วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

วัยโจ๋ร่วมปฏิวัติ น้ำมันทอดซ้ำ ‘แปรผัน’ ทำไบโอดีเซล

วัยโจ๋ร่วมปฏิวัติ น้ำมันทอดซ้ำ ‘แปรผัน’ ทำไบโอดีเซล
/////////////////////////////////////////////
โปรย : มหัศจรรย์ไบโอดีเซล พลังงานทดแทนที่ควรคิด นำไปสู่ทางออกของน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อคนไทยปลอดภัยและสามารถพึ่งตนเองได้
////////////////////////////////////////////////
เวลาพูดถึงเรื่องน้ำมันทอดซ้ำ หลายคนอาจมองแค่เรื่องความไม่สะอาดสะสมที่เกิดจากการใช้น้ำมันหลายรอบ จนอาจมองข้ามอันตรายเนื้อแท้สร้างให้เกิดสาร “โพล่าร์คอมเพาว์” ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง หรือสารกลุ่ม “โพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดร์คาร์บอน” ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ดังนั้นประเทศไทยจึงมีกฏหมายที่ระบุว่า น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารต้องมีสารโพล่าร์คอมเพาว์ ไม่เกิน 25% ขณะที่สารกลุ่มโพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดร์คาร์บอน ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัย
แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งดำเนินโครงการ “ปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ” จึงได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือในการตรวจสอบน้ำมันที่ทอดอาหาร ด้วยการวัดค่า “โพล่าร์คอมเพาว์” ในแบบฉบับที่เด็กและเยาวชนสามารถร่วมกันทำได้ ประหยัด และได้การวัดค่าตามมาตรฐาน ในงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวหน้านวัตกรรมก้าวไกลเครือข่ายยั่งยืน ในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยกลุ่มนักเรียนอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) และโรงเรียนในเครือจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่ง ซึ่งต้องใช้น้ำมันในการทำงานให้นักเรียน และครูอาจารย์ ทั้ง 3 มื้อ ได้ไอเดียในการ ‘ปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ’ ให้กลายเป็น ‘น้ำมันไบโอดีเซล’ จึงผุดขึ้น
โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ จึงนำน้ำมันทอดที่เสื่อมสภาพแล้ว มาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ใช้ในรถยนต์ รถตัดหญ้าของโรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่ไม่มีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ก็จะจัดการส่งต่อน้ำมันทอดที่เสื่อมสภาพไปยังเครือข่ายการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล มิให้ตกไปอยู่ในมือของผู้ที่จะนำน้ำมันเสื่อมสภาพ มาแปรรูปกลับมาใช้บริโภคอีก
นาย สัตยา บานบัว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัวแทนกลุ่มไบโอดีเซลโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทอุปกรณ์รักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน อธิบายถึงวิธีการแปรสภาพน้ำมันให้เป็นไบโอดีเซลว่า ขั้นแรกต้องนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมากรองด้วยผ้าขาวบาง ก่อนนำมาต้มให้ได้อุณภูมิ 120 องศา จากนั้นเทเมทานอล 2.5 ลิตรใส่แกลลอนเสร็จแล้วเทโปรแตสเซียมไฮดรอกไซด์ 100 กรัมใส่ลงไป ปิดฝาให้สนิทแล้วเทเขย่าเบาๆให้ละลาย จากนั้นก็เทสารละลายผสมลงในถังน้ำมัน แล้วกวน 30 นาที จากนั้นเทน้ำ 0.7 ลิตร ลงถังกวนเพื่อล้างไบโอดีเซล 30 วินาที แล้วปล่อยให้กลีเซอรีนตกตะกอน 8 ชั่วโมง ก่อนแยกน้ำมันออกจากกลีเซอรีน และล้างไบโอดีเซลด้วยน้ำ 0.75 ลิตร กวน 2-3 ครั้ง และนำไบโอดีเซลไปไล่ความชื้นที่ 120 องศาเซลเซียส จำนวน 2-3 ครั้ง จนได้ไบโอดีเซลที่บริสุทธิ์
“ผมทำโครงการมานานกว่า 4 ปีแล้ว ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ดีทั้งในครัวเรือน และเติมน้ำมันรถ คิดว่า นักเรียนได้ความรู้ แถมมีรายได้ เพราะจะนำน้ำมันที่ผลิตได้ไปขายให้กับเกษตรกร ที่สำคัญผลงานชุดอุปกรณ์ผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วเป็นใบเบิกทางในการสอบเอ็นทรานซ์ด้วย” สัตยา กล่าว
ภก.วรวิทย์ กิตติสุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 (อุบลราชธานี) หัวหน้าโครงการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ สสส. ผู้เดินหน้าผลักดันให้มีการรณรงค์เลิกใช้นำมันทอดซ้ำเล่าว่า ธรรมชาติของน้ำมันปรุงอาหาร เมื่อค่าโพล่าร์คอมเพาว์ ใกล้ 25% หากเติมน้ำมันใหม่ จะเร่งการเสื่อมสภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากผู้ปรุงอาหาร ทราบว่า น้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร มีค่าโพล่าร์คอมเพาว์ ใกล้ 25% ต้องต้องเปลี่ยนเป็นน้ำมันใหม่ทันทีเพื่อลดความเสี่ยงของผู้บริโภค ไม่ให้ต้องเจ็บป่วยโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้แล้วยังเป็นการช่วยลดภาวะท่อน้ำอุดตันได้ เนื่องจากหากเราเทน้ำมันลงในท่อระบายน้ำ เมื่อน้ำมันโดนน้ำจะเกิดไขก่อตัวเป็นก้อนอุดทางน้ำไหล
“มีการวิจัยยืนยันแล้วน้ำมันทอดซ้ำหลายๆครั้งสามารถก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ในเชื้อแบคทีเรีย ก่อให้เกิดเนื้องอกในตับ ปอด และก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวในหนูที่นำมาทดลอง ฉะนั้นเลี่ยงได้ก็ต้องเลี่ยงเพื่อสุขภาพและความปลอดภัย” ภก.วรวิทย์ กล่าว
สุพจน์ อรุณโน ครูชำนาญการโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.บุรีรัมย์ ผู้คิดค้นเครื่องกรองน้ำมันใช้แล้วเพื่อนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลซึ่งเป็นนวัตกรรมชิ้นหนึ่งที่ผลิตง่ายใช้สะดวกเพียงแค่ปั่นก็ได้ไบโอดีเซลมาใช้ พร้อมกับได้เล่าถึงแนวคิดว่า การผลิตเครื่องกรองน้ำมันที่ใช้แล้วนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องพลังงานทดแทนได้ และยังเป็นการแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนที่มีความจำเป็นในการใช้มันมาก อีกทั้งให้ความสะดวก ลดปัญหาน้ำมันเหลือใช้ และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันได้มาก เนื่องจากไบโอดีเซลที่ผลิตได้จากน้ำมันทอดซ้ำนี้ขายในราคาลิตรละ 12 บาทเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันซึ่งตอนนี้ลิตรละประมาณ 30 บาทก็ประหยัดได้เท่าตัว
นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายชุมชนย่านตาขาว จังหวัดตรัง เป็นชุมชนตัวอย่างที่มีความตื่นตัว ร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะระดับชุมชน โดยร่วมมือกับเทศบาลย่านตาขาว จัดให้มีระบบการตรวจสอบน้ำมันทอดเสื่อมสภาพในชุมชน และจัดระบบรับซื้อน้ำมันเสื่อมสภาพมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ทั้งนี้โดยความร่วมมือของผู้ประกอบการอาหาร ภายใต้ความเข้มแข็งของชุมชน ผลการดำเนินงาน คือ ผู้บริโภคปลอดภัย ไม่ต้องบริโภคอาหารที่ทอดด้วยน้ำมันเสื่อมสภาพ และประการสำคัญ คือ น้ำมันที่เสื่อมสภาพ ไม่ถูกนำไปกรอง ฟอกสี แต่ยังมีสารพิษตกค้าง ถูกนำกลับมาจำหน่ายให้คนมีรายได้น้อย หรือพ่อค้า แม่ค้า นำมาใช้ปรุงอาหารอีก หลายราย นำไปทาเส้นก๋วยเตี๋ยว เพื่อมิให้เส้นติดกัน หรือนำไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ที่เราบริโภค
//////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น