วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เมืองหลวงอีสาน ชูแนวคิด “ดับทุกข์-สร้างสุขด้วยสีเขียว” พลิกชีวิตหนุ่มอังกฤษอยู่แบบพอเพียง

--------------------
โปรย : ขอนแก่นตั้งเป้า ปี 2560 ปลูกครบ 9,999,999 ต้น ดึงชีวิตต่างชาติไฮโซที่ผกผันเป็นชาวสวนเป็นโมเดล นำร่องอาหารปลอดภัย สร้างแบรนด์ซำสูง 'Sum-Sung' แดนอีสาน คุณภาพไม่แพ้แบรนด์ดังต่างชาติ
---------------------
โลกของเราทุกวันนี้นับวันแต่จะร้อนมากขึ้น เนื่องจากมนุษย์ได้ทำลายธรรมชาติด้วยการตัดไม้ทำลายป่าแลกเปลี่ยนเป็นเงิน โดยไม่คิดที่จะปลูกต้นไม้ทดแทน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือหายนะจากภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ผลที่ตามมาจึงทำให้หน้าดินถูกชะล้างลงไปตามแม่น้ำลำคลองบางแห่งเกิดดินถล่ม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล บางแห่งเกิดภัยแล้งซ้ำซาก ทำให้สัตว์และพืชที่มีอยู่ในธรรมชาติตายหมด เป็นผลให้ผู้คนตั้งแต่เด็ก สตรี และคนชราขาดอาหาร
คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงเยี่ยมพื้นที่ปฏิบัติการรวมพลังพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้เป็นจังหวัดที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยโรงพยาบาลอุบลรัตน์ เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน จ.ขอนแก่น ได้ร่วมกันสร้างยุทธศาสตร์บูรณาการระดับจังหวัด ด้วยการระดมภาคีทุกภาคส่วนในจ.ขอนแก่นมาปลูกต้นไม้ยืนต้นที่หลากหลาย 9,999,999 ต้น ภายในปี 2560 ไปพร้อมๆกับการพัฒนาและการวิจัยของศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตเข้ากับผู้บริโภคในทุกระดับตั้งแต่ชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ ภายใต้การริเริ่มของอำเภอซ้ำสูง ซึ่งกลายเป็นอำเภอต้นแบบอาหารปลอดภัยในที่สุด ภายใต้รูปแบบการจัดสรรให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการทำกินและปลูกผักปลอดสารพิษอย่างเท่าเทียม โดยดำเนินการในที่สาธารณประโยชน์ 8 แห่ง คือ ดอนหนองแวง โคกหนองทุ่ม บริเวณรอบหนองโน บริเวณบ้านสว่าง บริเวณรอบหนองคำ บ้านโสกขาแก้ว บริเวณรอบหนองคลอง และบริเวณรอบหนองช้างตาย ครอบคลุมพื้นที่ 229 ไร่ 1 งาน มีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 686 ราย
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า สสส.เป็นหน่วยงานที่ให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพ ฉะนั้นการให้ความสนับสนุนเรื่องการกินดีอยู่ดี บริโภคผักปลอดสารพิษ ดูแลสุขภาพไม่เอาสารพิษเข้าสู่ร่างกาย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นเรื่องน่าส่งเสริมสนับสนุน ยิ่งในขณะที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย แต่ประชาชนในขอนแก่นกลับสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ด้วยการปรับตัวสวนกระแสทุนนิยม ไม่รอเพียงการทำธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ต้องเน้นการเกษตรกรรมควบคู่กันไปด้วย ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และช่วยให้บ้านเมืองอยู่รอดได้อย่างเต็มภาคภูมิ
นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกรู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ กล่าวว่า ด้วยพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงได้พระราชทานพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแก่คนไทยทุกหมู่เหล่านำไปปฏิบัติให้สามารถพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้อย่างสมดุล ด้วยการรู้จักความเพียงพอ รู้จักออม ด้วยการออมน้ำ ออมดิน ออมสัตว์ และออมต้นไม้ยืนต้นที่หลากหลาย ออมเงิน สั่งสมกัลยาณมิตร สั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาและทำคุณงามความดี ซึ่งเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานได้นำแนวทางพระราชดำริในเรื่องนี้มาปฏิบัติอย่างจริงจัง
“ชาวบ้านบอกว่า ชีวิตเปลี่ยนไปมาก มีอยู่มีกิน เหลือกินให้แจกเพื่อน เหลือแจกได้ขายทำให้มีเงิน กลายเป็นคนที่มีอยู่มีกิน มีเพื่อน มีเงินมีสุข ภาวะดีทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคมและทางสติปัญญา สนับสนุนให้ชาวบ้านมีสัมมาอาชีพมีรายได้ ไม่หวังพึ่งการพนัน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาสร้างมูลค่า เช่น พืชผัก การปลูกป่า แลกเปลี่ยนความคิด ทำให้เกษตรกรกลับมาคิดใหม่ แล้วเราก็เป็นตลาดใหญ่ที่จะซื้อผักปลอดสารเคมีได้” นพ.อภิสิทธิ์ กล่าว
ด้าน มาร์ติน วีเลอร์ ชาวอังกฤษที่มาได้ภรรยาที่ จ.ขอนแก่น ปัจจุบันอายุ 49 ปี ชีวิตผกผันจากหนุ่มไฮโซมาเป็นชาวไร่ชาวสวนที่ขอนแก่น ได้เล่าถึงชีวิตที่อยู่ประเทศอังกฤษว่าเขาอยู่ในครอบครัวชนชั้นสูง แต่เป็นเด็กเกเรและติดยาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ เรียนจบก็ได้ออกเดินทางเที่ยวจนกระทั่งมาได้ภรรยาคนไทย มีลูกด้วยกัน 2 คน จากที่เป็นคนสูบบุหรี่จัด กินเหล้า เที่ยวเก่งก็ได้เลิกทุกอย่างเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกชายทั้ง 2 และหันมาสนใจในการปลูกต้นไม้ ทำนา ทำสวน เพราะคิดว่านี่คือบำเหน็จให้กับลูก
“ผมมองว่าการทำนาเปรียบเสมือนเป็นการออกกำลังกายทำให้สุขภาพดีกว่าการวิ่งในระยะไกลๆ ตอนนี้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ซึ่งคนไทยโชคดีที่เกิดในประเทศไทยมีหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริไว้ให้ ควรหันมาใส่ใจในการทำการเกษตรไม่ต้องวิ่งตามกระแสคนต่างชาติ เพราะความจริงแล้วคนต่างชาติไม่ได้รวยอย่างที่คิดกว่าจะมีบ้านเป็นของตัวเองก็ต้องเป็นหนี้ก้อนโต ไม่เหมือนคนไทยถึงจะจนแต่ก็มีบ้านเป็นของตัวเอง ควรภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองมี” มาร์ติน กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย ผู้จัดการแผนงานผักปลอดภัยจากสารพิษ จ.ขอนแก่น โดยการสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า แผนงานผักปลอดสารพิษได้สัมผัสกับความงดงามและความมั่งคั่งของวัฒนธรรม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่แฝงตัวอย่างกลมกลืนภายใต้ความเรียบง่ายและการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมกับการปรับตัวตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างกลมกลืน ชาวซำสูงมีความยินดีที่จะต้อนรับมิตรจากถิ่นอื่นได้มาเยี่ยมชม สักการระพระพุทธรูป วิถีทำการเกษตรอย่างปลอดภัย หัตถกรรมพื้นบ้าน ต้นยางนาใหญ่ๆ ที่อยู่กระจัดกระจายทั่วๆไป เมืองไม่ใหญ่โต แต่มีสิ่งดีๆให้ชมได้ทั้งความสุขและความรู้
ด้านไกรสร กองฉลาด นายอำเภอซำสูง กล่าวว่า โครงการคนซำสูงไม่ทอดทิ้งกัน เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ โดยในปี 2551 อำเภอซำสูงร่วมกับแผนงานผักปลอดสารพิษ สสส. จัดทำยุทธศาสตร์อาหารปลอดภัยขึ้น โดยมีเป้าประสงค์เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยจากการใช้สารเคมีลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือเป็นหลักประกันให้ชาวบ้านมีศักยภาพในการเข้าถึงอาหาร ลดรายจ่าย รับประทานในครอบครัว แบ่งปัน จำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว โดยมีการสร้างแบรนด์ขึ้น เพราะแบรนด์ของสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ สามารถสร้างอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้บริโภค กำหนดจุดยืนของสินค้าและบริการได้ ผักจากซำสูงออกสู่ตลาดต้องมีจุดเด่น ทางอำเภอได้จัดสรรงบประมาณขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการออกแบบตราสินค้า ผลิตภัณฑ์อำเภอซำสูงขึ้นพร้อมจัดทำบูธและรถเข็นผักจำหน่ายผักปลอดสาร เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรจำหน่ายตามจุดสำคัญด้วยกันคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลาดบางลำพู ตลาดเทศบาลซำสูง และเขตอำเภอซำสูง ตำบลละ 1 จุด
บ้านเมืองจะร่มรื่นไม่มีภัยธรรมชาติ สุขภาพดีเยี่ยมควรยึดแบบอย่างชาวขอนแก่น !!!!
////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น