วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตะลึง “ศาลวัยทีน” ไมอามี ใช้ “ก๊วนวัยรุ่น” ร่วมพิพากษา หวังสะท้อนมิติ “เพื่อนผู้ทำผิด” อย่างเข้าใจ

เด็กและเยาวชน นับเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการหยิบยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมา มีการดำเนินการหลายด้านเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชน การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวมากขึ้น การจับตาดูปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยเสริมแก่เด็ก หรือการทำงานเกี่ยวกับต้นทุนชีวิต
อีกเรื่องหนึ่งนั้น คือ “การพัฒนาระบบปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จัดโครงการนำร่องใน 4 จังหวัด ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2552
ล่าสุด สสส.และกรมพินิจฯได้เดินทางไปศึกษาดูงาน “ระบบการทำงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์” ที่รัฐไมอามี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระบบการทำงานที่เข้าไปจัดการและช่วยเหลือครอบครัวที่ดูแลเด็กอย่างเหมาะสมไม่ได้ โดยผ่านการวิจัยอย่างถูกต้อง และมีกระบวนการจำแนกเด็กและเยาวชนว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เด็กกระทำผิด หรือทำผิดซ้ำ
ธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาชน เล่าถึงการเดินทางไปดูงานครั้งนี้ว่า ได้นำกระบวนการจัดการเด็กอย่างมีระบบของสถานพินิจฯในไมอามี มาปรับปรุงเป็นรูปแบบเพื่อใช้ดูแลเด็กและเยาวชนในเมืองไทยได้ 3 แบบ คือ 1.เครื่องมือประเมินเด็กว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยงให้ทำผิด ทำผิดซ้ำ 2.โปรแกรมบำบัด เพื่อติดตามและเตรียมเด็กก่อนที่จะปล่อยออกไป และ 3.เครื่องมือจำแนกเด็ก โดยศาลจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อที่จะจัดการจำแนกเด็กออกไปอยู่ ตามความผิด
ด้าน ทิชา ณ นคร กรรมการบริหารแผน สสส. และผู้อำนวยการศูนย์และอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า สิ่งที่ประทับใจในกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ ที่เมืองไมอามีมาก คือ ศาลเด็กวัยรุ่น ที่เรียกว่า Teens Court สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ คนที่ทำหน้าที่ใน Teens Court ทั้งหมดเป็นเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเสมียนศาล ลูกขุน อัยการ ตัวทนายของผู้ต้องหา ยกเว้นผู้พิพากษา ซึ่งการนำเยาวชนมาทำหน้าที่ตรงนี้ เนื่องจากเข้าใจและเป็นมิตรมากกว่า
“Teens Court ของไมอามีถือได้ว่าน่าจะเป็นบทเรียนให้แก่ศาลเยาวชนของไทยได้ ทุกคนที่ไปศึกษาดูงานรู้สึกทึ่ง และเกิดคำถามขึ้นมาว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้นในเมืองไทย ต้องการให้ Teens Court เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะมีความรู้สึกว่า win-win คือได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือเป็นผลดีทั้งต่อตัวเด็กและประเทศ เด็กเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน ส่วนประเทศจะไม่มีคดีเกี่ยวกับเด็กเพิ่มขึ้น”
“หากเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่น่าจะเป็นโอกาส อาจจะมีเด็กวัยรุ่นจำนวนหนึ่ง ซึ่งสนใจกระบวนการยุติธรรมเข้ามาร่วมกระบวนการ เพื่อก้าวไปสู่การสร้างคุณค่าและการตีความที่ถูกต้องให้แก่เพื่อนวัยรุ่นที่ร่วมชะตากรรม”
ขณะที่ ขัตติยา รัตนดิลก นักจิตวิทยา 5 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า Teens court เป็นกระบวนการหันเหคดี คือเป็นช่องทางอื่นสำหรับเด็กซึ่งทำผิดเล็กน้อย จะใช้วิธีการหันเหคดีออกนอกระบบ 3 แบบ คือ
1.นำผู้กระทำผิดเล็กน้อยออกจากกระบวนการยุติธรรมแทนการดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำความผิดต้องโทษจำคุกหรือกักขัง การถูกควบคุมตัวจะทำให้เด็กและเยาวชนตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดประสบการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้น
2.การนำตัวผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรม ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับการแก้ไขโดยมิต้องถูกประทับตราว่า เป็นผู้กระทำความผิดหรืออาชญากรและในที่สุดจะถูกสังคมประณาม
3.การนำตัวผู้กระทำความผิดออกจากระบบ จะทำให้เขาได้รับการแก้ไขปัญหาชีวิตและได้รับการบบริการทางสังคม โดยเฉพาะผู้กระทำผิดที่มีปัญหายาเสพติด เสพติดสุรา และไม่มีงานทำเป็นต้น
ส่วนการจะนำศาลวัยรุ่นหรือ Teens Court มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมไทยนั้น ขัตติยามองว่า ก่อนอื่นต้องมีกฎหมายรองรับกระบวนการหันเหคดี รวมทั้งเรื่องระบบลูกขุน
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนที่น่าสนใจ สำหรับ Teens Court ที่คณะจาก สสส.และกรมพินิจฯได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่เมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนำมาปรับเพื่อใช้สำหรับกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนในประเทศไทยได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น