วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

“ผ่อหนังกั๋นเต๊อะ” โปรเจ็กค์หนังสั้นกระตุ้นเปลี่ยนทัศนคติคนปกติเห็นคุณค่าผู้พิการ

โปรย “ผู้พิการนั้นก็สามารถเป็นฝ่ายที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ และเมื่อผู้พิการนั้นได้ช่วยเหลือแล้วก็จะเกิดความภาคภูมิใจและได้เห็นคุณค่าของการที่ได้เป็นฝ่ายให้ผู้อื่นด้วย”

-------------------------

ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบันตลอดจนถึงอนาคต ปัญหาด้านความพิการและทัศนคติต่อคนพิการยังเป็นปัญหาที่สังคมต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังมองว่าคนพิการคือ บุคคลที่ด้อยสมรรถภาพ ทั้งที่มีผู้พิการไม่น้อยที่แสดงให้เห็นว่ามีความสามารถทัดเทียมบุคคลทั่วไป
การอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นจึงกลายเป็นภารกิจหลักของนโยบายรัฐบาล ซึ่งกลายมาเป็นที่มาของ “ผ่อหนังกั๋นเต๊อะ” โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการและประกวด “หนังสั้นเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้พิการ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และการปฏิบัติต่อคนพิการในสังคมอย่างเข้าใจ และเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส.กล่าวว่า ต่อไปทาง สสส.จะต้องเดินหน้าโครงการเหล่านี้มากขึ้นเพื่อที่จะเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปมองคนพิการว่าก็มีความสามารถ ทำให้คนเปิดโลกให้ผู้พิการอยู่ร่วมด้วย และคนพิการก็สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก ไม่ต้องนั่งอยู่แต่ในบ้าน ทางสสส.และสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ต้องการยกระดับและปรับเปลี่ยนมุมมองของคนปกติที่มองคนพิการให้ทัดเทียมกันมากขึ้น
“เราต้องบูรณาการและปรับปรุงพื้นที่ให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนๆกับคนทั่วไป โดยจะจัดหนังสั้นต่อไปอีก 4-5 ปีและต้องทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าผู้พิการก็เป็นคนธรรมดาเพียงแต่เขาขาดโอกาส ซึ่งทาง สสพ.ต้องกระตุ้นให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นพ่อ-แม่ สร้างโอกาสให้กำลังใจผู้พิการด้วย” ทพ.ศิริเกียรติกล่าว
รศ.นพ.อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การทำโครงการหนังสั้นจะเป็นการเปิดทัศนคติให้ทุกคนเปิดใจให้กว้างขึ้นเพื่อสร้างพลังและความพร้อมในการพัฒนาผู้พิการสามารถใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ถูกกีกกันจากเรื่องอาชีพและทัศนคติที่ปิดกั้นทางสังคม
“ผู้พิการก็มีความสามารถไม่แพ้กับคนปกติทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าผู้พิการมีความสามารถ หากสังคมเปิดแล้วสร้างโลกให้ผู้พิการ พวกเขาเหล่านี้ก็ใช้ชีวิตเหมือนคนธรรมดาทั่วไปได้ โครงการหนังสั้นจะเป็นแรงจูงให้ให้คนทั่วไปเปลี่ยนทัศนคติต่อคนพิกาย” รศ.นพ.อำนาจ กล่าว
น.ส.ชัญญาภัค สุขแสง ตัวแทนทีม Film Jazz ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ดีใจที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ ซึ่งการที่นำเรื่อง The Endless Melody มานำเสนอนี้เพื่อต้องการให้ทุกคนคิดว่าคนพิการก็มีความสามารถ และอยู่ร่วมกับคนปกติทั่วไปได้ เป็นการสะท้อนมุมมองให้คนเปลี่ยนความคิดใหม่ และสาเหตุที่คิดว่าเรื่องนี้จะเปลี่ยนมุมมองคนได้นั้นคือการลงพื้นที่เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นการส่งต่อไปยังกลุ่มคนที่ยังมองว่าคนพิการยังเป็นภาระของสังคมให้เปลี่ยนความคิดใหม่
คุณอารียา ศิริโสดา นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นไอเดียที่ดีมาก เป็นวิธีที่จูงใจให้คนปกติทั่วไปเปลี่ยนมุมมอง ให้ได้รู้จักโลกของผู้พิการมากขึ้น แม้หนังสั้นแต่ละเรื่องยังไม่สามารถสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่าผู้พิการมีความสามารถ ก็อยากให้โครงการนี้ ทั้ง สสส. และ สสพ.ทำให้คนสนใจคนพิการมากขึ้นว่าเขาก็มีความสามารถไม่แพ้คนปกติทั่วไป
“ยอมรับว่าโครงการนี้เป็นไอเดียที่บรรเจิด สามารถสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจในโลกของผู้พิการ แต่หนังสั้นควรจะนำเสนอให้ทั่วไปเข้าใจได้มากกว่านี้ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเป็นผู้เล่าเรื่องแต่ไม่มีการใส่อารมณ์ อยากให้สื่อไปเลยว่าคนพิการคนๆนี้มีความสามารถอะไรบ้าง ไม่ใช่จับโน่น นี่ นั่นมาผสมกัน” คุณอารียากล่าว
ด.ช.ครู สิงห์สุวรรณ อายุ 14 ปี ผู้พิการแขน-ขาลีบ ต้องนั่งวิวแชร์ จากโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ กล่าวว่า หนังแต่ละเรื่องสร้างดี เพราะทำให้คนที่คิดว่าคนพิการไม่มีอะไรดีเลย ได้เปลี่ยนความคิดใหม่ว่าคนพิการก็มีความสามารถเหมือนคนอื่นๆ บางทีดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะหนังสั้นที่ทำออกมาจะทำให้คนที่มีความคิดด้านลบเปลี่ยนเป็นด้านบวกบ้าง
“ผมหวังว่าหนังแต่เรื่องที่ทำออกมาจะทำให้ประชาชนเปลี่ยนมุมมองกับคนพิการใหม่ ว่าพวกเราก็มีความสามารถเหมือนกัน ผู้พิการนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายได้รับความช่วยเหลือเสมอไป หากมีเหตุการณ์บางอย่างมาจุดประกายความคิดลองเปลี่ยนจากฝ่ายรับเป็นฝ่ายให้ ผู้พิการนั้นก็สามารถเป็นฝ่ายที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ และเมื่อผู้พิการนั้นได้ช่วยเหลือแล้วก็จะเกิดความภาคภูมิใจและได้เห็นคุณค่าของการที่ได้เป็นฝ่ายให้ผู้อื่นด้วย” ด.ช.ครู กล่าว
ดังเช่นคำพูดที่ว่า
“บางครั้งความสุข อาจไม่จำเป็นต้องเห็นได้ด้วยตาแต่สัมผัสได้ด้วยใจ”
////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น