วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สสส.ชวน ‘หักดิบความหวาน มาแอ๊บ…ไม่กินน้ำตาล 1 วัน’ ต้อนรับวันเบาหวานโลก

โปรย “ต้องนึกไว้เสมอว่า ใน 1 วัน ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา และต้องพยายามทานผักผลไม้ให้ได้วันละ 3-5 กำมือ”
------------------------
เพราะ ‘น้ำตาล’ ไม่ใช่ธนาคาร จะได้ฝากชีวิตไว้ในอ้อมกอด
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน จัดงาน “หักดิบความหวาน แอ๊บไม่กินน้ำตาล 1 วัน” เพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายของโรคเบาหวาน ต้อนรับวันเบาหวานโลกซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี โดยในงานมีการสาธิตตรวจวัดความหวานจากน้ำตาลที่พบในเครื่องดื่ม เจาะเลือดตรวจน้ำตาล และโชว์นิทรรศการความหวานในอาหาร น้ำอัดลม และขนมขบเคี้ยวที่เราบริโภคเข้าไปทุกวันอย่างไม่ระวัง
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มน้ำผลไม้ ที่มีปริมาณน้ำตาล 5-8 ช้อนชา/ขวด กลุ่มนมปรุงแต่งที่มีน้ำตาลประมาณ 3-5 ช้อนชา/กล่อง หรือกลุ่มขนมกรุบกรอบยอดฮิตก็มีน้ำตาลประมาณ 1 ช้อนชา/กล่อง/ซอง
“ฉะนั้นกต้องนึกไว้เสมอว่า ใน 1 วัน ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา และต้องพยายามทานผักผลไม้ให้ได้วันละ 3-5 กำมือ” ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา กรรมการบริหารแผนสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. แนะวิธีการง่ายๆ เพื่อลดภัย “โรคเบาหวาน” ที่ปัจจุบันคร่าชีวิตคนไทยร่วม 3.5 คน แถมช่วง 20 ปีให้หลัง เด็กเยาวชนกลับกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราเพิ่มขึ้นร่วม 10 เท่า เพราะวิถีการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการบริโภคที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
“โชคดีหน่อย ‘อาหาร’ บางชนิดระบุน้ำตาลที่ผสมเข้าไป แต่บางชนิดที่ทำขึ้นเองอย่าง ‘นมเย็น น้ำปั่น’ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าค่าน้ำตาลที่เราดื่มเข้าไปมีมากขนาดไหน อย่างกลุ่มเยลลี่มีน้ำตาลถึง 4-5 ช้อนชา ขนมขบเคี้ยวมี 1-2 ช้อนชา เพราะฉะนั้นต้องระวังการกินอยู่ เพราะนอกจากจะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานแล้ว ยังเกิดเป็นภาวะ “อ้วนลงพุง” ซึ่งเป็นเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โดยเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ซม.ก่อนจะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่าอีกด้วย” ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา กล่าว
ขณะที่ ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ อุปนายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. กล่าวว่า หากนำคนไทยประมาณ 10 คนที่เป็นโรคร้ายแรงมาตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดมีถึง 3-4 คนเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ราว 3 ล้านคนต่อปี ตั้งแต่ปี 2003-2005 ทั่วโลกมีคนเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 71% ซึ่งจำนวนนี้มีผู้ป่วยเด็กรวมอยู่ด้วย และคนที่เป็นไตวายที่อายุมากมีโรคเบาหวานรวมอยู่ด้วยเพราะคนอายุมากชอบความหวานเพราะจะทำให้รู้สึกมีแรงทำให้สดชื่นเมื่อได้กินของหวาน แต่หากน้ำตาลเป็นเหมือนธนาคารก็จะดี เราจะได้มีเงิน เพราะร่างกายมีการสะสมน้ำตาลมาก
ด้าน เมย์ แฟนพันธุ์แท้คนชอบกินหวาน เล่าว่า “เป็นคนกินหวานมาตั้งแต่เด็กๆ ชอบกินอาหารและผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น ชอบกินน้ำตาลปี๊บเป็นของกินเล่น กินก๋วยเตี๋ยวใส่น้ำตาล 4 ช้อน ฯ หลังอาหารระยะหลังรู้สึกว่าเมื่อเป็นสิวแล้วจะหายช้า ปัสสาวะบ่อย และสังเกตเห็นมดดำขึ้นปัสสาวะของตัวเอง หลังจากกินน้ำอ้อยไป 4 ขวดใหญ่ เลยไปถามจากเพื่อนที่มีญาติเป็นเบาหวาน ทำให้รู้ว่า ตนมีอาการคล้ายผู้ป่วยเบาหวานระยะเริ่มต้น จึงไปตรวจเลือด โชคดีที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตอนนี้พยายามลดการกินหวานลงโดยทดลอง ‘แอ๊บไม่กินน้ำตาล’ หนึ่งวันตามคำแนะนำของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทำให้รู้ว่าการที่ต้องเคร่งครัดกับการบริโภคน้ำตาลตลอดชีวิตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพอไม่ได้กินหวานแล้วจะรู้สึกหงุดหงิด และกินอะไรไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่า เป็นเบาหวานแล้วมันไม่สนุก เลยพยายามลดละ ‘ความหวาน’ ให้น้อยลง”
สำหรับวิธีการตรวจเช็คให้แน่ใจว่าเป็นเบาหวานหรือไม่นั้น มีเพียงวิธีเดียวคือ การเจาะหาน้ำตาลในเลือด โดยคนปกติอายุเริ่มเข้าเลขสี่ควรจะเลือดตรวจทุกปี หรือทุก 3 ปี โดยคนปกติจะมีค่าน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่า 80-100 มิลลิกรัม% หากสูงกว่านั้นแต่ไม่เกิน 100-180 มิลลิกรัม% ถือว่าเข้ากลุ่มเสี่ยง และหากสูงมากกว่านั้น ก็ขอต้อนรับเข้าสู่โรคเบาหวานแน่นอน
สำหรับคนปกติ แม้หลังทานอาหารในแต่ละมื้อระดับน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่จะลดลงเป็นปกติภายใน 2 ชั่วโมง ขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานจะลดระดับน้ำตาลได้ช้า และใช้เวลานานมากกว่า ส่วนข้อสังเกตเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยเป็นเบาหวาน โดยเฉพาะในเด็กนั้น จะปัสสาวะบ่อยและมาก กระหายน้ำ กินจุแต่ผอม และมีอาการอ่อนเพลียบ่อย ควรมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดบ่อยครั้ง เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติร่วมกับเด็กคนอื่นๆ
ทั้งนี้การตรวจเลือด เราสามารถตรวจหาได้หลายวิธี แต่วิธีที่แม่นยำที่สุดคือ การวัดระดับกลูโคสในพลาสม่าหลังการอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าสะดวกและแม่นยำ หากระดับน้ำตาลในเลือด สูงกว่า 126 มิลลิกรัม% (7.0 mmol/L) สองครั้ง ก็แสดงว่า “คุณเป็นสมาชิกใหม่ในสมาคมผู้ป่วยโรคเบาหวาน” แล้ว
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ลองหักดิบความหวาน แอ๊บ…ไม่กินน้ำตาล 1 วัน กันก่อนจะดีกว่าไหม ? เพื่อจะได้ปิดประตูตาย ห่างไกลโรคเบาหวาน
//////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น