วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หนุน พ.ร.บ.การออม สร้างหลักมั่นคงสู่วัยชรา

--------------------------
โปรย : ระบุ ร่างพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ช่วยคนนอกระบบร่วม 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ สร้างชีวิตมั่นคงด้วยการออม เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปอายุ 20-60 ปีที่ไม่อยู่ในระบบราชการจ่ายเงินสมทบกองทุน 100-1,000 บาทต่อเดือน โดยจะมีการจ่ายเป็นรายเดือนหลังอายุ 60 ปี ตั้งเป้าลบภาพวัยชราถูกทอดทิ้ง
-------------------------
หลังจากที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้รับหลักการในร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ...โดยมีมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 338 ต่อ 0 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 36 คน กำหนดการแปรญัตติ 7 วัน โดยวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมาย เพื่อสร้างระบบการออม ให้กับผู้ที่อยู่นอกระบบบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันทางรายได้เหมือนกลุ่มข้าราชการ หรือลูกจ้างเอกชนที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมที่มีจำนวนอยู่ประมาณ 23.5 ล้านคน (ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรไทย 67.3 ล้านคน) โดยกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรัฐ ในลักษณะนิติบุคคล ทำหน้าที่ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และให้ดอกผลกับผู้ออมเมื่อครบกำหนด มุ่งเน้นให้ประชาชนมีหลักประกันทางสังคมเมื่อชราภาพ และมีรายได้ในการดำรงชีพในวัยชรา ขณะเดียวกันถือเป็นการสร้างวินัยการออมระดับครัวเรือน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เครือข่ายบำนาญประชาชน จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับการสร้างระบบบำนาญพื้นฐานที่เป็นจริง” เพื่อช่วยสร้างหลักประกันทางการเงินในยามชรา ด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ โดยหลักการเงินบำนาญประชาชนนั้น สามารถฝากเงินผ่านกองทุนโดยที่ประชาชนเป็นผู้ออมและรัฐบาลเป็นผู้สมทบ เมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้เงินบำนาญ การจัดเงินสมทบ จัดแบ่งเป็น อายุต่ำกว่า 20 ปี รัฐไม่จ่ายสมทบ อายุ 20-30 ปี รัฐสมทบ 50 บาท/เดือน อายุ 30-50 ปี รัฐสมทบ 80 บาท/เดือน และ อายุ 50-60 ปี รัฐสมทบ 100 บาท/เดือน เมื่อสมทบจนอายุครบ 60 ปี รัฐจะจ่ายคืนเป็นบำนาญไปจนกระทั่งเสียชีวิต โดยกฎหมายฉบับนี้เปรียบได้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. บอกถึงเป้าหมายของร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ว่า เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน เริ่มหันมาดูแลตัวเอง และสนใจกับอนาคตเมื่อเข้าวัยชรามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมที่มีประชากรวัยชรา (ประมาณ 7.3 ล้านคน) เหมือนสังคมของประเทศสิงคโปร์ การมีกองทุนการการออมระหว่างที่ประชาชนยังมีกำลังทำงานถือเป็นเรื่องดี ทำให้เกิดเงินออมระยะยาวสำหรับตัวเอง โดยมีรัฐบาลสมทบเข้ามา เพื่อใช้เป็นบำนาญเมื่อพ้นวัยทำงาน เหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับอนาคตตัวเอง ด้วยตัวเอง เรียกว่า เป็นหลักประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุมีชีวิตในอนาคตที่มั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่ง สสส.ได้ทำงานเรื่องนี้มา 2-3 ปี โดยการรวบรวมความรู้และนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาเป็นตัวอย่าง แล้วนำมาทำเป็นงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและให้ภาคประชาชนมาช่วยออกแบบจนนำมาเป็นร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ซึ่งหลักๆมีการสมทบจากคนที่มีแรงทำงาน มีองค์กรบริหารอิสระ โดยมีภาคีด้านแรงงานเป็นคนขับเคลื่อน
ส่วน สถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เล่าถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้ คือ ให้จัดตั้งกองทุนให้ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ซึ่งไม่อยู่ในระบบราชการ หรือได้รับบำเหน็จบำนาญ และสวัสดิการในระบบที่มีอยู่แล้ว เปิดให้ประชาชนผู้เข้าร่วมจ่ายเงินสมทบแบบการออม 100-1,000 บาท/เดือน แล้วรัฐจะจ่ายสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง โดยหลังจากที่อายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินเป็นรายเดือน ซึ่งจะช่วยให้คนที่อยู่นอกระบบ และไม่ได้ทำประกันสังคมได้รับบำนาญเมื่อเข้าสู่วัยชรา มีประสิทธิภาพที่ดีหลังวัยเกษียณอายุ โดยจะแยกออกมาคนละส่วนกับระบบการประกันสังคม และปัจจุบันคนในระบบที่ทำประกันสังคมมีเพียง 13% หากคนนอกระบบเข้ามาในระบบได้ถึงครึ่งหนึ่งของส่วนที่อยู่นอกระบบจะเป็นการรองรับให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา มีเงินออมเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันให้กับชีวิต
ด้าน เอนก จิรจิตอาทร เครือข่ายบำนาญประชาชน เล่าถึงความต่างของร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ของภาคประชาชนกับของกระทรวงการคลัง ว่า ร่างของรัฐบาลจะให้มีการถอนออกมาแล้วได้เงินหลังเกษียณอายุ เป็นเงินบำเหน็จ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการคือไม่ให้มีการถอน จะให้รับเป็นเงินบำนาญเพราะต้องการให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันที่มั่นคง เพราะที่ผ่านมาจะเห็นภาพคนชราถูกปล่อยทิ้งลูกหลานไม่เหลียวแลทำให้เกิดภาพขอรับเงินบริจาคช่วยเหลือ แต่หากร่าง พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นเชื่อว่าจะไม่มีภาพอย่างนี้เกิดขึ้นแน่นอน ตรงกันข้ามลูกหลานจะกลับมาให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติเปิดกว้างให้ทั้งคนในระบบและนอกระบบสามารถทำได้ยกเว้นข้าราชการ หากคนที่ทำประกันสังคมมีกำลังพอที่จะจ่ายทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปได้ การที่เปิดกว้างให้เข้าถึงสิทธิตรงนี้เพื่อต้องการให้ครอบคลุมเพราะต้องการให้ประชาชนมีหลักประกันที่มั่นคงหลังเกษียณอายุ
ขณะที่ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวว่า ระบบบำนาญควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมหากรัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ควรให้ประชาชนทุกคนเข้าเป็นสมาชิกร่วมออมได้ โดยไม่แยกส่วน โดยควรครอบคลุมไปถึงกลุ่มลูกจ้างเอกชนในระบบประกันสังคม (ปกส.) ด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ก็มีการเปลี่ยนงานจากในระบบ เป็นนอกระบบ หรือกลับไปกลับมา ก็จะทำให้บำนาญที่ได้จากระบบที่สังกัดอยู่น้อยลง
ไชโย!! ใครๆ ก็มีบำนาญได้แล้ว ใครอยากมีความมั่นคงให้กับชีวิตในตอนแก่ หันมาใส่ใจ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติหน่อยละกัน....
//////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น