโรคอ้วนจากการรับประทานอาหารจานด่วน ที่บริษัทไม่ให้ข้อมูลด้านอาหารที่มากเพียงพอ สะท้อนให้เห็นว่า คนจนหรือคนมีการศึกษามักตกเป็นเหยื่อจากอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งทำการตลาดเพื่อเปลี่ยนความคิดว่า อาหารจานด่วน เป็นอาหารที่สะอาด ปลอดภัย สะดวก แม้แต่ในประเทศไทย ‘ฟาสท์ฟู้ด’ ก็กระจายจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองใหญ่อย่างรวดเร็ว
“ผู้บริโภคต้องสนใจในการดูแลตนเอง อย่าหวังพึ่งรัฐฝ่ายเดียว เพราะขนาดการเมืองในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลยังตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนนิยมที่มุ่งหากำไร เช่น กรณีพืชดัดแปรพันธุกรรม หรือ GMOs ที่ประเทศไทยกำลังเจอสถานการณ์การรุกคืบอย่างรวดเร็ว” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว
ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าแม้รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีอำนาจที่เข้มแข็งในการออกนโบายต่างๆ แต่ความจริงแล้วอุตสาหกรรมกลับมีอำนาจครอบงำผ่านพรรคการเมือง ดังนั้นประชาชนไม่ควรเอาชะตากรรมไปแขวนไว้กับพรรคการเมืองซึ่งอยู่ภายใต้ระบบทรัพย์สินใหม่ หรือ เสรีนิยมใหม่ แม้แต่ในสถาบันการศึกษา เนื่องจากนโยบายที่ผลักดันให้มหาวิทยาลัยพึ่งตนเอง ทำมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องทำการค้ากับบริษัทเอกชน อย่างไรก็ดี มีตัวอย่างสังคมหลายแห่งเริ่มมีความต้องการบริโภคอาหารอินทรีย์ อาหารที่ผลิตในท้องถิ่น อาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และมีเวทีเสวนาที่สอนให้เท่าทันอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว และเฝ้าระวังในการบริโภคมากขึ้น
“เรากำลังต่อต้านโลกาภิวัฒน์แบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ของบริษัทที่ทำงานกับรัฐอย่างแยกกันไม่ออก ที่มีความแยบยล สร้างความกลัว ผูกมัดวิถีชีวิต และครอบงำเรา ให้มีตรรกะที่ผิดเพี้ยนไป การจะฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลนั้นกลายเป็นเรื่องยาก เพราะบริษัทที่มักมีความสัมพันธ์กับรัฐก็พร้อมที่จะหลีกเลี่ยงกฎระเบียบต่างๆ การรู้เท่าทันอันตรายของสินค้าในการบริโภคจึงเป็นเรื่องจำเป็น” ผศ.สุรัตน์ กล่าว
นายกฤช เหลือลมัย บรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ กล่าวว่า บริษัทอาหารพยายามผลักดันให้ คนเลือกอาหารแบบปัจเจก และผลักให้สุขภาพเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคไม่ใช้ผู้ผลิต ดังนั้นผู้บริโภคต้องใช้ความรู้เพื่อต่อสู้ในการหลีกหนีจากการครอบงำ ประเทศไทยยังมีคนที่ลุกขึ้นมาสู้ในเรื่องนี้น้อย ส่วนใหญ่จะเป็น NGO ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะไม่ถูกครอบงำ“อย่างไรก็ดีเมื่อการกินของคนขึ้นกับสภาวะเงื่อนไขเวลา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจถูกโปรแกรมมาจากอดีต และพบว่า ปัจจุบันความรู้เรื่องการกินของคนไทยเริ่มน้อยลง เช่นไม่รู้ว่าอะไรกินได้ อะไรมีประโยชน์ พืชที่เคยเป็นอาหารในอดีตกลับเป็นเพียงวัชพืชในปัจจุบัน และกำลังจะสูญพันธุ์ในอนาคต ฉะนั้นเราต้องทำงานหนักมากขึ้น เช่น ต้องสร้างกระแสว่าการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นเรื่องที่เป็นหน้าเป็นตา และเป็นภาระหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่จะต้องร่วมกันทำ เช่น อาหารกินสดช่วยลดโลกร้อน อาหารที่ช่วยรักษาพันธุกรรมพืชและสัตว์ เป็นต้น” กฤชกล่าว
พญ.แสงโสม สีนะวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกระแสโลกาภิวัฒน์ อุตสาหกรรมอาหารจึงต้องการกำไร เพื่อความอยู่รอด ขณะที่ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีคุณค่ามาก นอกจากนี้ผู้บริโภคยังต้องการสุนทรียะในการกินด้วย ซึ่งเป็นเรืองที่อุตสาหกรรมอาหารรู้ดี ดังนั้นจึงทำทุกวิถีทางเพื่อตอบสนองสุนทรียะในการกินของผู้บริโภค อาหารบางเมนูจึงที่มีแต่แป้ง ไขมัน น้ำตาล แต่มีโทษต่อสุขภาพ ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องสู้แบบมีแผนการ มีแนวร่วม เพื่อให้เท่าทัน และต้องมีเครื่องมือ เช่นกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง และมีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ดี นอกจากนี้ยังต้องช่วยพัฒนาอาหารให้ดีและสะดวกต่อการเข้าถึงของผู้บริโภค เพื่อสู้กับอุตสาหกรรมอาหาร
ฉะนั้นเราต้องตื่นจากการกิน เพราะที่ผ่านมาเราถูกครอบงำมากพอแล้ว การที่มวลชนฉุดคิดและหันมาช่วยเกษตรกรต่อสู้กับนายทุนเพื่อให้เรามีทางเลือกในการกินอาหารที่ดีนั้น จึงจำเป็นยิ่งที่จะได้รับการสนับสนุนทางด้านกฎระเบียบต่างๆที่ดีในการกินด้วย
///////////////////////////

ประชาพิจารณ์ หนุนพ.ร.บ.อุ้มท้องเรียนต่อได้ หวังทุกเพศวัยมีสิทธิเท่าเทียมกัน

ประชาพิจารณ์ หนุนพ.ร.บ.อุ้มท้องเรียนต่อได้ หวังทุกเพศวัยมีสิทธิเท่าเทียมกัน
---------------------------
โปรย : พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ไม่เฉพาะผู้หญิงหรือหญิงตั้งครรภ์เท่านั้นที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิ แต่รวมถึงทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนถึงผู้สูงอายุ
---------------------------
จากกรณีที่เคยเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่เรื่องร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. ...โดยเฉพาะมาตรา 12 ในการเปิดทางให้ผู้หญิงท้องที่ยังอยู่ในวัยเรียน ได้มีโอกาสเรียนต่อในโรงเรียน โดยไม่ถูกให้ออก เพื่อสร้างเสริมสิทธิมนุษย์ชนให้เท่าเทียมกัน รวมทั้งมาตราอื่นๆ ที่ยังเห็นต่างกัน มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงได้จัดเวทีประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. ... ขึ้น เพื่อเป็นเวทีมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาทางออกให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยยึดฉันทามติที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน ไม่ใช่การโหวตเสียงเอาชนะกัน ซึ่งมีคนเข้าร่วมประชุมกว่า 250 คน จากเครือข่ายผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา ตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายทำงานด้านสิทธิสตรี เด็กและเยาวชน
จากการทำประชาพิจารณ์ฟังความเห็นจากสังคม เป็นรายมาตราจำนวน 29 มาตรา ได้ข้อสรุปว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่มีใครคัดค้าน แต่อาจจะต้องมีการปรับแก้ หรือเพิ่มเติมถ้อยคำในบางส่วน โดยจะมีการนำข้อเสนอแนะทั้งหมดเสนอต่อ คณะอนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. ... เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมาย ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป แม้แต่มาตรา 12 ในกรณีที่สถานศึกษามีหญิงตั้งครรภ์นั้นอยู่ระหว่างการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษานั้นต้องอนุญาตให้หญิงมีครรภ์ศึกษาต่อในระหว่างตั้งครรภ์และกลับไปศึกษาต่อภายหลังคลอดบุตรแล้วได้ ก็ไม่มีใครคัดค้าน ส่วนประเด็นที่เสนอให้นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ (กอช.) แทนที่จะเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น ฉันทามติก็เป็นเอกฉันท์ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การมีพ.ร.บ.อนามัยการเจริญพันธุ์ที่หลายส่วนยังมีความเป็นห่วงที่ว่าอาจเป็นการส่งเสริมให้เด็กท้องวัยเรียนเพิ่มขึ้นนั้นไม่เป็นความจริง เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้เน้นในเรื่องการป้องกันให้รู้ถึงโทษการตั้งครรภ์ที่ไม่เหมาะสม เพราะปัญหาเด็กตั้งครรภ์ในวัยเรียนต้องมีการทำแท้งที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต มดลูกเน่าและอาจเป็นหมันซึ่งปัญหาหลายอย่างก็จะตามมา และเด็กเองก็จะไม่เลียนแบบเพราะได้รู้ถึงโทษที่ตามมาด้วย และปัจจุบันพบว่าเด็กตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า 15 ปี มีถึง 1.1 % อยู่ที่ประมาณ 10,000 คนต่อปี ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันเร่งผลักดันและหาทางให้เกิดกฎหมายนี้ขึ้นโดยเร็วเพื่อช่วยลดปัญหาทางเพศเหล่านี้
“พ.ร.บ.นี้ไม่เฉพาะผู้หญิงหรือหญิงตั้งครรภ์เท่านั้นที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิ แต่รวมถึงทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้พบว่าแม่ที่เป็นวัยรุ่นในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นโดยอยู่ที่ประมาณ 15.55% ทั้งที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าควรจะไม่เกิน 10% โดยจากการรายงานตัวเลข ด.ญ.แม่ตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า 15 ปีมีประมาณ 1.1% หรือประมาณ 1 หมื่นคนต่อปี อายุน้อยที่สุดคือ 9 ขวบ หากเด็กมีประจำเดือนตกไข่ ก็สามารถมีบุตรได้แล้ว” นพ.สมยศ กล่าว ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการส่งแบบแสดงความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์ฯ ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม-11 สิงหาคม ที่ผ่านมา จำนวน 138 ฉบับ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าผลการสำรวจที่เห็นด้วยบางส่วนและไม่เห็นด้วยบางมาตราร้อยละ 64.5 สำหรับมาตราที่ไม่เห็นด้วยและเสนอว่าควรปรับแก้มากที่สุด คือ มาตรา 12 เรื่องการตั้งครรภ์ระหว่างการศึกษา โดยไม่เห็นด้วย ร้อยละ 18.84 ซึ่งที่ประชุมได้มีการเสนอว่าให้หญิงที่ตั้งครรภ์ระหว่างเรียนให้ลาพักคลอดและมีสิทธิศึกษาต่อได้
“จะรวบรวมความคิดเห็นจากการทำประชาพิจารณ์ และความเห็นของอนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เข้าที่ประชุม ครม.ให้ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งสาระสำคัญคือ1.เรื่องสถานบริการที่ให้ความรู้ คำปรึกษา โดยเฉพาะเรื่องการไม่เปิดเผยความลับของผู้ให้บริการ 2.สถานศึกษาที่ต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อจัดการเรียนการสอนด้านเพศศึกษา ซึ่งประเด็นการศึกษาต่อเป็นเพียงประเด็นย่อยเท่านั้น และ 3.ป้องกันการคุกคามทางเพศ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ส่วน นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธ์ ได้บอกถึงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนให้เด็กท้องในวัยเรียนเรียนต่อได้นั้นว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ความจริงมาตราก่อนหน้านั้นได้มีการระบุไว้แล้วจะให้เน้นในเรื่องของการส่งเสริมทักษะชีวิต องค์ความรู้เรื่องเพศศึกษา การให้ข้อมูลความรู้ที่เหมาะสม ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันสร้างศักยภาพ สร้างภูมิคุ้มกัน แต่หากเกิดปัญหาขึ้นมาก็ถือว่าเป็นคนไทยที่เราควรจะคุ้มครองดูแล ฉะนั้นจึงต้องมีมาตรา 12 เพื่อเปิดโอกาส แต่เจตนารมณ์ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีการตั้งครรภ์มากขึ้น แต่เป็นการที่ว่าหากเกิดปัญหาจะทำอย่างไรที่จะให้โอกาสให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีการโต้แย้ง ซึ่งความคิดเห็นที่ได้จะนำไปปรับร่างเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคม
ด้าน ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง เล่าว่ามูลนิธิเห็นด้วยกับภาพรวมร่าง พ.ร.บ.นี้ แต่อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมในบางมาตรา เช่น มาตรา12 ที่ควรเพิ่มวรรคท้ายว่า สถาบันการศึกษาควรจัดมาตรการช่วยเหลือให้หญิงมีครรภ์ศึกษาต่อได้อย่างมีคุณภาพด้วย นอกจากนี้ในมาตรา 15 ระบุให้ กอช. มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานนั้นเห็นว่า กอช.ควรจะเป็นคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ไม่ใช่แค่ระดับกระทรวง
/////////////////////////////////

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สสส.ร่วม คคส.ชี้คนไทยบริโภค ‘แร่ใยหินแอสเบสตอส’มากติดอันดับ 2 ของโลก

เมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม ณ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต การสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(สคบ.) คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การจัดการอันตรายจากแร่ใยหินเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค ระบุคนไทยบริโภคแร่ใยหินแอสเบสตอสมากติดอันดับ2ของโลก แพทย์เผยคนไทยบริโภคมากสูงถึง 3 กก.ต่อคนต่อปี เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดร่วม 1,295 คน/ปี และย้ำมาตรการติดฉลากเตือนยังต่ำกว่าแบบระดับโรค
รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สสส.คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยได้ยกเลิกแร่ใยหินทุกชนิดเหลือเพียงแร่ใยหินไครโซไทล์และทาง สคบ.ได้กำหนดให้มีการติดฉลากคำเตือนว่ามีอันตรายต่อมะเร็งและโรคปอดซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่เตือนถึงความรุนแรงและอันตรายของแร่ใยหิน ดังที่ได้เกิดขึ้นในอังกฤษ ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลี จนประเทศเหล่านี้ได้ใช้มาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดจนเป็นมาตรฐานสากล และในประเทศไทยชอบนำอารยะธรรมของชาวตะวันตกมาใช้ แต่ถึงคราวที่จะต้องทำตามเพื่อปกป้องประชาชนจากโรคภัยที่ร้ายแรงไม่มีทางรักษาหาย กลับไม่เอามาเป็นแบบอย่าง ดังนั้นมาตรการที่จะรองรับความเจ็บป่วยจากมะเร็ง จึงต้องเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมสากลไม่ใช่มาตรฐานที่ต่ำกว่าสากล
“ปัจจุบันมีการติดฉลากขนาด 3 x 3 และจากการสำรวจร้านค้าที่ขายวัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ก็ก็พบว่าได้มีการติดฉลากแล้วประมาณ 80% หรือว่าฉลากคำเตือน 3คูณ3 เล็กเกินไป คนถึงยังไม่เข้าใจว่ามีอันตรายหรือจริงหรือไม่ ซึ่งพบว่าร้านค้าจากเดิมที่มีการขายแต่อุปกรณ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ปัจจุบันได้มีวัสดุที่ไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหินร่วมด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี จึงอยากจะย้ำว่าตอนนี้ทั่วโลกเลิกใช้แร่ใยหินเหลือแต่ไครโซไทล์ และ 25 คำถามของผศ.ดร.พญ.พิชญา พรรคทองสุข ก็เป็นตัวชี้วัดว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายและให้เลิกใช้” รศ.ดร.วิทยา กล่าว
ผศ.ดร.พญ.พิชญา พรรคทองสุข อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการต่างรณรงค์ให้เลิกใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน และเห็นตรงกันว่าควร “ยกเลิกใช้” แต่ก็มีผู้ประกอบการที่ยังมีการนำเข้ามากว่า 30 ปีโดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้าอันดับ 4 รองจาก จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย และมีการบริโภคติดอันดับ 2 ของโลกรองจากรัสเซีย ในอัตราการบริโภคประมาณ 3 กิโลกรัม (ต่อคน/ปี)
แม้ประเทศไทยจะมีการนำเข้าแร่ใยหินลดลงจากปี 2000 ถึงปี 2009 จาก 120,563 แสนตัน เหลือเพียง 68,743 แสนตัน แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นเพราะบริษัทหลายแห่งได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์จึงทำให้การบริโภคลดลง ทั้งที่จริงแล้วประเทศไทยยังมีการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ โดยผู้นำเข้าพยายามสื่อสารกับผู้บริโถคว่า ไครโซไทล์ไม่มีอันตรายเท่าแอสเบสตอส และพบว่าประเทศไทยบริโภคแอสเบสตอสติดอันดับสองของโลก คือ 3 กก./คน/ปี รองจากรัสเซีย และคาดว่าจะมีคนไทยที่เป็นโรคมะเร็งปอดซึ่งแสดงอาการป่วยมากถึงปีละประมาณ 1,295 คน”
นางชื่นสุข เมธากุลวัฒน์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นอันตรายต่อปอด แต่สาเหตุที่ประเทศไทยยังมีการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ เนื่องจากเข้าใจว่าสารไครโซไทล์เมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถขับสารพิษออกมาได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อสารสะสมในร่างกายปริมาณมากจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดได้ ฉะนั้นแนวทางควบคุมแร่ใยหินไครโซไทล์จึงต้องตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอมาตรการจัดการอันตรายจากแร่ใยหิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ประมวลและรวบรวมข้อมูลสินค้าแร่ใยหินไครโซไทล์ ตลอดจนหาวัสดุทดแทนเพื่อจัดการอันตราย พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลอันตรายและสินค้าที่มีส่วนผสมแร่ใยหิน ซึ่งหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันอยากผลักดันไม่ให้ใช้ แต่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังมีการอนุญาตให้ใช้ได้
////////////////////////

วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เล่นละครสอนเรื่องเพศ..เตรียมความพร้อมวัยโจ๋ ก่อนมุ่งสู่ “พรบ.อนามัยการเจริญพันธุ์”!!!!

“การที่ผู้ใหญ่ให้ข้อมูลเรื่องเพศสัมพันธ์ในบริบทที่เหมาะสม ไม่ได้เป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะในชีวิตให้เด็กสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจและมีความรับผิดชอบในเรื่องเพศสัมพันธ์ได้มากกว่า”
/////////////////////////
จากปัญหา “ท้องไม่พร้อม เซ็กซ์ไม่ปลอดภัย” สู่ “การผลักดันร่างพระราชบัญญัติอนามัยการเจริญพันธุ์” สะท้อนให้เห็นว่า “ปัญหาสุขภาวะทางเพศ” ไม่ได้เป็นเพียงเรื่อง “ส่วนตัว” อีกต่อไป เพราะได้ยกระดับกลายเป็นปัญหาระดับชาติไปเรียบร้อยแล้วแต่ก่อนที่จะไปถึงขอสรุปร่วมกันใน “ระดับชาติ” การเตรียมความพร้อมให้กับเด็กและเยาวชนได้เท่าทันกับเรื่อง “เพศสัมพันธ์” จึงกลายเป็นเรื่องที่จะทำแบบเก็บงำซ่อนเร้นไม่ได้อีกต่อไป
โครงการสื่อละครเพื่อพัฒนาสุขอนามัยวัยเจริญพันธ์ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนสร้างสุขภาวะทางเพศ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เน้นให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา ด้วยการดึงทักษะการแสดงละครเข้ามาเพื่อเรียกความสนใจจากกลุ่มเด็ก โดยได้ “กลุ่มไม้ขีดไฟ” มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานผ่านเด็กเยาวชน
ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) กล่าวว่า หากสังคมไทยมีพรบ.อนามัยการเจริญพันธุ์แล้ว ก็จะเป็นการยกระดับเรื่องเพศ ให้กลายเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต ที่รัฐเข้ามาคุ้มครองอย่างเปิดเผย และ “เรื่องเพศ” ที่คนไทยมักหลบๆซ่อนๆแก้ไขปัญหาก็จะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป
“การเตรียมความพร้อมให้เด็กและสังคมในเรื่องเพศกลายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาก็เริ่มจากการทำวิจัยก่อนที่จะทดลองให้เด็กที่ท้องเข้าไปเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป ซึ่งผลก็ชี้ว่า เด็กในห้องก็ตระหนักถึงเรื่องเซ็กซ์ และการท้องมากขึ้น เพราะเห็นความยากลำบากของเพื่อนร่วมชั้นที่ตั้งท้อง 9 เดือนว่า ไม่ใช่เรื่องสนุกอีกต่อไป การมีกิจกรรมที่ปูความพร้อมในเรื่องเพศให้เด็กจึงเป็นเรื่องจำเป็น ไม่น้อยกว่าการทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังในกลไกการผลักดันระดับชาติ” ณัฐยากล่าว
ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน (พี่กุ๋ย) แกนนำกลุ่มไม้ขีดไฟ กล่าวว่า เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และเริ่มความรู้สึกทางเพศ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงไปตรงมาจึงเป็นเรื่องจำเป็น กิจกรรมละครโรงเล็กจึงเป็นอีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสให้เด็กๆได้เรียนรู้และสร้างทักษะความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเพศสัมพันธ์ ซึ่งมาพร้อมกับเรื่องความปลอดภัยและความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันก็สื่อให้เด็กเข้าใจว่า การพูดถึงเรื่องเซ็กซ์ไม่เป็นความผิด หรือน่าละอาย
“การที่ผู้ใหญ่ให้ข้อมูลเรื่องเพศสัมพันธ์ในบริบทที่เหมาะสม ไม่ได้เป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะในชีวิตให้เด็กสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจและมีความรับผิดชอบในเรื่องเพศสัมพันธ์ได้มากกว่า” ศรัทธา กล่าว
นัชภรณ์ ลิมปิสวัสดิ์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านท่าเลื่อนสามัคคี (คส-5 อุปถัมภ์) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า กิจกรรมละครโรงเล็กเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะทางเพศนั้นเป็นอีกหนึ่งบทเรียนชีวิตที่ทำให้เด็กเรียนรู้ถึงโทษในการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยไม่มีการป้องกัน ซึ่งหากสอนตามตำราเพศศึกษาในห้องเรียนแล้ว เด็กอาจจะไม่สนใจ แต่เมื่อนำกิจกรรมเข้ามาร่วม พวกเขาก็จะเห็นภาพตามได้มากขึ้น
“กิจกรรมนี้ทำให้เด็กเปลี่ยนความคิด มีการไตร่ตรองก่อนการกระทำโดยเฉพาะเรื่องการคบหาเป็นแฟน ยิ่งเป็นการนำเสนอโดยเด็กวัยรุ่น โอกาสที่เด็กจะรับฟังมีมากกว่าการสอนตามตำรา หรือการอบรมจากพ่อแม่เพียง เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ติดเพื่อนและเชื่อเพื่อนมาก นอกจากนี้ตัวกิจกรรมจะทำให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เรียกว่า เป็นละครที่เน้นการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างเป็นรูปธรรม” นัชภรณ์ กล่าว
ด.ช.ธนพล พันธ์สุนทร หรือ น้องอาลัม นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านนา (ประสิทธิ์วิทยาคาร) เล่าว่า กิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะสอนให้เรียนรู้ถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่เหมาะสมตามวัยแล้ว ยังสอนวิธีการกินยาคุมฉุกเฉิน การใส่ถุงยางอนามัย และการตั้งรับหากพลาดตั้งท้อง หรือติดโรค
“กิจกรรมสอนให้เราต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ให้ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์นั้น เชื่อว่า วัยรุ่นหลายคนอยากลองมีเซ็กซ์ก่อนวัยอันควร เพราะฉะนั้นเราควรจะมีกิจกรรม หรือวิธีจัดการกับอารมณ์ และความต้องการของตัวเองอย่างไรให้ไม่คิดฟุ้งซ่าน เพื่อให้พวกเขาได้รับรู้ถึงภัยก่อนวัย” ธนพลกล่าว
ขณะที่ ด.ญ.สุกานดา ขุนพรหม หรือ น้องแอ๊ป นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านนา (ประสิทธิ์วิทยาคาร) กล่าวว่า กิจกรรมสอนให้เธอรู้จักเก็บอารมณ์ของตัวเอง ทำให้มีสมาธิ ไม่วอกแวก โดยจะนำสิ่งที่ได้จากตรงนี้ไปแนะนำเพื่อนที่โรงเรียนว่า ควรทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่าเพิ่งมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนเพราะเป็นเรื่องไม่ดี จะทำให้เราเรียนไม่จบ ส่วนละครที่แสดงออกมาในกิจกรรมนี้เป็นการสอนให้รู้ว่าเราควรจะหันมาใส่ใจในการเรียน อย่าเพิ่งไปคิดเรื่องการมีแฟน เพราะบางคนมีแฟนก็จะไม่ตั้งใจเรียน ทำตัวเหลวไหล
ด้าน ด.ญ.สายฝน ชาญสูงเนิน หรือ น้องหวาน หวาน นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนบ้านท่าเลื่อนสามัคคี ได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์จากคนรอบข้างที่เกิดท้องระหว่างเรียนว่า ตอนแรกดูเหมือนเขาจะไม่กล้าที่จะปรึกษาใคร แม้แต่เพื่อนเองก็ไม่สามารถให้คำปรึกษาได้ เขาเลยตัดสินใจปรึกษาพ่อกับแม่เพราะคิดว่านี่คือที่ปรึกษาที่ดีที่สุด
ส่วนหนึ่งอาจเป็นโชคดีเพราะพ่อแม่ของเพื่อนเข้าใจและเห็นใจ จนกลับมาใช้ชีวิตวัยเรียนได้
เพราะทางแก้ออกไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว สนใจร่วมแสดงความคิดเห็น “พรบ.อนามัยในการเจริญพันธุ์” ได้ที่ http://rh.anamai.moph.go.th/webboard/view.php ก่อนจะมีการดีเดย์ระดมความคิดกันในวันที่ 16 สิงหาคมนี้เพื่อการผลักดันอย่างเป็นระบบต่อไป
///////////////////////////////////////////