วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มาตรการปิดรั้ว…ฉิก ฉิก: ชวน ‘โรงเรียน’ หนีภัย ‘อ้วน’ ห้ามขายขนมหวานให้วัยโจ๋

โปรย : ประเทศเวียดนามมีการออกกฎหมายห้ามนำผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้ามาขายในโรงเรียน ประเทศบรูไนห้ามขายน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบในโรงเรียน
-------------------
ทุกวันนี้คนไทยบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็นของร่างกาย ตามสถิติพบว่า คนไทยกินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 16 ช้อนชา ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการกินหวานของคนทั่วโลกเฉลี่ยวันละ 11 ช้อนชา ทั้งๆที่ปริมาณน้ำตาลระดับพอดีต่อร่างกายเฉลี่ยวันละ 6 ช้อนชา เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการบริโภคน้ำตาลของคนไทยกับค่าเฉลี่ยคนทั่วโลกจะเห็นว่า คนไทยเป็นนักกินหวานที่สุดระดับหนึ่ง ซึ่งเด็กไทยจำนวนมากในปัจจุบันได้รับน้ำตาลจากการกินขนม นมหวาน นมเปรี้ยว และน้ำอัดลมมากเกินควร ส่งผลให้เด็กไทยเป็นโรคอ้วนมากขึ้นทุกวัน ซึ่งจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ฟันผุ หากไม่รีบดำเนินการแก้ไขรับรองอนาคตของชาติประสบปัญหาทางสุขภาพอย่างแน่นอน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน จัดประชุมโครงการ “รวมพลคนอ่อนหวานบูรณาการและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเด็กไทยสุขภาพดี” โดยมีการให้ความรู้ในการควบคุมการส่งเสริมการขายในสถานศึกษา (Food Marketing in School) เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในเรื่องการจำหน่ายขนมและเครื่องดื่มในโรงเรียนเพื่อสุขภาพ มีการประเมินวิธีการที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับโรงเรียน เพื่อนำข้อเสนอแนะเข้าสู่การทำแผนฯ ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 หลังพบโรงเรียนยังมีการเปิดพื้นที่ให้มีการนำขนม น้ำอัดลมเข้าไปขายในโรงเรียน
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. กล่าวว่า ผลการสำรวจเรื่องการตลาดอาหารในโรงเรียน พ.ศ. 2552 พบว่าเด็กคือเป้าหมายใหม่ทางการตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม และโรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและสังคมของเด็ก ที่จะถ่ายทอดอุดมการณ์ มีการกล่อมเกลาทางสังคม เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กที่อยู่ในโรงเรียน ด้วยการสร้างแรงดึงดูดในการขายสินค้า ซึ่งนำไปสู่การตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย ด้วยการอาศัยช่องว่างเมื่ออาหารมีไม่เพียงพอ เนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ จึงทำให้เกิดรูปแบบทางการตลาดในโรงเรียนขึ้น 4 ด้าน คือ 1.การขายผลิตภัณฑ์โดยตรง เช่น สิทธิในการเติม 2.การโฆษณาผลิตภัณฑ์โดยตรง เช่น ป้ายโฆษณาและโลโก้ตามที่ต่างๆ แจกตัวอย่างสินค้า สิ่งพิมพ์ของโรงเรียน สื่อในโรงเรียน 3.การโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางอ้อม การให้นักเรียนใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทผ่านกิจกรรมในโรงเรียน 4.การทำวิจัยผลิตภัณฑ์ สำรวจทางการตลาดและให้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ ฉะนั้นจึงอยากเชิญชวนครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง รณรงค์ห้ามให้ขายขนมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลกับเด็กเพื่อสุขภาพที่ดี
ด้าน ชาติชาย มุกสง นักวิชาการอิสระ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า มาตรการต่างประเทศเรื่องการตลาดอาหารสำหรับเด็กในโรงเรียน 1.การประกาศใช้มาตรการและกฎเกณฑ์ทั่วไปสำหรับทั้งสังคม กฎหมายบังคับ การขอความร่วมมือ 2.การส่งเสริมให้รู้เท่าทันสื่อ 3.การจัดการสิ่งแวดล้อมด้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพขึ้นในโรงเรียน โรงอาหาร ร้านค้า ตู้ขายต้องเป็นอาหารสุขภาพ 4.การสร้างสุขลักษณะนิสัยให้เกิดขึ้นในโรงเรียน การกิน การออกกำลังกาย 5.สร้างกลไกการจัดการอาหารในโรงเรียนแบบใหม่ จากไร่สู่โรงเรียน ซึ่งการออกมาตรการเหล่านี้ในต่างประเทศพบว่าประเทศเวียดนามมีการออกกฎหมายห้ามนำผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้ามาขายในโรงเรียน ประเทศบรูไนห้ามขายน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบในโรงเรียน ฉะนั้นประเทศไทยต้องมีหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบชัดเจนในภารกิจ ซึ่งน่าจะเป็นเครือข่าย มีการกำหนดนโยบายต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองและความต้องการของสังคม สอดคล้องกับศักยภาพและความพร้อมของแต่ละโรงเรียน สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการการจัดการอาหารในโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องรอทำพร้อมกัน
ขณะที่ กุลพร สุขุมาลตระกูล นักวิชาการโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า จากผลการศึกษาเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มในโรงเรียน โดยการคัดเลือกโรงเรียนแบบเฉพาะเจาะจง ที่เป็นโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่มีเครื่องดื่มหลากหลายชนิดจำหน่าย จำนวน 32 แห่ง สำรวจร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มภายในโรงเรียนทุกร้าน นำตัวอย่างเครื่องดื่มยอดนิยมของนักเรียนอย่างน้อยจำนวนโรงเรียนละ 4 ตัวอย่างรวม 128 ตัวอย่าง นำผู้ปรุงหรือผู้ผสมเครื่องดื่มจำหน่ายภายในโรงเรียน ทุกคน พบว่ามีการการใช้น้ำตาลผสมในเครื่องดื่มจำหน่ายจากผลวิเคราะห์ทั้ง 2 วิธี (การเจือจางมีหน่วยเป็นองศา(º)บริกซ์และห้องปฏิบัติการ) น้ำหวานเข็มข้นใส่น้ำแข็ง มีค่าเฉลี่ยสูงเป็น 2 เท่าของข้อแนะนำ หรือประมาณ 5 ช้อนชา ส่วนน้ำปั่น มีค่าเฉลี่ยประมาณ 10 ºบริกซ์หรือ 2.5 ช้อนชา ตามเกณฑ์กำหนดคือน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 10
กุลพร ได้บอกเล่าถึงการศึกษาสถานการณ์การจำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียนพื้นที่นำร่อง 19 จังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการเด็กไทยไม่กินหวาน จากข้อมูลกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ร้อยละ 20 ของโรงเรียนประถมศึกษาจำหน่ายน้ำอัดลมและเด็กดื่มน้ำอัดลมเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง และสูงสุด 3 ครั้ง ปริมาณเฉลี่ย 200 มิลลิลิตร หรือเกือบ 1 กระป๋องทำให้ได้รับน้ำตาลเฉลี่ย 7.4 ช้อนชาต่อครั้ง เกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ วันละ 6 ช้อนชาโดยน้ำอัดลมชนิดน้ำดำ (เป๊ปซี่/โค้ก) เป็นน้ำอัดลมที่เด็กชอบดื่มมากที่สุดถึงร้อยละ 72 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ อาทิ ฟันผุ ภาวะโภชนาการเกิน นำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆเมื่ออายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามเด็กเป็นอนาคตของชาติหากมีปัญหาด้านสุขภาพแล้วย่อมส่งผลต่อพลังในความคิด อ่าน หรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ
ปิดรั้วโรงเรียนห้ามนำขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ขายให้เด็ก ตามมาตรการต่างประเทศ หลังพบไทยกินหวานมากที่สุด!!!
////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น