วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เดลิเวอรี่น้ำนมแม่เพื่อภูมิคุ้มกันลูกน้อยวัยแรกเกิด

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการเริ่มต้นในการการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกน้อยวัยแรกเกิด นอกจากจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดแล้ว ยังสามารถสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูกได้ดีที่สุดอีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุให้ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายมุมนมแม่จังหวัดต่างๆจัดโครงการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการขึ้น
อังสนา วงศ์ศิริ พยาบาลที่ทำงานด้านนมแม่มากว่า 7 ปี ที่ จังหวัดบุรีรัมย์ และยังได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานกว่า 6 เดือนอีกด้วย และลูกของเขายังได้เป็นใบเบิกทางเพื่อให้พูดได้เต็มปากว่า “นมแม่ดีที่สุด” เพราะเขาได้พิสูจน์มาแล้ว เมื่อลูกชายของเขาคว้า “รางวัลที่1 พัฒนาการดี...เริ่มที่นมแม่” ระดับจังหวัดมาให้ได้ชื่นใจตั้งแต่ยังไม่ทันจะขวบครึ่งแล้ว ซึ่งเขาก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้คุณแม่หลายคนฟังเพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่น เพราะหากใครสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้ 6 เดือนนั้น ถือว่านั่นคือความสำเร็จของทั้งแม่และลูก แต่หากใครทำไม่ได้เขาคิดว่าน่าจะเป็นเพราะผลกรรมที่เด็กสร้างมาเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ อังสนา ยังได้เล่าถึงเรื่องราวของ “โจ” พยาบาลรุ่นน้องที่รั้งตำแหน่ง “คุณแม่มือใหม่” ให้ฟังว่า ชั่วโมงแรกที่โจฟื้นขึ้นมาสิ่งแรกที่เขาทำนั่นคือนำลูกน้อยที่เพิ่งคลอดได้ไม่นานมาดูดนมบนอก และ อังสนา ก็บอกกับโจว่า “เลี้ยงนมแม่ให้ได้นะ พี่รู้ว่าโจทำได้” จากนั้นโจก็ได้นำลูกน้อยไปอยู่กับย่าที่จังหวัดอ่างทอง แล้วตัวเองกลับมาทำงาน อังสนา เลยเกิดความคิดว่า “เราต้องทำให้เธอเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้” งานโน้มน้าวจิตใจจึงเริ่มขึ้น เมื่อพูดคุยกับโจกว่าครึ่งชั่วโมงในทุกเรื่องที่คิดว่าสำคัญ และแนวทางที่จะร่วมกันดูแลในการรักษาสิทธิให้ลูกได้กินนมแม่ต่อไป “หนูบีบของหนูอยู่ มีหลายถุงไม่ได้นับ วันหลังหนูถึงจะบีบนม !” นี่เป็นคำพูดสรุปอย่างมั่นใจของโจ แต่ อังสนา กลับคิดว่า โจพูดเหมือนกับว่าขอคิดดูก่อน
ทว่าไม่รู้อะไรดลใจให้โจเปลี่ยนใจเข้าร่วมกลุ่ม จากนั้นทุกคนที่เป็นแม่ลูกอ่อนก็ผลัดกันพูดชักจูงใจให้เธอได้คิดถึงแต่สิ่งดีๆในนมแม่และการบีบนมแบบช่วยกัน ท่าทางของโจมีความตื่นเต้นระคนแปลกใจกับบรรยากาศต้อนรับ เพราะนี่เป็นครั้งแรกกับการบีบนมโดยมีผู้ช่วยบีบคนละข้างที่ได้ปริมาณถึง 6 ออนซ์ แต่แล้ววันหนึ่งทางบ้านของโจได้ส่งข่าวมาบอกว่านมที่บีบไว้งวดลงทุกที โชคดีที่บรรดาพยาบาลแม่ลูกอ่อนได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น ต่างพากันหยิบยื่นน้ำนมที่บีบไว้มอบให้โจ ซึ่งโจก็ตอบรับการช่วยเหลือเหล่านั้น เพราะคิดว่า “นมผงยี่ห้อไหนก็ไม่อยากให้ระคายกระเพาะลูกน้อย นอกจากนมแม่เท่านั้น”
การหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับโจครั้งนี้เป็นเพราะนมแม่สอนในเรื่องการให้โดยไม่มีเงื่อนไขและไม่มีผลตอบแทน เขาอาจหาญที่จะหยิบยื่น “นมตัวเอง” ให้กับโจโดยไม่ต้องการคำตอบ เพียงเพื่อ “อยากให้” จากนั้น 10 นาทีสุดท้าย กล่องนมอยู่ในสภาพพร้อมส่ง ซึ่งโจจะต้องนำกล่องที่บรรจุนม 74 ถุง ไปส่งขึ้นรถทัวร์ที่ บขส.บุรีรัมย์ เพื่อไปส่งที่ บขส.สระบุรี แล้วให้สามีขับรถจากค่ายทหารลพบุรีมารับที่ บขส.สระบุรี แล้วเอานมไปส่งให้ลูกที่ จ.อ่างทอง แต่บ้านของโจอยู่อำเภอโพธิ์ทองต้องต่อไปอีกประมาณ 29 กิโล รวมๆแล้วระยะทางทั้งหมดก็ 419 กิโล กว่านมจะไปถึงลูกก็ค่ำพอดี
เวลาผ่านไปไม่นานความมุมานะในการบีบเก็บน้ำนมของโจ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก กลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่เธอขาดไม่ได้ บางครั้งถึงกับอดหลับอดนอน เพื่อทำสต๊อกน้ำนมและส่งไปให้ทันกับความต้องการของลูก ไม่เพียงเท่านี้ โจ ยังทำหน้าที่ “ทูตนมแม่” โดยแนะนำชักชวนให้แม่มือใหม่หลายต่อหลายคน รวมถึงกลุ่มบุคลากรที่มาดูงานเห็นผลดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และรับรู้ถึงวิธี “บีบ..เก็บ..แพ็ค..ส่งน้ำนม” อย่างมีคุณภาพอีกด้วย ซึ่งโจสามารถให้นมแม่ได้อย่างเดียว 6 เดือน โดยการส่งผ่านรถประจำทาง ซึ่งการจัดส่งครั้งนี้ดูเหมือนว่าโจจะได้กำไรด้วยซ้ำเพราะการส่งนมนานกว่า 6 เดือนนั้น ลูกน้อยของเขาไม่เคยเจ็บป่วยเลยแม้แต่ครั้งเดียว แบบนี้คุ้มยิ่งกว่าคุ้มเป็นไหนๆ
ด้าน อภิญญา หน่ออุ่น คุณแม่ลูกอ่อนวัย 30 ปี ที่ทำงานเป็นพนักงานฝ่ายผลิตบริษัท แมรี่กอท จิวเวอร์รี่ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า หลังจากคลอดลูกก็ได้เลี้ยงลูกถึงแค่ 6 เดือน ก็กลับมาทำงาน ให้ลูกอยู่กับยายที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ใกล้กับลูกถึงขนาดร้องไห้เพราะคิดถึง พร้อมกับเกิดความกังวลว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้นมลูกได้ ทางบริษัทก็ได้ให้คำแนะนำว่าให้บีบนมแช่ช่องฟรีซจะอยู่ได้ถึง 3 เดือน ตรงนี้เลยทำให้เราหันมาบีบนมเพราะอาจทำให้เราคลายความคิดถึงลงได้ ซึ่งทางบริษัทก็ได้จัดมุมนมแม่ในห้องพยาบาลทุก 2 ชั่วโมง ก็จะมีคุณแม่ลูกอ่อนกว่า 10 คน มาบีบนมพร้อมกัน โดยบริษัทได้จัดถุงนม ตู้เย็นไว้ให้แช่ วันหนึ่งก็จะได้ประมาณ 20 ออนซ์ แต่ความจริงน้องจะทานอยู่ที่ 40 ออนซ์ต่อวัน แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กก็ 2 ชั่วโมงต่อครั้ง
“คุณภาพชีวิตของคุณแม่ที่ทำงานรู้สึกดี เพราะบริษัทให้โอกาสกับพนักงาน ให้เรามีความผูกพันกับลูกมากขึ้น ลูกกินนมแม่ ที่มีภูมิต้านทานมากกว่านมผง ลูกไม่เจ็บป่วย คุณแม่ก็ไม่ต้องหยุดงานบ่อย” อภิญญา กล่าว และได้เล่าถึงวิธีการจัดส่งไปให้ลูกที่จังหวัดพิษณุโลกนั้นว่าได้นำถุงนมใส่กล่องโฟมอบนำแข็ง แล้วใช้สก๊อตเทปปิดให้สนิท เพื่อส่งไปกับรถทัวร์กว่าจะไปถึงก็ประมาณ 4-5 ชั่วโมง และเวลาจะนำนมมาให้เด็กดูดนั้นก็จะนำมาละลายกับน้ำอุ่น ทำให้เกิดการประหยัดได้กว่า 2,000 บาทต่อเดือน ตรงนี้ก็อยากจะแนะนำให้คนอื่นลองไปทำดูจะได้เกิดความผูกพันกับลูกมาขึ้น แม้นานๆจะได้กลับบ้านลูกก็จะยังติดเรา ซึ่งแตกต่างจากคุณแม่คนอื่นๆที่ลูกจะไม่ให้เข้าใกล้
“ก็รู้สึกดีได้ผูกพันกับลูก อย่างน้อยก็ได้กลับบ้านหาลูกเดือนละครั้ง ได้เจอลูก เพราะเคยเห็นคนอื่นที่เขาเอาลูกกลับไปอยู่บ้าน พอกลับไปเยี่ยมลูกไม่ให้อุ้ม ไม่ให้เข้าใกล้ แต่กับเราที่เขาได้เห็นหน้าพอเรากลับไปบ้านลูกก็จะกระโดดวิ่งเข้าหา เรียกเราว่าแม่ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความผูกพันระดับหนึ่ง บางทีสามีหยุดงานก็จะกลับพร้อมกัน” อภิญญา กล่าวทิ้งท้าย
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจไม่ใช่ทางเลือกของคุณพ่อคุณแม่ทุกคน แต่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก และไม่เพียงทำให้ลูกได้อาหารที่มีคุณค่า แต่ยังช่วยพัฒนาจิต ขัดเกลาชีวิต และเรียนรู้ธรรม – สอนให้เข้าใจธรรมชาติ เราจะก้าวย่างไปสู่ความรักที่บริสุทธิ์ ไร้เงื่อนไขมากขึ้น และละเอียดอย่างไม่มีขีดจำกัด
นอกจากนี้ ในวันที่ 29 ก.ค. 2553 เวลา 13.00 น.- 16.00 น. ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศูนย์มุมนมแม่แห่งประเทศไทย จัด “แถลงความร่วมมือของภาคเอกชนในโครงการ CSR มุมนมแม่ในสถานประกอบการ” พร้อมเสวนา “คุณแม่ยุคใหม่ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคมไทย”
/////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น