วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

'ติดฉลากไปก็ไร้ผล'องค์กรผู้บริโภคหนุน'รัฐ'เลิกใช้'แร่ใยหิน'ในไทย

แร่ใยหิน"หรือแอสเบสตอส (asbestos)เป็นสารก่อมะเร็งที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งกระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรกและผ้าคลัตช์ ซึ่งอันตรายสำคัญที่เกิดจากแร่ใยหิน คือ การที่อนุภาคของแร่ใยหินสามารถฟุ้งกระจายเข้าสู่ปอดโดยการหายใจ ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับปอดเช่น โรคปอดอักเสบจากแอสเบสตอส หรือแอสเบสโตซิส และที่ร้ายแรงคือโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด
ด้วยสาเหตุอันตรายเหล่านี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้รวบรวมข้อมูลและสื่อสารความรู้ถึงอันตรายของแร่ใยหินแก่ประชาชน ให้ตื่นตัวเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินเพื่อป้องกันอันตรายอีกทั้งขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตคำนึงถึงอันตรายที่จะตามมา อย่าเพียงหวังผลประโยชน์ โดยองค์กรผู้บริโภคและนักวิชาการไม่เชื่อมาตรการติดฉลากคำเตือนได้ผลวอนรัฐบาลแบนวัสดุแร่ใยหิน ได้ผลดีที่สุด
สาเหตุที่หลายฝ่ายอยากให้มีการสั่งห้ามใช้วัสดุแร่ใยหินนั้น รศ.ภก.ดร.วิทยากุลสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)อธิบายว่า แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ที่ยังอนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย เมื่อกระจายเป็นอนุภาคเข้าสู่ปอด จะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงรักษาไม่หาย และมักใช้เวลายาวนานหลังจากสัมผัสกับอนุภาคแร่ใยหิน 20-30 ปีกว่าจะแสดงอาการ โดยในประเทศไทยมีการพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและโรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจำนวนมากถึงกว่าพันรายต่อปี หากจำนวนการใช้แร่ใยหินมีปริมาณมากดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรระหว่างประเทศต่างสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน โดยมี 50 ประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกไปแล้ว เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่นยุโรป ออสเตรเลีย เกาหลี โดยสหรัฐอเมริกา และแคนาดามีการจำกัดสินค้าและการใช้อย่างเข้มงวด
"การศึกษาในต่างประเทศชี้ชัดว่าแร่ใยหินเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับปอด เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกาพบตรงกันว่า การป่วยและการตายจากโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด โรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินและโรคมะเร็งปอด โรคเหล่านี้สัมพันธ์กับปริมาณการใช้แร่ใยหิน การยกเลิกการใช้จึงเป็นทางเดียวที่จะลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต"
สำหรับสินค้าหลักที่มีการใช้แร่ใยหินเช่น กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าผ้าเบรกและผ้าคลัตช์นั้น ปัจจุบันมีวัสดุที่สามารถใช้ทดแทนแร่ใยหินไหม่แล้ว แถมราคาก็ไม่แตกต่าง
ขณะที่มาตรการอื่น ๆ เช่น การให้การศึกษา การติดคำเตือนนั้น ไม่สามารถลดจำนวนการใช้แร่ใยหินได้ เนื่องจากคำอธิบายเข้าใจยาก ประกอบกับการเกิดโรคใช้เวลายาวนาน ส่งผลให้ผู้ใช้ไม่ระวังตัว ทำให้ยากที่จะป้องกันตนเองเวลาใช้สินค้า เช่นการตอก การเลื่อย การตัด การรื้อถอนอาคาร การอัดผ้าเบรก เป็นต้น
"ไม่เชื่อว่ามาตรการปิดฉลากคำเตือนที่จะบังคับใช้จะได้ผล เพราะแทบจะไม่มีใครอ่าน ทำให้ผู้บริโภคยังคงซื้อหาสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินมาใช้ตามปกติ ซึ่งเท่ากับเป็นการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการ ฉะนั้นภาคธุรกิจควรเห็นแก่สุขภาพของประชาชนมากกว่าเม็ดเงินจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐต้องคำนึงถึงสุขภาพประชาชน"
รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าวเสริมว่าการจะดำเนินการให้ยกเลิกโดยทันทีนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งดูแลกฎหมายวัตถุอันตราย ต้องจัดให้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ ซึ่งปัจจุบันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และยอมให้มีการใช้อยู่ เปลี่ยนไปเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิตการนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง
"ต้องยอมรับว่า แม้ยกเลิกวันนี้ก็จะยังมีผู้ป่วยไปอีกนับ 10 ปี เพราะประเทศไทยใช้แร่ใยหินมาหลายสิบปีแล้ว ที่ต้องให้ยกเลิกทันทีก็เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตในอนาคต"
รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าวเสริมอีกว่าอนาคตจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นไปได้จริงหากภาคประชาชนมีความเข้าใจชัดเจนในอันตรายของแร่ใยหิน และเชื่อว่าการให้ข้อมูลเรื่องอันตรายของแร่ใยหินกับประชาชนจะช่วยให้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น
ด้าน ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุลภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า เมื่อวัสดุที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินมีการใช้อยู่ ต้องมีการเฝ้าระวังว่าใครมีการสัมผัสกับวัสดุเหล่านี้บ้าง เพื่อที่จะได้ทำการรักษาและติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดแต่หากไม่มีระบบเฝ้าระวัง คนก็จะไม่ตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหิน เพราะสินค้าใดมีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบคนงานก็มีความเสี่ยง ส่วนคนที่มองว่าวัสดุทดแทนก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น หากเราคิดอีกในแง่หนึ่ง วัสดุที่มีแร่ใยหินจะทนทานและเหนียวแน่นจึงอยู่ได้นาน หลักการคือของที่ทนในสิ่งแวดล้อม ร่างกายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคได้ง่ายกว่า แต่วัสดุทดแทนมีระยะการใช้งานจะอยู่ได้ไม่นาน ฉะนั้นการสัมผัสก็น้อยกว่า แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องตัดตอน คือ ต้องทำให้มีการสั่งห้ามใช้แร่ใยหินให้ได้
"ผมคิดว่าการปิดฉลากคำเตือนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินน่าจะมีประโยชน์ไม่มาก เพราะวัสดุหรือสินค้าที่มีแร่ใยหิน อย่างกระเบื้อง ผ้าเบรก ผ้าคลัตช์ การติดฉลากจะช่วยได้แค่ระยะเริ่มต้น พอนานไปฉลากหลุดลอกคนก็ลืม ส่วนวัสดุทดแทนคนจะมองว่าแพงกว่า รัฐก็ควรมีมาตรการลดภาษีนำเข้าวัสดุทดแทนลงหรือไม่ก็ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินราคาสูงขึ้น จากนั้นก็มาให้ความรู้กับประชาชน ถึงอันตรายจากการสัมผัสโดยตรง ว่าแค่ยืนดูรื้อถอนตึกนั้นก็เป็นอันตรายได้"
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวังเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค กล่าวว่า ข้อมูลที่ชัดเจน คือแร่ใยหินเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเพราะมีงานวิจัยจำนวนมากยืนยัน ฉะนั้นในฐานะที่ทำงานเพื่อผู้บริโภคจะคิดแบบ 2 มาตรฐานไม่ได้ จึงอยากให้ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย เพราะหลายสิบประเทศยกเลิกการใช้แล้ว แม้แต่ประเทศที่เป็นผู้ผลิตส่งออกยังยกเลิกการใช้ในประเทศอย่างเด็ดขาดแล้ว ฉะนั้นในประเทศไทยจึงไม่ควรจะมีเพราะนี่เป็นเหตุผลที่สนับสนุนว่าไม่ควรใช้ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ยืนยันแล้วว่า แร่ใยหินเป็นอันตราย การที่ไทยยังใช้อยู่นั้นเป็นเพราะวัสดุทดแทนมีราคาที่แพงกว่าส่วนการรณรงค์การยกเลิกใช้นั้นเข้าใจว่าต้องใช้เวลา และต้องได้รับความร่วมมือทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ไม่ใช่จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
"การให้ยกเลิกใช้คือแนวทางป้องกันที่ดีที่สุดแล้ว ฝ่ายรัฐบาลควรมีมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับวัสดุทดแทนแร่ใยหินในประเทศไทยมีคนมองว่ายังมีคนได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินน้อย เพราะมีคนตายเพียงแค่คนเดียว แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่า แม้มีคนตายเพียงแค่คนเดียวก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะในบ้านเราไม่ได้มีการสืบสวนสอบสวนว่าผู้ที่ป่วยตายจากมะเร็งปอดนั้นมีสาเหตุจากอะไร ซึ่งล่าสุดตอนนี้มีข้อมูลใหม่ว่าประเทศอังกฤษพบผู้เสียชีวิตที่เป็นครูจากสาเหตุนี้เกือบ 80 คนส่วนมาตรการติดฉลากคำเตือนเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว และคงจะได้ผลน้อยเพราะเมื่อมีความชัดเจนเรื่องอันตรายของแร่ใยหินขนาดนี้แล้ว ควรมีมาตรการให้ยกเลิกนำเข้าและยกเลิกการใช้เลยจะได้ผลดีที่สุด"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น