วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สสส.สภาผู้แทนฯ ชี้ร่าง พรบ.กองทุนการออมสร้างชีวิตที่มั่นคง

สสส.ร่วมสภาผู้แทนฯ - เครือข่ายบำนาญประชาชน
ชี้ “ร่างพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ” ช่วยคนนอกระบบร่วม 1 ใน 3 ของคนประเทศ
เพื่อสร้างชีวิตที่มั่นคงด้วยการออม ตั้งเป้าลบภาพวัยชราถูกทอดทิ้ง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เครือข่ายบำนาญประชาชน จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับการสร้างระบบบำนาญพื้นฐานที่เป็นจริง” เพื่อช่วยสร้างหลักประกันทางการเงินในยามชราให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันทางรายได้เหมือนกลุ่มข้าราชการ หรือลูกจ้างเอกชนที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมที่มีจำนวนอยู่ประมาณ 23.5 ล้านคน (ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรไทย 67.3 ล้านคน) ได้มีโอกาสที่จะมีโครงการบำนาญสูงอายุสำหรับหลักประกันด้านรายได้ในยามชราภาพของตนเองด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ โดยหลักการเงินบำนาญประชาชนนั้น สามารถฝากเงินผ่านกองทุนโดยที่ประชาชนเป็นผู้ออมและรัฐบาลเป็นผู้สมทบ เมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้เงินบำนาญ การจัดเงินสมทบ จัดแบ่งเป็น อายุต่ำกว่า 20 ปี รัฐไม่จ่ายสมทบ อายุ 20-30 ปี รัฐสมทบ 50 บาท/เดือน อายุ 30-50 ปี รัฐสมทบ 80 บาท/เดือน และ อายุ 50-60 ปี รัฐสมทบ 100 บาท/เดือน เมื่อสมทบจนอายุครบ 60 ปี รัฐจะจ่ายคืนเป็นบำนาญไปจนกระทั่งเสียชีวิต โดยกฎหมายฉบับนี้เปรียบได้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวว่า พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติมีเป้าหมายเพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน เริ่มหันมาดูแลตัวเอง และสนใจกับอนาคตเมื่อเข้าวัยชรามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมที่มีประชากรวัยชรา (ประมาณ 7.3 ล้านคน) เหมือนสังคมของประเทศสิงคโปร์ การมีกองทุนการการออมระหว่างที่ประชาชนยังมีกำลังทำงานถือเป็นเรื่องดี ทำให้เกิดเงินออมระยะยาวสำหรับตัวเอง โดยมีรัฐบาลสมทบเข้ามา เพื่อใช้เป็นบำนาญเมื่อพ้นวัยทำงาน เหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับอนาคตตัวเอง ด้วยตัวเอง เรียกว่า เป็นหลักประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุมีชีวิตในอนาคตที่มั่นคงยิ่งขึ้น
“สสส.เองได้ทำงานเรื่องนี้มา 2-3ปีโดยการรวบรวมความรู้และนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาเป็นตัวอย่าง แล้วเอามาทำเป็นงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและให้ภาคประชาชนมาช่วยออกแบบจนนำมาเป็นร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ซึ่งหลักๆมีการสมทบจากคนที่มีแรงทำงาน มีองค์กรบริหารอิสระ โดยมีภาคีด้านแรงงานเป็นคนขับเคลื่อน” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว
นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้คือ ให้จัดตั้งกองทุนให้ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ซึ่งไม่อยู่ในระบบราชการ หรือได้รับบำเหน็จบำนาญ และสวัสดิการในระบบที่มีอยู่แล้ว เปิดให้ประชาชนผู้เข้าร่วมจ่ายเงินสมทบแบบการออม 100-1,000 บาท/เดือน แล้วรัฐจะจ่ายสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง โดยหลังจากที่อายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินเป็นรายเดือน ซึ่งจะช่วยให้คนที่อยู่นอกระบบ และไม่ได้ทำประกันสังคมได้รับบำนาญเมื่อเข้าสู่วัยชรา มีประสิทธิภาพที่ดีหลังวัยเกษียณอายุ โดยจะแยกออกมาคนละส่วนกับระบบการประกันสังคม และปัจจุบันคนในระบบที่ทำประกันสังคมมีเพียง 13% หากคนนอกระบบเข้ามาในระบบได้ถึงครึ่งหนึ่งของส่วนที่อยู่นอกระบบจะเป็นการรองรับให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา มีเงินออมเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันให้กับชีวิต
นายเอนก จิรจิตอาทร เครือข่ายบำนาญประชาชน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ของภาคประชาชนต่างกับของกระทรวงการคลังคือรัฐบาลจะให้มีการถอนออกมาแล้วได้เงินหลังเกษียณอายุ เป็นเงินบำเหน็จ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการคือไม่ให้มีการถอน จะให้รับเป็นเงินบำนาญเพราะต้องการให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันที่มั่นคง เพราะที่ผ่านมาจะเห็นภาพคนชราถูกปล่อยทิ้งลูกหลานไม่เหลียวแลทำให้เกิดภาพขอรับเงินบริจาคช่วยเหลือ แต่หากร่าง พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นเชื่อว่าจะไม่มีภาพอย่างนี้เกิดขึ้นแน่นอน ตรงกันข้ามลูกหลานจะกลับมาให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติเปิดกว้างให้ทั้งคนในระบบและนอกระบบสามารถทำได้ยกเว้นข้าราชการ หากคนที่ทำประกันสังคมมีกำลังพอที่จะจ่ายทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปได้ การที่เปิดกว้างให้เข้าถึงสิทธิตรงนี้เพื่อต้องการให้ครอบคลุมเพราะต้องการให้ประชาชนมีหลักประกันที่มั่นคงหลังเกษียณอายุ
ดร.พรหมมิน สีตบุตร ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พ.ร.บ.ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นมิติที่ดีสำหรับการเริ่มต้นให้หลักประกันความมั่นคงสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งกองทุนนี้อนาคตจะเป็นกองทุนที่ใหญ่โตมโหฬาร เพราะตามที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆกล่าวอ้าง กองทุนบำเหน็จบำนาญจะเกิดเป็นตัวเงินที่ใหญ่มหาศาลที่อนาคตจะมีถึงกว่าล้านล้านบาท แต่สังคมจะเป็นทุกข์หากไม่เกิดความร่วมมือของทุกฝ่ายซึ่งไม่ต่างกับระบบประกันสังคม แต่เงินนี้จะต่างกับระบบประกันสังคมตรงที่ว่าเงินประกันสังคมจะมีการนำไปจ่ายในการรักษาพยาบาล แต่เงินออมส่วนใหญ่เป็นเงินสะสมไม่มีการถอนออกจนกว่าจะเกษียณอายุ การจะทำให้ครอบคลุมให้คนชราทุกคนต้องทำให้ผู้สูงอายุทุกคนได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน
นางสาวสุปาณี จันทรมาศ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการออม สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีการออมเพื่อการดำรงชีพในวัยชราเสี่ยงต่อความยากจนในอนาคต ดังนั้นจึงเกิดการร่าง พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันชีวิตที่มั่นคงและได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีแรงงานในระบบอยู่แค่ 4.11 ล้านคน อีกกว่า 19 ล้านคนยังไม่อยู่ในระบบ กองทุนการออมนี้เป็นการสร้างวินัยในการออมไม่เหมือนเป็นการช่วยเหลือเบี้ยยังชีพสำหรับวัยชรา กองทุนการออมเป็นเหมือนองค์กรอิสระที่ตัวแลเรื่องบำนาญของประชาชน พร้อมทั้งมีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
-------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น