วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สสส.ร่วม คคส.ชี้คนไทยบริโภค ‘แร่ใยหินแอสเบสตอส’มากติดอันดับ 2 ของโลก

เมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม ณ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต การสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(สคบ.) คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การจัดการอันตรายจากแร่ใยหินเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค ระบุคนไทยบริโภคแร่ใยหินแอสเบสตอสมากติดอันดับ2ของโลก แพทย์เผยคนไทยบริโภคมากสูงถึง 3 กก.ต่อคนต่อปี เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดร่วม 1,295 คน/ปี และย้ำมาตรการติดฉลากเตือนยังต่ำกว่าแบบระดับโรค
รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สสส.คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยได้ยกเลิกแร่ใยหินทุกชนิดเหลือเพียงแร่ใยหินไครโซไทล์และทาง สคบ.ได้กำหนดให้มีการติดฉลากคำเตือนว่ามีอันตรายต่อมะเร็งและโรคปอดซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่เตือนถึงความรุนแรงและอันตรายของแร่ใยหิน ดังที่ได้เกิดขึ้นในอังกฤษ ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลี จนประเทศเหล่านี้ได้ใช้มาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดจนเป็นมาตรฐานสากล และในประเทศไทยชอบนำอารยะธรรมของชาวตะวันตกมาใช้ แต่ถึงคราวที่จะต้องทำตามเพื่อปกป้องประชาชนจากโรคภัยที่ร้ายแรงไม่มีทางรักษาหาย กลับไม่เอามาเป็นแบบอย่าง ดังนั้นมาตรการที่จะรองรับความเจ็บป่วยจากมะเร็ง จึงต้องเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมสากลไม่ใช่มาตรฐานที่ต่ำกว่าสากล
“ปัจจุบันมีการติดฉลากขนาด 3 x 3 และจากการสำรวจร้านค้าที่ขายวัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ก็ก็พบว่าได้มีการติดฉลากแล้วประมาณ 80% หรือว่าฉลากคำเตือน 3คูณ3 เล็กเกินไป คนถึงยังไม่เข้าใจว่ามีอันตรายหรือจริงหรือไม่ ซึ่งพบว่าร้านค้าจากเดิมที่มีการขายแต่อุปกรณ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ปัจจุบันได้มีวัสดุที่ไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหินร่วมด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี จึงอยากจะย้ำว่าตอนนี้ทั่วโลกเลิกใช้แร่ใยหินเหลือแต่ไครโซไทล์ และ 25 คำถามของผศ.ดร.พญ.พิชญา พรรคทองสุข ก็เป็นตัวชี้วัดว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายและให้เลิกใช้” รศ.ดร.วิทยา กล่าว
ผศ.ดร.พญ.พิชญา พรรคทองสุข อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการต่างรณรงค์ให้เลิกใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน และเห็นตรงกันว่าควร “ยกเลิกใช้” แต่ก็มีผู้ประกอบการที่ยังมีการนำเข้ามากว่า 30 ปีโดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้าอันดับ 4 รองจาก จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย และมีการบริโภคติดอันดับ 2 ของโลกรองจากรัสเซีย ในอัตราการบริโภคประมาณ 3 กิโลกรัม (ต่อคน/ปี)
แม้ประเทศไทยจะมีการนำเข้าแร่ใยหินลดลงจากปี 2000 ถึงปี 2009 จาก 120,563 แสนตัน เหลือเพียง 68,743 แสนตัน แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นเพราะบริษัทหลายแห่งได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์จึงทำให้การบริโภคลดลง ทั้งที่จริงแล้วประเทศไทยยังมีการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ โดยผู้นำเข้าพยายามสื่อสารกับผู้บริโถคว่า ไครโซไทล์ไม่มีอันตรายเท่าแอสเบสตอส และพบว่าประเทศไทยบริโภคแอสเบสตอสติดอันดับสองของโลก คือ 3 กก./คน/ปี รองจากรัสเซีย และคาดว่าจะมีคนไทยที่เป็นโรคมะเร็งปอดซึ่งแสดงอาการป่วยมากถึงปีละประมาณ 1,295 คน”
นางชื่นสุข เมธากุลวัฒน์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นอันตรายต่อปอด แต่สาเหตุที่ประเทศไทยยังมีการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ เนื่องจากเข้าใจว่าสารไครโซไทล์เมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถขับสารพิษออกมาได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อสารสะสมในร่างกายปริมาณมากจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดได้ ฉะนั้นแนวทางควบคุมแร่ใยหินไครโซไทล์จึงต้องตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอมาตรการจัดการอันตรายจากแร่ใยหิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ประมวลและรวบรวมข้อมูลสินค้าแร่ใยหินไครโซไทล์ ตลอดจนหาวัสดุทดแทนเพื่อจัดการอันตราย พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลอันตรายและสินค้าที่มีส่วนผสมแร่ใยหิน ซึ่งหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันอยากผลักดันไม่ให้ใช้ แต่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังมีการอนุญาตให้ใช้ได้
////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น