วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

“ฝันผุ”ภัยเงียบใกล้ตัว “เด็กเล็ก”แพทย์เผย เด็ก 3 ปีร่วม 60% เสี่ยง “ฝันผุ” กระทบ ‘เติบโตช้า แคระแกรน’

“ฝันผุ”ภัยเงียบใกล้ตัว “เด็กเล็ก”
แพทย์เผย เด็ก 3 ปีร่วม 60% เสี่ยง “ฝันผุ” กระทบ ‘เติบโตช้า แคระแกรน’
--------------------------
โปรย “เปิดสถานการณ์การใช้น้ำตาลทำลูกอมเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2552 พบปัญหาฟันผุในเด็กไทยสูงถึง 60% ในเด็ก 3 ปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม เผยเด็กฟันผุเรื้อรังเสี่ยงภาวะเติบโตช้า แคระแกรน”
---------------------------
ปัญหาฟันผุในเด็กไทยยังเป็นปัญหารื้อรังทางด้านสาธารสุขที่แก้ไม่ตกกันซะที ขณะที่ช่องปากเป็นประตูด่านแรกด้านสุขภาพอนามัยที่ดี หากฟันผุยังเป็นต้นตอในการกระจายเชื้อโรคออกทั่วร่างกาย ก็จะบั่นทอนจิตใจและสุขภาพของเด็กเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ร่างกายของเด็กเจริญเติบโตไม่เต็มที่ แฝงไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บมากมาย เป็นที่ทราบกันดีว่าเด็กที่มีปัญหาฟันผุรุนแรงจนเกิดอาการปวด อันจะส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการ พัฒนาการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านบุคลิกภาพในวัยปฐมวัยเป็นอย่างมาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน แผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขระยะที่สอง ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็กจากคณะทันตแพทยศาสตร์ 8 มหาวิทยาลัย กองทันตสาธารณสุข ชมรมทันตกรรมสำหรับเด็ก และเครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ จึงได้ดำเนินการประชุมเครือข่ายแปรงฟันให้ลูกรักตั้งแต่ฟันซี่แรก เพื่อส่งเสริมสุขภาพช่องปากผสมผสานทุกมิติอย่างเป็นระบบในกลุ่มเด็กปฐมวัยเพื่อลดปัญหาฟันผุในเด็ก
ทพญ. จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. เล่าว่า โรคฟันผุเป็นปัญหาหลักที่พบได้มากในเด็ก สภาพปัญหามีความชุกและความรุนแรงค่อนข้างมาก เด็กไทยเริ่มมีโรคฟันผุตั้งแต่อายุเพียง 1 ปี และจะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 12-18 เดือน ข้อมูลจากการสำรวจระดับประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยสำนักทันตสาธารณสุข พบว่าใน ปี 2552 ร้อยละ 60 ของเด็กไทยอายุ 3 ปี มีประสบการณ์การเป็นโรคฟันผุในฟันน้ำนม และร้อยละ 80 ของเด็กไทยอายุ 5 ปี ซึ่งใกล้เคียงกันในกรณีของฟันแท้ ซึ่งพบร้อยละ 57 เมื่อวัดที่อายุ 12 ปี ฉะนั้นเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานจึงต้องผูกปัญหาฟันผุในเด็กและห้ามกินหวานเข้าด้วยกัน เนื่องจากว่าเมื่อเด็กกินหวาน เกิดการบริโภคทั้งกลุ่มแป้งและน้ำตาลสูงขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิดฟันผุ ซึ่งอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยง 3 อันดับแรกที่ทำให้เกิดฟันผุ คือ ลูกอม น้ำตาล และน้ำอัดลม หรือน้ำหวาน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสูงมาก โดยปัญหาฟันผุในเด็กไทยอยู่ที่อับดับสูงมากเมื่อเทียบกับทั่วโลก ซึ่งประโยชน์ของฟันคือการบดเคี้ยวอาหาร ให้ได้สารอาหารที่บดละเอียด ย่อยง่าย ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตไปตามวัย ให้การพูดออกเสียงได้ชัด สร้างความงามของใบหน้า
ด้าน ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม คณะทำงานสำนักทันตสาธารณสุขและรองผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน พูดถึงปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ คือ น้ำตาล ซึ่งมีรูปแบบของน้ำตาลที่หลากหลาย ซึ่งน้ำตาลที่เป็นที่นิยมมากในกลุ่มเด็ก คือ ลูกอม ทอฟฟี่ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้เฝ้าระวังการบริโภคของคนไทยตลอดมานับตั้งแต่ ปี 2545 พบว่า อัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยเฉลี่ย 20 ช้อนชาต่อข้อมูลรูปแบบการกระจายตัวของน้ำตาลในประเทศไทยได้สะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลต่อการเกิดโรคฟันผุที่จะทำให้เพิ่มมากขึ้น โดยทั่วไปการบริโภคน้ำตาลจะเป็นไปใน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ ทางตรง และทางอ้อม ซึ่งสัดส่วนการบริโภคจะอยู่ที่ 6:4 ของน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม นมเวชภัณฑ์ และลูกอม โดยข้อมูลที่รายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล พบว่า ในปี 2552 อัตราการใช้น้ำตาลเพื่อผลิตลูกอมและลูกกวาด สูงมากขึ้นกว่า ปี 2551 ถึง 3 เท่า จาก 2.2 ล้านกิโลกรัม เป็น 6.1 ล้านกิโลกรัม ภาพเหล่านี้สะท้อนอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมลูกอมและลูกกวาดอย่างมาก
ส่วน นพ.สุริเดว ทริปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน บอกถึงผลกระทบเรื่องปัญหาฟันผุในเด็กที่ยังถือว่าอยู่ในอัตราสูงช่วงระหว่างเด็กที่เริ่มมีฟันจนถึงปฐมวัย ทำให้เด็กมีปัญหาทั้งทางร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเฉพาะช่องปากเท่านั้น ยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอีกมากเริ่มตั้งแต่บริเวณใกล้เคียง จะเกิดเป็นหนองที่เหงือกทำให้แก้มบวม ตาบวม ต่อมน้ำเหลือง บริเวณคอโต ต่อมทอมซินอักเสบ ผิวหนังอาจเป็นผื่นคันจากภูมิแพ้ หัวใจเรื่องสำคัญอาจทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบถึงขั้นหัวใจรั่วจากการติดเชื้อและยังลามไปอวัยวะอื่นอีก ผลจากอาการปวดฟันเคี้ยวอาหารไม่สะดวก ไม่ละเอียด ทำให้ขาดสารอาหาร เจ็บปวด นอนไม่หลับ สารพันโรคทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงความต้านทานต่อโรคอื่นๆ ลดน้อยลง ผลกระทบคือเด็กจะมีความสูงและน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน รวมทั้งศีรษะเล็กกว่าเด็กที่ไม่มีฟันผุปฐมวัย ซึ่งเด็กที่เคี้ยวอาหารไม่ได้ และพูดไม่ชัดทำให้ถูกล้อเลียนมีปัญหาทางด้านจิตใจ
ขณะที่ รศ.ทพญ.ชุติมา ไตรรัตน์วรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนแผนงานโรงพยาบาลสร้างสุข เล่าถึงการสำรวจทันตสุขภาพครั้งล่าสุดในประเทศไทยปี พ.ศ. 2550 พบว่าเด็กอายุ 3 ปี มีโรคฟันผุร้อยละ 61 และมีจำนวนฟันที่ผุถอน อุด 3.2 ซี่ต่อคนเมื่อสำรวจเด็กอายุ 5 ปี พบว่ามีความชุกของโรคฟันผุเพิ่มเป็นร้อยละ 80 และมีอัตราผุ ถอน อุด 5.43 ซี่ต่อคน อัตราดังกล่าวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะลดลงน้อยมาก แม้ว่าจะมีการทำงานป้องกันมากมายดูเหมือนว่าเราเพียงแต่ควบคุมไม่ให้อัตราผุในเด็กสูงขึ้นเท่านั้น สาเหตุของโรคฟันผุปฐมวัยเกิดจากการเลี้ยงนมและอาหารเหลวไม่เหมาะสม ร่วมกับไม่มีการทำความสะอาดฟัน พฤติกรรมการเลี้ยงนมและอาหารเหลวที่ไม่เหมาะสมได้แก่ การหลับคาขวดหรือนมแม่ หรือดูดนมถี่ๆ ในช่วงกลางคืนหลังจากมีฟันน้ำนมขึ้นมาในช่องปากแล้ว
คุณหมอยังเล่าให้ฟังถึงผลกระทบในแง่ของการรักษาว่า เด็กในวัยนี้แม้ผู้ปกครองจะแปรงฟันให้ก็ยังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ หากมีฟันผุ ก็จะยิ่งยากสำหรับทันตแพทย์ที่จะทำการรักษา จำเป็นที่จะต้องเป็นทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็ก ซึ่งไม่มีอยู่ทั่วไปในโรงพยาบาล หรือคลินิกชนบท เมื่อเด็กมีอาการปวด บวม ผู้ปกครองจำนวนมากต้องตามหาทันตแพทย์ที่จะรักษาให้ได้ เพราะมีอยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้น
“ฉะนั้นเมื่อมาพบทันตแพทย์ หลายกรณีต้องใช้วิธีดมยาสลบ หรือใช้ยาและก๊าซเพื่อคลายกังวล วิธีการเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก เกิน 10,000 บาท ส่งผลให้รัฐและพ่อแม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และตัวเด็กก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวยาวนานกว่าปกติ วิธีที่ดีที่สุดคือ เริ่มแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์และเช็ดฟองออกให้ลูกตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้น แม้ลูกอาจจะต่อต้านบ้าง แต่ถ้าพ่อแม่หมั่นทำซ้ำเป็นประจำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดฝันผุในเด็ก ช่วยประหยัดเงินและเวลา รวมทั้งไม่ต้องประสบกับความเครียด กังวลอันเป็นผลจากอาการปวด บวม และการรักษาจากทันตแพทย์” รศ.ทพญ.ชุติมา กล่าวทิ้งท้าย
ลูกของคุณก็จะมียิ้มสยามที่ประทับใจต่อคนทั่วโลก!!!!
////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น