วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มาตรฐาน ‘ISO 26000’: แผน CSR สากลมิติใหม่เน้น ‘ความยั่งยืน-ไร้ของเสีย-ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม’

ผลกำไรและรายได้ คือดัชนีชี้วัดความสำเร็จขององค์กรภาคธุรกิจ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางครั้งหลายองค์กรจะไม่คำนึงถึงประโยชน์และชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน ควบคู่กับการมองข้ามความต้องการของชุมชน และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง นี่จึงเป็นที่มาของกระบวนการในการจัดการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ที่เน้นแนวคิดในการสร้างความยั่งยืนขององค์กร ขณะเดียวกันก็ทำให้องค์กรสามารถเติบโต และมีผลกำไรได้
จนเป็นที่มาของ “แผนการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ” (CSR: Corporate Social Responsibility) ที่จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานเสวนา “ISO 26000: โอกาสทางธุรกิจหรืออุปสรรคในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของพนักงานและชุมชน” ภายใต้โครงการส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่สถานประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรในสถานประกอบการและชุมชนรอบข้าง ซึ่งมีอุตสาหกรรม SMEs เข้าร่วม 34 บริษัท
ชวาธิป จินดาวิจักษณ์ ผู้อำนวยการโครงการฯ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ได้กล่าวถึง ‘มาตรฐาน ISO 26000’ ตัวใหม่ที่จะเข้ามามีส่วนในการพัฒนาแผน CSR แทนที่ ‘มาตรฐาน ISO2600’ เพื่อเปิดประตูสู่การค้าในระดับสากลอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
“ผมใช้คำว่า ‘ความราบรื่นในการทำธุรกิจ’ เพราะคำนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและการบรรลุต่อวัตถุประสงค์ในเรื่องกำไรและรายได้สูงสุด
ชวาธิปเปิดการขายด้วยหลักการสร้างให้เกิดความสมดุลในการดำเนินการ 3 มิติ ซึ่งประกอบด้วย 1.ต้องเป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Innovation) ที่เน้นการทำงานตั้งแต่การดีไซต์รูปแบบองค์กรที่ช่วยลดพลังงาน เอื้อเฟื้อต่อสภาพแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนรอบข้าง 2.ต้องมีการผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable production) คือ มีแนวคิดต่อยอดการผลิตในด้านอื่นๆที่จะเกื้อหนุนให้เกิดการสูญเสียวัตถุดิบในการผลิตน้อยที่สุด (Zero Waste) และ 3.ต้องมองผู้มีผลประโยชน์ร่วม หรือ Stakeholder เสมือนเป็นองค์ประกอบในวงจรการทำงาน และปฏิบัติต่อพนักงานในระดับเท่าเทียมกัน
“หากบริษัทสามารถทำแผน CSR ให้สอดคล้องตามหลัก ISO 26000 ก็จะให้เกิดความสมดุลในคุณภาพชีวิตของพนักงาน (Work Life Balance)” เขากล่าว พร้อมกับย้ำว่าเพื่อหลีกเหลี่ยงคำถามที่อาจเกิดต่อเนื่องจาก ม.67 ซึ่งต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบทั้งในส่วนสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ก่อนจะมีการประชาพิจารณ์ของสังคมเพื่อให้เกิดการทำประชามติต่อไป แผน CSR จึงมีความสำคัญในการประกอบธุรกิจในระดับสากล โดยเฉพาะชุมชนรอบข้าง
“มาบตาพุดก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนว่า แม้โรงงานจะมีเงินลงทุน บางครั้งก็ไม่สามารถดำเนินการได้ หากชุมชนไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นบริษัทต้องมีแนวทางในสร้างให้เกิดความสมดุล เพราะธุรกิจต่างชาติ เขามักจะมองภาพในการลงทุนระยะยาว โดยเอาผลการดำเนินงานภายใต้ ISO 26000 เป็นตัวตัดสินด้วย” ชวาธิปกล่าว และว่า
สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญต่อการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ส่วนหนึ่งคือการนำข้อกำหนดของ ISO 26000 (ฉบับ Draft International Standard: DIS) ที่ประกอบด้วย 7 ประการมาปฏิบัติดังนี้ 1.การกำกับดูแลองค์กร 2.การเคารพต่อสิทธิมนุษย์ชนของทั้งบุคคลภายในและภายนอกองค์กร 3.การแสดงออกว่าเป็นองค์กรที่มีการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีและคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน การพิจารณาถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 4.การคำนึงถึงความอยู่รอดของผู้ส่งมอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน 5.การดูแลผู้บริโภค 6.คู่แข่งอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบ และ 7.การมุ่งมั่นที่จะมีการส่วนร่วม และการพัฒนาชุมชน ให้มีความยั่งยืนพร้อมๆ กับการเติบโตขององค์กร
“นิยามที่ สสส. ได้ให้ไว้คือ สุขภาวะทางกาย ทางใจ ทางสังคม ทางปัญญา นั่นคือเราต้องมองให้กว้างขึ้น ลงไปหาเหตุให้มากขึ้น อย่ามองเฉพาะหน้างานเท่านั้น ถ้าองค์กรสามารถสร้างกลยุทธ์ที่จะไปเติมเต็มความเป็นทรัพยากรบุคคลโดยเน้นที่สุขภาวะทั้งสี่ด้านดังที่กล่าวมาแล้ว ย่อมทำให้เกิดความเหนือที่เหนือกว่า และนำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืนต่อไป” ชวาธิปกล่าวทิ้งท้าย
ด้านเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า โครงการนี้แม้เราจะเน้นการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กร แต่จุดเด่นอยู่ที่เราดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่า เขาต้องการให้ชุมชนของเขาเป็นอย่างไรบ้าง ต้องการกิจกรรมแบบไหนที่จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ชุมชนในด้านต่างๆ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชนโดยรอบได้ แม้ว่าธุรกิจขนาดเล็กอาจมีข้อจำกัดในการสร้างองค์กร เมื่อมีการมอบรางวัลให้กับต้นแบบธุรกิจ SMEs ที่สามารถทำแผน CSR ได้ ก็น่าจะจุดประกายให้ธุรกิจเล็กสนใจทำเป็นแบบอย่าง เพื่อให้เกิดความสนใจเรื่องสุขภาพในองค์กรเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งหากภาคธุรกิจคำนึงถึงหลัก CSR เฉกเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ SMEs อาทิ บริษัท คาร์เปทเมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอี่ยมเฮง โมดิฟาย สตาร์ช จำกัด โรงงานบะหมี่ตราเพชร (ไท้สูง) เป็นต้น ที่มีความพร้อมในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีเจตนารมณ์ที่พัฒนาศักยภาพขององค์กร โดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมโครงการด้วย ทำให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดี มีรายได้จุนเจือครอบครัว พนักงานมีความสุขในการทำงาน มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนรอบข้าง เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันจนเกิดสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันระหว่างชุมชนกับพนักงาน
ทว่าหากไม่นำหลัก CSR มาปฏิบัติใช้ในธุรกิจก็จะเกิดการต่อต้านระหว่างชุมชนและภาคอุตสาหกรรมอย่างกรณีมาบตาพุดที่เป็นปัญหาใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะสถานประกอบการไม่คำนึงถึงสุขภาวะที่ดีของสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง หวังเพียงกำไรและผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น ชุมชนโดยรอบจึงกลายเป็นแหล่งรองรับมลพิษของโรงงานไปโดยปริยาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น