วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

เปิดใจ น.ร.ปลายข้าว บอกเล่าถึงชีวิตพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

เปิดใจ น.ร.ปลายข้าว บอกเล่าถึงชีวิตพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
------------------------------
โปรย : พลิกฟื้นชีวิตคนขาดโอกาสทางการศึกษา ถูกผลักออกจากสังคม ด้วยการศึกษานอกระบบ ตามแบบฉบับโรงเรียนปลายข้าวเมืองพัทลุง เน้นสอนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และพระไตรปิฎก
-------------------------
ตามที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปดูการเรียนการสอน “โรงเรียนปลายข้าว” ต้นแบบการเรียนรู้นอกตำรา ของเทศบาลเมือง จังหวัดพัทลุง แถมยังนำพระไตรปิฎกมาเป็นสื่อ และหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาสอนให้ได้รู้จักการเลี้ยงชีวิตด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งของในตลาด และยังสามารถนำไปขายเพื่อเลี้ยงชีพได้อีกด้วย
นายสุวัฒน์ บุญปสอง ผอ.โรงเรียนนิโครธาราม กล่าวว่าที่โรงเรียนวัดนิโครธารามมีนักเรียนปลายข้าวทั้งหมด 47 คน และได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน โดยนำพระไตรปิฎกมาเป็นสื่อ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ ความสามารถ และเน้นการเรียนรู้แบบหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการเลี้ยงสัตว์ ทั้งเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกพืชผักสวนครัว พืชสวน ทำนาข้าว และทำโรงเพาะเห็ด เพาะถั่วงอก เพื่อเปิดโอกาสให้ได้มีการศึกษานอกระบบสำหรับผู้ไม่สามารถมาเรียนได้ตามระบบการศึกษา ซึ่งเป็นต้นแบบของการสอนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียนปลายข้าวที่ไม่มีโอกาสศึกษาตามระบบ
มาฟังยายฉิ้ม จอมแพ่ง อายุ 83 ปี นักเรียนโรงเรียนปลายข้าวสังกัดโรงเรียนวัดนิโครธารามที่มีอายุมากที่สุด เล่าว่าชีวิตยายตั้งแต่เกิดมาไม่เคยรู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนก็ไม่ได้ ไปไหนก็อายคน จะทำอะไรแต่ละอย่างก็ต้องให้เด็กมาอ่านให้ฟัง เพราะที่บ้านแม่ของยายมีลูกหลายคนเลยไม่มีเงินพอที่จะส่งเสียให้เรียน แต่ตอนนี้ยายรู้สึกดีใจมากที่ได้มาเรียนที่โรงเรียนปลายข้าว ทำให้ยายสามารถอ่านออก เขียนได้เหมือนกับคนอื่น เสียอย่างเดียวตอนนี้ยายตาไม่ค่อยดี และเป็นเรื่องที่ดีอีกอย่างหนึ่งของโรงเรียนปลายข้าวคือจะเน้นการสอนแบบปฏิบัติ มีการสอนเลี้ยงปลา ปลูกผัก ที่เขาเรียกว่าสอนแบบเข้าถึงแก่นชีวิต ยายอยากบอกว่าขอขอบคุณนายกโกสินทร์ที่ทำให้ยายมีโอกาสได้เรียน ทำให้อ่านออก เขียนได้ เหมือนคนอื่น
ส่วนป้ายุภา จันทร์สุข วัย 50 ปี เล่าถึงชีวิตในการที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ทั้งน้ำตาไหลลงอาบแก้มทั้งสองข้างว่า ตอนเด็กทางบ้านลำบากมาก พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่ป้ายังเล็ก ทำให้ป้าไม่ได้เรียนหนังสือเพราะต้องช่วยแม่ทำงานหาเลี้ยงชีวิต และครอบครัว เมื่อก่อนจะเดินไปไหนก็มีคนดูถูกเหยียดหยามเพราะเขาเห็นว่าเราจนไม่รู้หนังสือ แต่ตอนนี้รู้สึกดีใจมากที่ทางเทศบาลมีการเปิดโรงเรียนปลายข้าว ทำให้ป้าสามารถอ่านออกเขียนได้ และยังมีการสอนแบบหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการเลี้ยงปลา ปลูกผัก และยังได้เข้ามาช่วยเหลือเวลามีงานโรงเรียนและงานในวัด ทำให้ได้เข้าสังคมเหมือนกับคนอื่นๆ เหมือนพลิกชีวิตป้าจากหน้ามือเป็นหลังมือ ก็ต้องขอบคุณทางท่านนายกฯโกสินทร์ ที่เปิดโรงเรียนปลายข้าวขึ้นมาให้ป้าได้เรียน ได้ทำกิจกรรมเหมือนกับคนอื่นๆ ที่ป้าใฝ่ฝันอยากจะทำมาตลอดคือได้มีโอกาสรู้จักการทำมาหากินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ด้าน ด.ช.ธนวัตร บุญมาตย์ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดนิโครธาราม ซึ่งเป็นเด็กที่เรียนในระบบได้เล่าถึงความรู้สึกที่ทางโรงเรียนมีการเปิดหลักสูตรการเรียนฉบับโรงเรียนปลายข้าว ว่ารู้สึกดีใจที่โรงเรียนวัดนิโครธาราม มีการเปิดการเรียนการสอนฉบับโรงเรียนปลายข้าวเพราะทำให้ตัวเองมีโอกาสได้เรียนรู้วิถีชีวิตผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเหมือนคนทั่วไป และตัวเองยังสามารถเข้าเรียนพร้อมกับนักเรียนโรงเรียนปลายข้าวด้วย ทำให้มีความรู้จักและคุ้นเคยมากกว่าที่ผ่านมา และยังได้รู้จักวิธีการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ มีเพื่อนเพิ่มขึ้น และยังได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่มีในห้องเรียน ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนมากเพราะที่บ้านเมื่อได้ยินว่าเพื่อนที่ไปเล่นด้วยเป็นนักเรียนปลายข้าวจะไม่ให้ไปเล่นกับคนเหล่านั้นเลย แต่ตอนนี้ความคิดเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปเพราะสิ่งที่เห็นไม่ได้เลวร้ายเหมือนที่คิด
ขณะที่นายโกสินทร์ ไพศาลศิลป์ นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง ผู้พลิกฟื้นชีวิตคนจากหน้ามือเป็นหลังมือ บอกว่าเข้าใจว่าสังคมมนุษย์ต้องช่วยกันเพื่อให้อยู่รอดในสังคม เพราะคนสูงอายุบางคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เนื่องจากแต่ก่อนคนที่จะรู้หนังสือต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นทำให้ผู้หญิงในวัยสูงอายุไม่รู้หนังสือ เพราะไม่มีโอกาสได้เรียน แต่ปัจจุบันใช้การเรียนแบบไม่มีระบบ แต่เอาผลสัมฤทธิ์มาสอนเพื่อไม่ให้เกิดความกดดันของผู้เรียนและผู้สอน เพราะการสอนที่โรงเรียนปลายข้าวเน้นการสอนแบบปฏิบัติ จัดตารางเรียนตามใจผู้เรียน โดยไม่มีการเช็คชั่วโมงเรียนเหมือนการเรียนในระบบ ซึ่งการเปิดโรงเรียนปลายข้าวขึ้นเราต้องเข้าถึงแก่นชีวิตของคนแต่ละวัยว่าต้องการการเรียนแบบไหน โดยใช้หลักสำรวจในการเข้าไปพูดคุยและนั่งกินข้าวด้วยกัน บางคนชอบกินเหล้าเราก็ต้องไปนั่งในวงเหล้าเพื่อถามถึงความต้องการของคนเหล่านั้น ซึ่งโรงเรียนปลายข้าวก็ได้เปิดการเรียนการสอนมานานกว่า 4 ปี แล้ว โดยจะมีการจัดงานครอบรอบวันถ่ายโอนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของครู นักเรียนและประชาชนเพิ่มขึ้น
ส่วนในงานครบรอบ 4 ปี วันถ่ายโอนโรงเรียนปลายข้าว นักเรียนปลายข้าวได้นำผักปลอดสารพิษ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการทำขนมสูตรโบราณ ทั้งขนมพิมพ์ ขนมโค ขนมครก ขนมจาก และการะแม มาจัดบูธภายในงานด้วย ซึ่งส่วนผสมของขนมแต่ละอย่างล้วนทำมาจากธรรมชาติทั้งนั้น อย่างขนมโค ที่มีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ นำมาคลุกเคล้ากับงาและมะพร้าวอ่อน มีสีสวยแปลกตา อย่างสีเหลืองก็ทำมาจากฟักทอง สีขาวทำมาจากเผือก สีม่วงทำมาจากดอกอัญชัน และสีเขียวทำมาจากใบเตย ส่วนขนมครกที่โรยหน้าด้วยไส้เค็มนี้ก็ทำมาจากหัวไชเท้าหากินที่ไหนไม่ได้ ต้องมากินที่เมืองพัทลุงเท่านั้นเพราะเป็นสูตรต้นตำรับโบราณที่ไม่ใช่สูตรชาววัง
///////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น