วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

ภัยเงียบยาปฏิชีวนะเกิดภาวะ “ดื้อยา”พบไทยนำเข้าและผลิตสูงสุด

ภัยเงียบยาปฏิชีวนะเกิดภาวะ “ดื้อยา”พบไทยนำเข้าและผลิตสูงสุด
---------------------------------
โปรย : ภาวะดื้อยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่แค่เรื่องของโรงพยาบาลที่ต้องแก้ปัญหา แต่ได้ก้าวล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม การนำศิลปะชี้ภัยจะดึงดูดความสนใจของประชาชนให้เล็งเห็นผลเสียที่เกิดขึ้น หลังพบคนไทยนำเข้าและผลิตสูงสุดเป็นอันดับ1
--------------------------------
“ยาปฏิชีวนะ”หรือ“ยาต้านจุลชีพ”เป็นยาที่สกัดได้จากจุลินทรีย์และราพันธุ์ต่างๆ คนทั่วไปนิยมเรียกกันติดปากว่า“ยาแก้อักเสบ”คือ ยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อจุลชีพชนิดอื่น ๆ เป็นกลุ่มยาที่มีอัตราการใช้มากที่สุด เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย แต่ละปีมีมูลค่าของการใช้เป็นจำนวนมหาศาล ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลและร้านขายยา ยาปฏิชีวนะมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเพนิซิลลิน อีรีโทรมัยซิน เตตราซัยคลิน คลอแรมเฟนิคอล สเตรปโตมัยซิน นอกจากนี้ยาปฏิชีวนะยังรวมถึงยาที่สังเคราะห์ขึ้นตามกระบวนการทางเคมี เช่น ยาประเภทซัลโฟนาไมด์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารสุข (สธ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นผลเสียที่ตามมาจึงจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันเรื่องการรณรงค์การใช้ยาอย่างเหมาะสมเพื่อลดปัญหาพฤติกรรมการใช้ยาเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเชื้อ “ดื้อยา” พร้อมปลุกกระแสสังคมให้ฉลาดใช้ยาหลังพบวันรุ่นหันพึ่งอาหารเสริม กาแฟ และยาลดความอ้วนเพียบ ขณะที่ กพย.จัดโครงการสานศิลป์ในป่าสวย เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ในการใช้ศิลปะแนะนำยา ดึงดูดความสนใจของประชาชน ให้เห็นผลเสียของการกินยาเกินขนาด โดยปัญหาการใช้ยาเกินขนาดของคนวัย 31-45 ปี จะพบอาการ“ดื้อยา” มากที่สุดถึงร้อยละ 24.6 สร้างความเสียหายร่วม 20,000 ล้าน จึงเป็นเรื่องที่ควรเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง
นพ.ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ชนิดยาปฏิชีวนะ 5 ลำดับที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์นำไปสู่การดื้อยาคือ1.เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 2.อะม็อกซี่ซิลิน (amoxicillin) 3.ไอบูโปรเฟน (ibuprofen) 4 .ซัลฟาเมทธอกซาโซล และ5. ไตรเมทโธพริม (sulfamethoxazole+trimethorprim) สะท้อนให้เห็นว่า ยาที่เข้าข่ายทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์สูงสุด 25 อันดับแรกนั้นเป็นยาปฏิชีวนะถึง 15 รายการ และประเด็นที่น่าเฝ้าระวังคือยาเพนนิซิลิน และอีริโธมัยซิน ที่เคยใช้เป็นยารักษาโรคปอดบวมได้ผลนั้น เริ่มเกิดอาการดื้อยา โดยในปี 2541-2550 พบการดื้อยาเพนนิซิลินจาก 47% เป็น 61% และดื้อยาอิริโธมัยซินจาก 27% เป็น 54% และล่าสุด พบว่า การพัฒนายาใหม่เพื่อใช้แทนยาเพนนิซิลินและอีริโธมัยซิน ที่ไม่พบการดื้อยามาตั้งแต่ปี 2544 แต่ขณะนี้เริ่มมีการดื้อยามากขึ้น ขณะที่ความต้องการยาปฏิชีวนะชนิดใหม่เพื่อต่อสู้กับเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มการค้นคิดยาปฏิชีวนะชนิดใหม่กลับลดลง เนื่องจากเป็นกลุ่มยาที่อาจไม่คุ้มค่าในการลงทุนศึกษาวิจัย เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาทำให้ประสิทธิภาพของยาในการรักษาโรคติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนตลาดของยากลุ่มที่รักษาโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน และเบาหวาน ที่คงประสิทธิภาพการรักษาและอยู่ในตลาดได้เป็นเวลานาน พฤติกรรมการใช้ยาของคน จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และมีความจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ
ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. เล่าถึงสาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยาว่าเกิดจากการใช้ไม่ถูกต้อง และการใช้เกินความจำเป็น สะท้อนจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะของประเทศไทย พบว่า ประชาชนมีการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็น เช่น โรคหวัด ประมาณ 40-60% ในภูมิภาค และ 70-80% ในกรุงเทพมหานคร ภาวะดื้อยา ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้ยาที่แพงขึ้น และต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานขึ้น เพราะภาวะดื้อยาทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง ไม่คุ้มการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของสหรัฐอเมริกาที่สูญเสียเงินปีละ 4-5 พันล้านดอลล่าร์ จากปัญหาการดื้อยา เช่นเดียวกับยุโรปที่สูญเสียปีละ 9 พันล้านยูโร ขณะที่ตัวเลขของ อย.ระบุว่า ประเทศไทยผลิตและนำเข้ากลุ่มยาฆ่าเชื้อ รวมถึงยาปฏิชีวนะ สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของการผลิตและนำเข้ายาทั้งหมด โดยในปี 2550 การผลิต และนำเข้ายากลุ่มปฏิชีวนะมีมูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือประมาณ 20% ของมูลค่ายาทั้งหมด
ส่วน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญเร่งด่วนสำหรับเยาวชนคือ การบริโภคผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนในเด็กและเยาวชน เช่น ยาลดน้ำหนัก กาแฟ อาหารเสริม ซึ่งมักโฆษณาเกินจริง จนทำให้เกิดการใช้ที่ไม่เหมาะสม และบางรายอาจทำให้เกิดภาพหลอน และนำไปสู่ภาวะการกดประสาท ซึ่งการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงระดมความร่วมมือจากหลายคณะ ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ และร่วมกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข และ สสส. เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีความรู้และเข้าใจถึงประเด็นการใช้ยาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพฤติกรรมการใช้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ เป็นเรื่องยากที่จะไปกระตุ้นความคิด ความเข้าใจ และความตระหนักของประชาชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ให้เข้าใจถึงปัญหาเหล่านี้ การนำศิลปะเข้ามาสู่เรื่องการรณรงค์เพื่อให้คนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อกระตุ้น และแสดงความห่วงใยออกมาผ่านงานศิลปะ ซึ่งความจริงแล้วปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะไม่ใช่แค่เรื่องของโรงพยาบาล แต่ได้ก้าวล้ำไปสู่เรื่องปัญหาใหญ่ทางสังคม การให้บุคคลากรทางการแพทย์ได้เห็นธรรมชาติจะได้สร้างสรรค์งานศิลปะเรื่องไมโคร ของจุลินทรีย์ ที่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งในการดื้อยา เพื่อสะท้อนชี้จุดและเพิ่มแรงบันดาลใจ ซึ่งเชื่อว่าการใช้ศิลปะในการรณรงค์จะได้ผล และตัวเราต้องเข้าใจศิลปะ ไม่ใช่ว่าภาพที่ออกมาคนอ่านแล้วจะเข้าใจเลย และทำให้มีความรู้เลย แต่ศิลปะสามารถเป็นแรงบันดาลใจ เพราะศิลปะมีความพิเศษเป็นสิ่งที่ดี การที่เลือกศิลปะมาเป็นสื่อเนื่องจากมีตัวอย่างบางประเทศได้ทำมาแล้ว เพราะสามารถดึงคนมาเป็นส่วนร่วมได้ สามารถกระตุ้นให้คนตระหนักคิด ฉุกคิดตามได้ ความตื่นตัวตรงนี้นับว่าดี ซึ่งอาจจะมีการขยายจัดต่อบางพื้นที่ได้ ซึ่งทุกคนก็ตื่นตัวเรื่องปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะอยู่บ้าง
/////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น