วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาพิจารณ์ หนุนพ.ร.บ.อุ้มท้องเรียนต่อได้ หวังทุกเพศวัยมีสิทธิเท่าเทียมกัน

ประชาพิจารณ์ หนุนพ.ร.บ.อุ้มท้องเรียนต่อได้ หวังทุกเพศวัยมีสิทธิเท่าเทียมกัน
---------------------------
โปรย : พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ไม่เฉพาะผู้หญิงหรือหญิงตั้งครรภ์เท่านั้นที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิ แต่รวมถึงทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนถึงผู้สูงอายุ
---------------------------
จากกรณีที่เคยเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่เรื่องร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. ...โดยเฉพาะมาตรา 12 ในการเปิดทางให้ผู้หญิงท้องที่ยังอยู่ในวัยเรียน ได้มีโอกาสเรียนต่อในโรงเรียน โดยไม่ถูกให้ออก เพื่อสร้างเสริมสิทธิมนุษย์ชนให้เท่าเทียมกัน รวมทั้งมาตราอื่นๆ ที่ยังเห็นต่างกัน มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงได้จัดเวทีประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. ... ขึ้น เพื่อเป็นเวทีมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาทางออกให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยยึดฉันทามติที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน ไม่ใช่การโหวตเสียงเอาชนะกัน ซึ่งมีคนเข้าร่วมประชุมกว่า 250 คน จากเครือข่ายผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา ตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายทำงานด้านสิทธิสตรี เด็กและเยาวชน
จากการทำประชาพิจารณ์ฟังความเห็นจากสังคม เป็นรายมาตราจำนวน 29 มาตรา ได้ข้อสรุปว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่มีใครคัดค้าน แต่อาจจะต้องมีการปรับแก้ หรือเพิ่มเติมถ้อยคำในบางส่วน โดยจะมีการนำข้อเสนอแนะทั้งหมดเสนอต่อ คณะอนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. ... เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมาย ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป แม้แต่มาตรา 12 ในกรณีที่สถานศึกษามีหญิงตั้งครรภ์นั้นอยู่ระหว่างการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษานั้นต้องอนุญาตให้หญิงมีครรภ์ศึกษาต่อในระหว่างตั้งครรภ์และกลับไปศึกษาต่อภายหลังคลอดบุตรแล้วได้ ก็ไม่มีใครคัดค้าน ส่วนประเด็นที่เสนอให้นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ (กอช.) แทนที่จะเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น ฉันทามติก็เป็นเอกฉันท์ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การมีพ.ร.บ.อนามัยการเจริญพันธุ์ที่หลายส่วนยังมีความเป็นห่วงที่ว่าอาจเป็นการส่งเสริมให้เด็กท้องวัยเรียนเพิ่มขึ้นนั้นไม่เป็นความจริง เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้เน้นในเรื่องการป้องกันให้รู้ถึงโทษการตั้งครรภ์ที่ไม่เหมาะสม เพราะปัญหาเด็กตั้งครรภ์ในวัยเรียนต้องมีการทำแท้งที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต มดลูกเน่าและอาจเป็นหมันซึ่งปัญหาหลายอย่างก็จะตามมา และเด็กเองก็จะไม่เลียนแบบเพราะได้รู้ถึงโทษที่ตามมาด้วย และปัจจุบันพบว่าเด็กตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า 15 ปี มีถึง 1.1 % อยู่ที่ประมาณ 10,000 คนต่อปี ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันเร่งผลักดันและหาทางให้เกิดกฎหมายนี้ขึ้นโดยเร็วเพื่อช่วยลดปัญหาทางเพศเหล่านี้
“พ.ร.บ.นี้ไม่เฉพาะผู้หญิงหรือหญิงตั้งครรภ์เท่านั้นที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิ แต่รวมถึงทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้พบว่าแม่ที่เป็นวัยรุ่นในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นโดยอยู่ที่ประมาณ 15.55% ทั้งที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าควรจะไม่เกิน 10% โดยจากการรายงานตัวเลข ด.ญ.แม่ตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า 15 ปีมีประมาณ 1.1% หรือประมาณ 1 หมื่นคนต่อปี อายุน้อยที่สุดคือ 9 ขวบ หากเด็กมีประจำเดือนตกไข่ ก็สามารถมีบุตรได้แล้ว” นพ.สมยศ กล่าว ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการส่งแบบแสดงความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์ฯ ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม-11 สิงหาคม ที่ผ่านมา จำนวน 138 ฉบับ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าผลการสำรวจที่เห็นด้วยบางส่วนและไม่เห็นด้วยบางมาตราร้อยละ 64.5 สำหรับมาตราที่ไม่เห็นด้วยและเสนอว่าควรปรับแก้มากที่สุด คือ มาตรา 12 เรื่องการตั้งครรภ์ระหว่างการศึกษา โดยไม่เห็นด้วย ร้อยละ 18.84 ซึ่งที่ประชุมได้มีการเสนอว่าให้หญิงที่ตั้งครรภ์ระหว่างเรียนให้ลาพักคลอดและมีสิทธิศึกษาต่อได้
“จะรวบรวมความคิดเห็นจากการทำประชาพิจารณ์ และความเห็นของอนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เข้าที่ประชุม ครม.ให้ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งสาระสำคัญคือ1.เรื่องสถานบริการที่ให้ความรู้ คำปรึกษา โดยเฉพาะเรื่องการไม่เปิดเผยความลับของผู้ให้บริการ 2.สถานศึกษาที่ต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อจัดการเรียนการสอนด้านเพศศึกษา ซึ่งประเด็นการศึกษาต่อเป็นเพียงประเด็นย่อยเท่านั้น และ 3.ป้องกันการคุกคามทางเพศ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ส่วน นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธ์ ได้บอกถึงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนให้เด็กท้องในวัยเรียนเรียนต่อได้นั้นว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ความจริงมาตราก่อนหน้านั้นได้มีการระบุไว้แล้วจะให้เน้นในเรื่องของการส่งเสริมทักษะชีวิต องค์ความรู้เรื่องเพศศึกษา การให้ข้อมูลความรู้ที่เหมาะสม ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันสร้างศักยภาพ สร้างภูมิคุ้มกัน แต่หากเกิดปัญหาขึ้นมาก็ถือว่าเป็นคนไทยที่เราควรจะคุ้มครองดูแล ฉะนั้นจึงต้องมีมาตรา 12 เพื่อเปิดโอกาส แต่เจตนารมณ์ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีการตั้งครรภ์มากขึ้น แต่เป็นการที่ว่าหากเกิดปัญหาจะทำอย่างไรที่จะให้โอกาสให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีการโต้แย้ง ซึ่งความคิดเห็นที่ได้จะนำไปปรับร่างเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคม
ด้าน ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง เล่าว่ามูลนิธิเห็นด้วยกับภาพรวมร่าง พ.ร.บ.นี้ แต่อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมในบางมาตรา เช่น มาตรา12 ที่ควรเพิ่มวรรคท้ายว่า สถาบันการศึกษาควรจัดมาตรการช่วยเหลือให้หญิงมีครรภ์ศึกษาต่อได้อย่างมีคุณภาพด้วย นอกจากนี้ในมาตรา 15 ระบุให้ กอช. มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานนั้นเห็นว่า กอช.ควรจะเป็นคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ไม่ใช่แค่ระดับกระทรวง
/////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น