วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

APPETITE for PROFIT “กระชากหน้ากากอุตสาหกรรมอาหาร” เผยอาหารปัจจุบันคุณค่าน้อยกว่าบรรพบุรุษ

โปรย : บริษัทอาหารพยายามผลักดันให้ คนเลือกอาหารแบบปัจเจก และผลักให้สุขภาพเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคไม่ใช้ผู้ผลิต ดังนั้นผู้บริโภคต้องใช้ความรู้เพื่อต่อสู้ในการหลีกหนีจากการครอบงำ
------------------------------
การที่ประเทศไทยมีการบริโภคอาหารและพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมจนนำมาซึ่งปัญหาของโรคขาดสารอาหารและโรคอ้วน อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวาน กับการได้รับข้อมูลการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการรณรงค์ “กินเปลี่ยนโลก” และนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดงานเปิดตัวหนังสือ “กระชากหน้ากากอุตสาหกรรมอาหาร” แปลมาจากหนังสือ “Appetite for Profit: How the food industry undermines our health and how to fight back” ของ Michelle Simon ที่นำเสนอเรื่องราวตัวอย่าง “ระบบอาหารของไทย” ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ การกล่าวถึงระบบ CSR อาหาร ที่พยายามเอาดีเข้าตัว เอาความชั่วยกให้คนอ้วน ทั้งที่ไม่เคยให้ข้อมูลด้านคุณค่าอาหารที่มากพอต่อประชาชน โดยจะแฉแหลกว่า อาหารในปัจจุบันไร้คุณค่าเมื่อเทียบกับอาหารของบรรพบุรุษ
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เล่าถึงประสบการณ์ตลอด 30 ปี พบว่า แต่ก่อนเด็กขาดสารอาหาร แต่ในปัจจุบันกลับพบปัญหาภาวะโภชนาการกินในเด็ก ซึ่งเป็นเรืองน่ากังวลมาก เพราะสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงจาก ‘ทุพโภชนา’ มาสู่ ‘โภชนาการ’ กินถึง 50 ปี ขณะที่ประเทศไทย กลับใช้เวลาสั้นกว่า และพบว่าเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน ในคนจนมากกว่าคนรวย จากกรณีชาวอเมริกันผิวดำฟ้องอุตสาหกรรมอาหาร ว่าทำให้เขาเป็นโรคอ้วนจากการรับประทานอาหารจานด่วน ที่บริษัทไม่ให้ข้อมูลด้านอาหารที่มากเพียงพอ สะท้อนให้เห็นว่า คนจนหรือคนมีการศึกษามักตกเป็นเหยื่อจากอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งทำการตลาดเพื่อเปลี่ยนความคิดว่า อาหารจานด่วน เป็นอาหารที่สะอาด ปลอดภัย สะดวก แม้แต่ในประเทศไทย ‘ฟาสท์ฟู้ด’ ก็กระจายจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองใหญ่อย่างรวดเร็ว
“ผู้บริโภคต้องสนใจในการดูแลตนเอง อย่าหวังพึ่งรัฐฝ่ายเดียว เพราะขนาดการเมืองในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลยังตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนนิยมที่มุ่งหากำไร เช่น กรณีพืชดัดแปรพันธุกรรม หรือ GMOs ที่ประเทศไทยกำลังเจอสถานการณ์การรุกคืบอย่างรวดเร็ว” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว
ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าแม้รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีอำนาจที่เข้มแข็งในการออกนโบายต่างๆ แต่ความจริงแล้วอุตสาหกรรมกลับมีอำนาจครอบงำผ่านพรรคการเมือง ดังนั้นประชาชนไม่ควรเอาชะตากรรมไปแขวนไว้กับพรรคการเมืองซึ่งอยู่ภายใต้ระบบทรัพย์สินใหม่ หรือ เสรีนิยมใหม่ แม้แต่ในสถาบันการศึกษา เนื่องจากนโยบายที่ผลักดันให้มหาวิทยาลัยพึ่งตนเอง ทำมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องทำการค้ากับบริษัทเอกชน อย่างไรก็ดี มีตัวอย่างสังคมหลายแห่งเริ่มมีความต้องการบริโภคอาหารอินทรีย์ อาหารที่ผลิตในท้องถิ่น อาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และมีเวทีเสวนาที่สอนให้เท่าทันอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว และเฝ้าระวังในการบริโภคมากขึ้น
“เรากำลังต่อต้านโลกาภิวัฒน์แบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ของบริษัทที่ทำงานกับรัฐอย่างแยกกันไม่ออก ที่มีความแยบยล สร้างความกลัว ผูกมัดวิถีชีวิต และครอบงำเรา ให้มีตรรกะที่ผิดเพี้ยนไป การจะฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลนั้นกลายเป็นเรื่องยาก เพราะบริษัทที่มักมีความสัมพันธ์กับรัฐก็พร้อมที่จะหลีกเลี่ยงกฎระเบียบต่างๆ การรู้เท่าทันอันตรายของสินค้าในการบริโภคจึงเป็นเรื่องจำเป็น” ผศ.สุรัตน์ กล่าว
นายกฤช เหลือลมัย บรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ กล่าวว่า บริษัทอาหารพยายามผลักดันให้ คนเลือกอาหารแบบปัจเจก และผลักให้สุขภาพเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคไม่ใช้ผู้ผลิต ดังนั้นผู้บริโภคต้องใช้ความรู้เพื่อต่อสู้ในการหลีกหนีจากการครอบงำ ประเทศไทยยังมีคนที่ลุกขึ้นมาสู้ในเรื่องนี้น้อย ส่วนใหญ่จะเป็น NGO ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะไม่ถูกครอบงำ“อย่างไรก็ดีเมื่อการกินของคนขึ้นกับสภาวะเงื่อนไขเวลา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจถูกโปรแกรมมาจากอดีต และพบว่า ปัจจุบันความรู้เรื่องการกินของคนไทยเริ่มน้อยลง เช่นไม่รู้ว่าอะไรกินได้ อะไรมีประโยชน์ พืชที่เคยเป็นอาหารในอดีตกลับเป็นเพียงวัชพืชในปัจจุบัน และกำลังจะสูญพันธุ์ในอนาคต ฉะนั้นเราต้องทำงานหนักมากขึ้น เช่น ต้องสร้างกระแสว่าการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นเรื่องที่เป็นหน้าเป็นตา และเป็นภาระหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่จะต้องร่วมกันทำ เช่น อาหารกินสดช่วยลดโลกร้อน อาหารที่ช่วยรักษาพันธุกรรมพืชและสัตว์ เป็นต้น” กฤชกล่าว
พญ.แสงโสม สีนะวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกระแสโลกาภิวัฒน์ อุตสาหกรรมอาหารจึงต้องการกำไร เพื่อความอยู่รอด ขณะที่ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีคุณค่ามาก นอกจากนี้ผู้บริโภคยังต้องการสุนทรียะในการกินด้วย ซึ่งเป็นเรืองที่อุตสาหกรรมอาหารรู้ดี ดังนั้นจึงทำทุกวิถีทางเพื่อตอบสนองสุนทรียะในการกินของผู้บริโภค อาหารบางเมนูจึงที่มีแต่แป้ง ไขมัน น้ำตาล แต่มีโทษต่อสุขภาพ ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องสู้แบบมีแผนการ มีแนวร่วม เพื่อให้เท่าทัน และต้องมีเครื่องมือ เช่นกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง และมีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ดี นอกจากนี้ยังต้องช่วยพัฒนาอาหารให้ดีและสะดวกต่อการเข้าถึงของผู้บริโภค เพื่อสู้กับอุตสาหกรรมอาหาร
ฉะนั้นเราต้องตื่นจากการกิน เพราะที่ผ่านมาเราถูกครอบงำมากพอแล้ว การที่มวลชนฉุดคิดและหันมาช่วยเกษตรกรต่อสู้กับนายทุนเพื่อให้เรามีทางเลือกในการกินอาหารที่ดีนั้น จึงจำเป็นยิ่งที่จะได้รับการสนับสนุนทางด้านกฎระเบียบต่างๆที่ดีในการกินด้วย
///////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น