วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มหกรรมเด็กแนวบวก'ผิดพลาด'แต่ต้องไม่'ผิดซ้ำ'

ต้นไม้จะมีชีวิตเจริญงอกงามได้ต้องมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีสมบูรณ์ได้รับการปลูกในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ต่างจากเด็กและเยาวชน เมื่อพวกเขาได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมครอบครัวที่อบอุ่น และชุมชนที่เข้มแข็ง ปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเสมือนต้นทุนชีวิตให้พวกเขาเติบโตได้อย่างแข็งแรงมั่นคง
ในงานมหกรรม "เด็กแนวบวก"ตอนประชาธิปไตยในโลกใบจิ๋ว ของแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) ซึ่งเน้นการพัฒนากิจกรรมเพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนเด็กที่มีความเด่นด้อยในด้านต่างๆ ให้พวกเขาได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพ็ญพรรณจิตตะเสนีย์ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส.กล่าวว่า ตามรายงานสภาวะการต้นทุนชีวิตในเยาวชนทั่วไปในปี 2551-2552 ที่พบว่า เยาวชนไทยมีจุดเด่น ใน 3 ประเด็นที่เชื่อมโยงกับการเมืองที่แม้จะดูเป็นเรื่องไกลตัว คือ 1.ฉันกล้าคิด กล้าพูด แม้ว่าจะความคิดต่าง 2.ฉันให้ความเท่าเทียมแก่คนในสังคม และ 3.ฉันปรับตัวเข้าได้
กับคนคิดต่าง/วัฒนธรรมต่าง ขณะที่การกลัวที่จะปฏิเสธ หรือไม่พร้อมรับกับจุดยืนในการปฏิเสธเป็นจุดอ่อนของเยาวชนไทยรุ่นใหม่
นพ.สุริยเดว ทรีปาตีผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. กล่าวว่า ตัวชี้วัด
3 ตัวดังกล่าว เชื่อมโยงกับความไม่สงบของสถานการณ์บ้านเมือง จึงต้องการนำเสนอกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนต้องการให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและเยาวชนในมิติต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไปด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าสังคมไทยเกิดการอ่อนตัวลงเรื่อยๆ แม้เด็กจะคิดดี ใฝ่ดี หากต้องการให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี ต้องทำให้ชุมชนกลับมาแข็งแรง จึงเน้นงานด้านเด็กและเยาวชนให้เกิดขึ้นและดำรงต่อด้วยตัวชุมชนเอง โดยผลักดันให้เกิดการผนึกกำลังให้เกิดคณะทำงานเด็กและชุมชนขึ้นมา ให้เขาได้เรียนรู้ที่จะใช้ทรัพยากรของพวกเขาเอง
อย่างไรก็ดี ใช่ว่า "เด็กแนว+" ในวันนี้ จะไม่เคยทำผิดพลาด
"บ้านกาญจนาภิเษก" ก็เปรียบเสมือนอีกหนึ่งครอบครัว หรือชุมชนเล็กๆ ที่เปิดโอกาสให้กับวัยรุ่นที่ก้าวพลาด ภายใต้การบูรณาการตามแนวคิดทั้ง 4 ข้อ คือ 1.ขจัดร้ายขยายดี...เชิงกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นเป็นสำคัญ 2.สร้างคุณค่าใหม่ๆ แทนของเก่าที่ชำรุดผุพัง 3.ทักษะชีวิต : ซ่อมความคิด ปรับพฤติกรรมเพื่อเปลี่ยนชีวิต และ 4.มียุติธรรม...จึงมีสันติภาพ
การขับเคลื่อนสู่เป้าหมายตามที่หลายฝ่ายมุ่งหวัง อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด
ทิชา ณ นครผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ในส่วนเครื่องมือหรือกลไกที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ในการขับเคลื่อนแนวคิดสู่การปฏิบัติก็คือ การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของวัยรุ่นในระดับความคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมหาทางออกส่วนด้านทัศนคติที่ดีต่อวัยรุ่นที่ก้าวพลาดรวมถึงการยอมรับการเปลี่ยนแปลงบนความสูญเสียบางแง่มุมที่คุ้นชินของเจ้าหน้าที่ก็เป็นปัจจัยร่วมที่มีนัยสำคัญมากต่อบ้านกาญจนาภิเษก เช่นเดียวกับความร่วมมือของพ่อแม่
และเมื่อเด็กเหล่านั้นได้เข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษกนี้ พวกเขาก็ได้รับรู้ถึงความสามัคคี ความเข้าใจ ความเสียสละต่อเพื่อนสมาชิกในบ้านด้วยกัน รู้จักคิดในแง่บวกมากขึ้น
"ในวินาทีที่มีการตัดสินให้ผู้กระทำผิดรับโทษนั้นแม้ว่าจะเป็นวินาทีที่วิกฤต สิ้นหวังของผู้ที่ก้าวพลาด แต่ก็เป็นวินาทีเดียวกับที่เหยื่อรู้สึกว่า เขาได้รับความเป็นธรรม เพราะความเสียหาย ความสูญเสียของเหยื่อไม่สูญเปล่าและนั่นคือมิติหนึ่งของการเยียวยาเหยื่อที่จำเป็น" ทิชา อธิบายขั้นตอนในการเรียนรู้การก้าวพลาดของเด็กๆ และเสริมว่า
ในฐานะที่บ้านกาญจนาภิเษกมีหน้าที่รับผิดชอบวัยรุ่นที่ก้าวพลาด และถูกตัดสินให้รับโทษจึงต้องระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่ซ้ำเติมวัยรุ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่แตะต้องหรือละเว้น หากวัยรุ่นที่ก้าวพลาดคนใดทำผิดกติกาของบ้านก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการลงโทษ แต่บทลงโทษนั้นต้องผ่านการออกแบบทั้งในเชิงกระบวนการและเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและให้ความคิดไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นด้านหลัก แต่จะไม่เน้นการควบคุมพฤติกรรมด้วยอำนาจ
"เด็กบางคนที่เข้ามาอยู่บ้านกาญจนาฯ นั้นเขาพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินผงซักฟอกและแชมพูหลังจากถูกแม่ปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยเมื่อเดินออกจากศาล นี่ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่มีความเข้าใจความรู้สึกกันระหว่างครอบครัว จึงมีปัญหาตามมา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามี "สายใย พันผูก เลี้ยงลูกทางบวก" เป็นแนวคิดการเลี้ยงลูกด้วยวิธีทางบวก ปัญหาหลายอย่างที่มีระหว่าง"พ่อ แม่ ลูก" ก็จะไม่เกิดขึ้น" ทิชา กล่าว
นอกจากนี้ "ลูก" เป็นรางวัลชีวิตที่มีค่าสำหรับพ่อแม่ แต่การเป็นพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องง่ายทำให้บ่อยครั้งพ่อแม่รู้สึกว่าตนเองหมดหนทางในการดูแลลูก และเกิดความกดดันจนต้องใช้วิธีที่รุนแรงในการจัดการลูก
"การให้เวลากับลูก คุยกับลูก แสดงความรักความชื่นชม ความสนใจ และการสร้างกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยของลูกนั้น ก็จะทำให้ทั้งตัวเด็กและพ่อแม่มีความใกล้ชิดและเข้าใจกันมากขึ้น"
ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีความพิการ หรือเป็นคนปกติ พวกเขาก็ต้องการความเอาใจใส่ดูแลทั้งด้านจิตใจและร่างกาย จากคนใกล้ชิดและคนรอบข้างเช่นกัน เพราะหากขาดการยอมรับจากสังคม นั่นก็ถือเป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูสภาพจิตใจต่อการใช้ชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น