วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สร้างจิตสำนึกคนไทยรู้พิษสงอาหารมัน-หวาน อย่าตามเทรนด์เลี้ยงลูกแบบเทิดทูน แก้ปัญหาอ้วนลงพุง

----------------------
โปรย : มาตรการพิชิตอ้วน พิชิตพุง 1.ปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร 2.เคลื่อนไหวออกแรงและออกกำลังกาย 3.ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก
-----------------------
“ความอ้วน” นอกจากทำให้สวยน้อยลงแล้ว ยังเป็นสาเหตุของสารพัดโรค ยิ่งอ้วนก็ยิ่งมีโรคได้หลายอย่างมากขึ้น ที่ผ่านมาเรารู้จักแต่คำว่า ดัชนีมวลกายซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าอ้วน แต่ในระยะหลังพบว่าความเสี่ยงต่อโรคมีมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีลักษณะอ้วนลงพุง คือ จะมีสะโพกเล็ก ไหล่กว้าง และลงพุง ซึ่งเป็นลักษณะอ้วนที่อันตรายที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าคนอ้วนสองคน ที่มีน้ำหนักตัวมากเท่ากัน คนอ้วนที่ลงพุงมากจะเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งรุนแรงถึงขั้นทำให้เป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้มากกว่าคนอ้วนชนิดไม่ลงพุงเป็นเท่าทวี และยังจะต้องแบกรับความทุกข์อื่นอีก เช่น ข้อกระดูกเสื่อม การหายใจไม่อิ่ม ทำให้ง่วงซึม หายใจไม่เต็มปอด มากกว่าคนอ้วนที่สะโพกใหญ่ “อ้วนลงพุง”เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในบริเวณช่องท้องมากกว่าปกติ ในขณะเดียวกันก็สะสมในอวัยวะที่สำคัญ และอันตรายได้ง่ายด้วย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดเสวนา Focus Group ข้อเสนอเชิงนโยบาย: การแก้ปัญหาโรคอ้วน / อ้วนลงพุงในบริบทประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการแก้ปัญหาอ้วนลงพุงในประเทศไทย ในชุดโครงการจัดการความรู้และสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเครือข่ายคนไทยไร้พุง เพื่อช่วยลดและแก้ปัญหาโรคอ้วนลงพุง ที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ทั้ง โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ที่ควรเสนอกฎหมายสื่อที่เสริมสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ผู้คุมนโยบายทุกระดับควรมีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน เพราะอ้วนลงพุงกำลังเป็นเพชฌฆาตเงียบคร่าชีวิตคนทั่วโลกเสียชีวิตวันละหลายคน และนำไปสู่ความเจ็บป่วยและอัมพาต อัมพฤกษ์ อีกมากมาย
โดยสิ่งที่ผู้เข้าร่วมสนทนาต้องการเห็นและเกิดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโรคอ้วน คือ สื่อต้องลงในกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน เข้าใจง่ายและจริงใจ หลักสูตรการเรียนต้องเป็นการใช้องค์ความรู้กับสถานการณ์จริง มีการปรับเปลี่ยนที่มีระบบการประเมินและวิเคราะห์เป็นระยะ ส่งเสริมกิจกรรมในเด็กที่สอดคล้องกับวัย ผู้นำทางความคิด ทั้งนักการเมือง สื่อทุกรูปแบบเข้าถึงพฤติกรรมของคนแต่ละกลุ่ม มีการรณรงค์และให้ความรู้กับประชาชนทุกพื้นที่ ลดการโฆษณาอาหารขบเคี้ยวเพื่อดูแลสุขภาพ ให้ความรู้เบื้องต้น กลุ่มเป้าหมายเด็กต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เกิดชมรมทุกภาคส่วนในการดูแลเด็ก พัฒนาศักยภาพให้องค์ความรู้หรือฝึกทักษะและแนวทาง การดำเนินงานต้องสอดคล้องกับบริบท หลักสูตรการเรียนต้องเอาสถานการณ์จริงสอดแทรกเข้าไปด้วย เข้มงวดเรื่องการจัดอาหารกลางวัน เช่น เด็กก่อนวัยเรียนลดนมขวด เด็กปฐมวัยต้องมีการจัดอาหารที่เหมาะสมกับวัย ออกกฎหมายควบคุมปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม ฉลากควรทำให้อ่านง่าย ต้องบังคับติดฉลากกฏหมายควบคุมน้ำตาลกำกับเครื่องดื่มและอาหาร ส่งเสริมกิจกรรมของเด็กที่สอดคล้องทำได้จริง โดยการใช้เครื่องมือทุกวิถีทาง ร้านอาหารทำป้ายปริมาณ และควรใช้คำพูดการสื่อสารคำเดียวกัน
ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่มีข่าวออกมามากมายว่าคนไทยประสบปัญหาภาวะโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นมหันตภัยเงียบที่เราคาดไม่ถึง และปฏิบัติการที่จะสามารถฝ่าวิกฤต พิชิตอ้วน พิชิตพุง คือ 1.ปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร 2.เคลื่อนไหวออกแรงและออกกำลังกาย3.ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก
ด้าน พนอ อี้รักษา นักวิชาการศึกษา ชำนาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บอกว่า ตามที่ได้จัดการเรื่องการบริโภคในโรงเรียนจะพบว่าการบริโภคของเด็กจะตามใจปาก เพราะครอบครัวดูแลเด็กแบบเทิดทูนคือการซื้ออาหารกักตุนไว้ให้เด็ก เช่น ไส้กรอก ขนมเค้ก ขนมหวาน หรือพวกอาหารขยะ ทำให้เด็กไม่ค่อยกินข้าวตามที่ทางโรงเรียนจัดไว้ให้ เพราะเคยชินกับอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ผู้ปกครองเตรียมไว้ให้หลังเลิกเรียน ขณะที่บางโรงเรียนยังมีร้านค้าและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กหาสิ่งมาบริโภค เด็กก็จะเลือกแต่อาหารที่ตนเองเคยชิน ทำให้เสี่ยงต่อการบริโภคอาหารที่มันและหวาน ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานและโรคกระดูก ฉะนั้นควรสร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน ชุมชนและโรงเรียน มีการจัดสื่อและเผยแพร่ข้อมูลให้ถึงผู้บริโภค เพราะปัจจุบันประชาชนยังไม่ทราบถึงผลเสียโรคอ้วน ความตระหนักจึงยังไม่เกิด จึงไม่เชื่อว่าโรคอ้วนจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นได้ เพราะหากประชาชนไม่ทราบถึงผลเสียที่เกิดขึ้นปัญหาโรคอ้วนก็จะตามมา
ขณะที่ ฐิติรัตน์ พูนศิริชัยกิจ ผู้ดำเนินรายการ Healthy Time สถานีวิทยุ FM 99 อสมท.ระบุถึง ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโรคอ้วนคือต้องเริ่มจากตัวเองและครอบครัวในการจัดการเรื่องการบริโภคอาหาร เพื่อนำไปสู่โรงเรียน เพราะเด็กต้องเริ่มเรียนรู้จากครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสอนและเตรียมอาหารที่เหมาะต่อสุขภาพ อย่าตามใจเด็กและอย่ากลัวว่าเด็กจะหิว เพราะหากพ่อแม่ผู้ปกครองพยายามหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้และเด็กกินอิ่มก็จะไม่เกิดการหิวอาหารขยะ ซึ่งผู้ปกครองบางคนรู้แต่รู้ผิด และนักวิชาการอย่าเอาเรื่องของการตลาดเข้าไปจับ
ส่วน นพ.กฤช ลี่ทองอิน ผู้จัดการกองทุนพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและกองทุนพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทย บอกว่าควรมีการออกนโยบายอย่างชัดเจนในการแก้ปัญหาโรคอ้วน เพราะสามารถเปลี่ยนแนวคิดของประชาชนได้และช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงจุดเชื่อว่าแนวโน้มการอ้วนลดลง และหากผู้นำท้องถิ่นเข้าใจเรื่องนี้ก็สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย พร้อมเปรียบเทียบให้เห็นถึงการแก้ปัญหาโรคอ้วนของต่างประเทศที่มีการให้ความรู้และข้อมูลกับประชาชน แต่บ้านเราไม่ค่อยมีสื่อที่ให้ข้อมูลกับประชาชนจึงเกิดเรื่องของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หากเราสามารถจัดการได้ก็จะเกิดประสิทธิภาพ เช่นเรื่องการออกกำลังกาย และสิ่งแวดล้อมทางสังคม สื่อวิทยุโทรทัศน์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรมีการโฆษณาให้รู้ถึงพิษของอาหารหวาน ประโยชน์ของการออกกำลังกาย และสถานพยาบาลยังขาดทักษะในการพูดคุยกับผู้ป่วย เช่นให้ไปปรับเรื่องการกินอาหาร เรื่องการออกกำลังกาย แต่ไม่บอกลึกถึงรายละเอียด
แม้โรคอ้วนเป็นเรื่องของพฤติกรรมและบุคคล แต่เราสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยความตระหนักถึง 3 อ. คือ อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย...
//////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น